Knowledge

สิ่งที่ครู และผู้ปกครองต้องคำนึง เมื่อปรับการสอนมาเป็นออนไลน์

สิ่งที่ครู และผู้ปกครองต้องคำนึง เมื่อปรับการสอนมาเป็นออนไลน์

 4 years ago 21686

ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ


         เรามักเข้าใจกันว่า เมื่อไรก็ตามที่ครูปรับการสอนมาเป็นออนไลน์ งานหนักน่าจะตกอยู่กับครูเสียส่วนใหญ่ เพราะต้องปรับรูปแบบการสอนใหม่ทั้งหมด อีกทั้งยังต้องเรียนรู้การใช้โปรแกรมและอุปกรณ์ที่อาจจะยังไม่คุ้นเคย ในแต่ความเป็นจริงแล้ว นักเรียนจะเรียนรู้ได้ดีแค่ไหนบนห้องเรียนออนไลน์ ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย สำคัญที่สุดคือ ครูและผู้ปกครอง ต้องช่วยเหลือพวกเขาให้มากขึ้นกว่าการเรียนในห้องเรียนจริง

          สำหรับครูเองต้องปรับบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ มากกว่าจะเป็นผู้นำในกระบวนการเรียนรู้ เหล่านี้คือข้อควรคำนึงสำหรับครู เมื่อปรับการสอนมาเป็นออนไลน์

1. อย่าทำให้นักเรียนเสียเวลา
การสอนออนไลน์ไม่ได้หมายความว่า ครูต้องสอนสดเสมอไป แต่ครูสามารถปรับได้ตามความเหมาะสม เช่น ให้นักเรียนอ่าน Slide หรือฟังคลิปเสียงที่ครูเตรียมไว้ให้ โดยให้พวกเขาจัดสรรเวลาในการเรียนเอง แล้วครูค่อยจัดเวลาสำหรับสอนสดทั้งชั้น เพื่อพูดคุย ระดมสมอง แลกเปลี่ยนไอเดียกัน

2. ลดความคาดหวังจากการสอนหนังสือแบบเดิม
ครูไม่ควรคาดหวังว่านักเรียนจะเข้าเรียนผ่าน Zoom ได้ครบทั้งชั้นเรียน เนื่องจากนักเรียนแต่ละคนอาจมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ที่บ้านมีอุปกรณ์ไม่เพียงพอสำหรับทุกคน ทำให้ต้องแบ่งกันใช้ หรือบางคนก็อาจไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ที่บ้าน

3. นักเรียนคือเจ้าของการเรียนรู้
การเรียนออนไลน์ที่นักเรียนใช้เวลากับการเรียนรู้เนื้อหาผ่านสื่อที่ครูเตรียมไว้ให้ ทำให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นไปได้ยากมากในห้องเรียนจริง ครูที่รู้จักนักเรียนดี จะเข้าใจว่านักเรียนแต่ละคนมีรูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน หากครูเลือกส่งเนื้อหาบทเรียนในรูปแบบที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของพวกเขา เช่น เกม แบบทดสอบ วิดีโอ แล้วให้นักเรียนใช้เวลาเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยไม่มีข้อจำกัดเหมือนในห้องเรียนอย่างเรื่องเวลา จะทำให้เขาเป็นเจ้าของการเรียนรู้อย่างแท้จริง

4. ให้ทิศทางที่ชัดเจนกับผู้ปกครอง
เมื่อนักเรียนสามารถจัดสรรเวลาเองได้ว่า จะเรียนรู้จากบทเรียนที่ครูส่งมาให้เมื่อไรก็ได้ ผู้ปกครองจำเป็นต้องเข้ามาช่วยดูแลเด็กๆ ที่อาจจะยังควบคุม หรือจัดสรรเวลาให้ตัวเองได้ไม่ดีนัก หรือช่วยดูแลขณะทำแบบฝึกหัดต่างๆ เช่น คัดลายมือ เขียนตัวเลข

5. สอนสดแบบไม่ต้องเป็นทางการเหมือนในห้องเรียนจริง
ครูกำหนดเวลาทำงานและเวลาพักให้ชัดเจน ให้นักเรียนรู้ว่าช่วงเวลาไหนที่พวกเขาสามารถโทรมาพูดคุย หรือส่งข้อความมาได้ หากต้องการความช่วยเหลือ การสอนสดในแต่ละวันจะทำนักเรียนยังคงได้เจอเพื่อนๆ และครูเหมือนปกติ ช่วยสร้างบรรยากาศเหมือนว่าพวกเขาได้ไปโรงเรียนได้ตามปกติ

6. แต่ละวิชาต่างก็เหมาะกับรูปแบบการสอนที่ไม่เหมือนกัน
วิชาภาษาอังกฤษอาจเหมาะกับการเรียนออนไลน์มากที่สุด เพราะนักเรียนต้องเขียนหรือคิดเองอยู่แล้ว ในขณะที่วิชาคณิตศาสตร์จะเหมาะกับการสอนสดมากกว่า เพราะนักเรียนสามารถตั้งคำถามและแก้โจทย์ไปพร้อมๆ กันได้

7. ปรับการสอนตามความต้องการของนักเรียน
นักเรียนบางคนอาจไม่เหมาะกับการสอนสด ครูควรรู้จักนักเรียนของตัวเองให้มากที่สุดว่า ใครเหมาะกับการสอนแบบไหน แล้วมีอะไรที่ครูต้องช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ได้ดีที่สุด

8. ครูไม่ควรอารมณ์เสีย
ครูอาจหงุดหงิดได้ง่าย หากนักเรียนไม่ตั้งใจเรียนขณะที่ครูกำลังสอน แต่ครูต้องอดทนให้มากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ตึงเครียด และเต็มไปด้วยความวิตกกังวลเช่นตอนนี้

          สำหรับผู้ปกครองเองก็จะต้องรับภาระหนักเช่นเดียวกัน ในการช่วยเหลือเด็กๆ ให้เรียนรู้ออนไลน์จากที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการทำงานเดิมที่มีอยู่แล้ว

1. เริ่มต้นอย่างช้าๆ
สังเกตว่าลูกสนใจเรื่องอะไร แล้วเข้ามามีส่วนร่วมกับการเรียนออนไลน์ของลูก เช่น ช่วยหาสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ มอบหมายงานเขียน การอ่านหนังสือ

2. กำหนดตารางเวลา
เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งเมื่อการเรียนออนไลน์ทำให้นักเรียนเป็นผู้กำหนดการเรียนรู้ของตัวเองได้ ผู้ปกครองควรช่วยกำหนดตารางกิจวัตรประจำวัน เช่น ตื่นนอนเวลาเดียวกับตอนไปโรงเรียน แต่ยังคงมีความยืดหยุ่นได้ เช่น ถ้าลูกไม่อยากทำการบ้านคณิตศาสตร์ตามช่วงเวลาที่กำหนด ก็อาจเปลี่ยนมาทำงานศิลปะ ที่มีความท้าทายทางวิชาการน้อยกว่า แต่เน้นการปฏิบัติแทน

3. จัดสรรพื้นที่ในการทำงาน
ช่วยจัดสรรพื้นที่ในการอ่านหนังสือหรือเรียนออนไลน์ในบ้าน ควรเป็นพื้นที่ที่ลูกจะไม่ถูกรบกวนจากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในบ้าน

4. ทำตัวให้สดใสและมองโลกในแง่บวก
ลูกสามารถรับรู้อารมณ์ต่างๆ ได้ดี ถ้าผู้ปกครองอารมณ์ไม่ดี พวกเขาก็จะสัมผัสได้ ดังนั้นผู้ปกครองควรเปิดใจ อดทนให้มาก ถ้าผู้ปกครองควบคุมตัวเองได้ดี ดูใจเย็นและรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ ลูกก็จะควบคุมตัวเองได้ดีเช่นเดียวกัน

5. สื่อสารกับคุณครู
การพูดคุยกันให้มากถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ผู้ปกครองสามารถถามคำถามกับครูได้ เพราะครูเองก็พร้อมที่จะให้คำตอบเช่นกัน

6. วางแผนสำหรับการพักสมอง
การใช้เวลาอยู่หน้าจอหรืออยู่กับหนังสือนานเกินไป โดยไม่ผ่อนคลายร่างกายเลยไม่ใช่เรื่องดี ผู้ปกครองควรปล่อยให้เด็กๆ มีเวลาออกกำลังกาย หรือจัดสรรเวลาให้พวกเขาได้ออกห่างจากบทเรียนในแต่ละวันด้วย

7. ปรึกษาพูดคุยกับกลุ่มผู้ปกครอง
สร้างกลุ่มระหว่างผู้ปกครองด้วยกันผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อแบ่งปันเทคนิคและเรียนรู้ร่วมกันถึงสถานการณ์ปัจจุบันและสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ปกครองที่กำลังรู้สึกเหมือนหลงทาง ยิ่งควรมองหาคนที่พร้อมจะพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อหาทางออกจากสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่

อ้างอิง
Lieberman, M. (2020, March 31). Virtual Education Dilemma: Scheduled Classroom Instruction vs. Anytime Learning. Retrieved April 9, 2020, from http://blogs.edweek.org/edweek/DigitalEducation/2020/03/synchronous_or_asynchronous_e-.html

Rauf, D. (2020, March 30). E-Learning Overload: 8 Tips Educators Can Give Frustrated, Anxious Parents. Retrieved April 9, 2020, from http://blogs.edweek.org/edweek/DigitalEducation/2020/03/e-learning_overload_8_tips_tea.html


TAG: #สอนออนไลน์ #โควิด19 #COVID19 #การจัดการชั้นเรียน #โรคระบาดใหญ่ #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 #ทักษะศตวรรษที่21