Knowledge
สื่อออนไลน์วายร้ายของโรคซึมเศร้า
3 years ago 3019เรียบเรียงโดย จิราพร เณรธรณี
ผลสำรวจจากกรมสุขภาพจิตชี้ให้เห็นว่าคนไทยมีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น และยังมีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้าอีกด้วย จากสถิติคาดว่าประชากรที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) บีบบังคับให้ผู้คนต้องทำงานที่บ้าน รวมทั้งการเรียนการสอนที่เป็นรูปแบบออนไลน์ ทำให้ในหนึ่งวันผู้คนใช้เวลาอยู่กับสื่อออนไลน์มากกว่าปกติ โดยสถิติจากจากรายงานของ We are Social พบว่าคนไทยใช้เวลากับอินเทอร์เน็ต สูงเป็น “อันดับห้า” ของโลก
สาเหตุที่ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นอาจมาจากกรรมพันธุ์ สารเคมีในสมองที่หลั่งผิดปกติ รวมทั้งลักษณะนิสัยหรือประสบการณ์ด้านลบที่เคยประสบมา นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งวายร้ายที่เราอาจคาดไม่ถึงว่าจะเป็นสาเหตุของการเป็นโรคซึมเศร้าในปัจจุบัน นั่นก็คือสื่อออนไลน์ การเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็มีทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเป็นโรคนี้อยู่
สำหรับคนที่ไม่รู้ หรือไม่แน่ใจว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ มีข้อสังเกตอาการเบื้องต้น ดังนี้
1. มีกิจกรรมทางสังคมน้อยลง สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมการเข้าสังคม เช่น การทำกิจกรรมส่วนรวม การมีกลุ่มเพื่อน รวมทั้งการลงรูปในโซเชียล โดยพบว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่จะลงรูปตัวเองมากกว่าลงเป็นกลุ่ม และมีจำนวนยอดไลค์ หรือผู้ติดตามน้อยกว่าปกติ นอกจากนี้ พบว่าผู้ที่ใช้เวลาอยู่กับมือถือมากที่สุด หรือใช้มือถือเป็นเพื่อนมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากเช่นเดียวกัน
2. แสดงออกถึงอารมณ์เชิงลบมากขึ้น เช่น อารมณ์อ่อนไหวง่าย รู้สึกท้อแท้ โดดเดี่ยว รู้สึกเบื่อหรือขาดความกระปรี้กระเปร่า นอกจากนี้ คำพูดหรือการโพสต์ข้อความที่เปิดเผยก็สามารถแสดงอารมณ์ของบุคคลเหล่านั้นได้ เช่น การโพสต์ข้อความที่มีนัยความหมายลบว่า “รอยยิ้มไม่ได้บ่งบอกว่าเรามีความสุขเสมอไป” นอกจากการโพสต์แสดงอารมณ์แทนคำพูดแล้ว ยังมีการลงเรื่องราว (story) หรือรูปที่แสดงอารมณ์ในช่วงขณะนั้น ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะเชิงตัดพ้อ
3. ใช้คำสรรพนามแทนตนเองบ่อยกว่าใช้คำสรรพนามบุคคลที่ 3 แสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นสนใจเพียงแค่ตนเองเท่านั้น ยิ่งทำให้เกิดระยะห่างในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น
จากข้อสังเกตดังกล่าว สาเหตุของโรคซึมเศร้าส่วนหนึ่งมาจากการใช้สื่อออนไลน์ เพราะสื่อออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตเรา ทำให้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมลดลง ผู้คนชอบอยู่ ในโลกสมมุติมากกว่าโลกที่เราใช้ชีวิตอยู่ในทุก ๆ วัน สาเหตุเหล่านี้จึงเป็นเครื่องมือสะท้อนให้เห็นว่า เยาวชนไทยรวมทั้งคนไทยทั้งประเทศที่ต้องใช้สื่อออนไลน์ในสถานการณ์ปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และจะพัฒนากลายเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ในหนึ่งวันเราควรพยายามลดการใช้สื่อออนไลน์ลงเท่าที่จำเป็น ลองหากิจกรรมที่ชื่นชอบทำในเวลาว่าง เช่น อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ ทำกิจกรรมอาสาสมัคร ใช้เวลาอยู่กับตัวเองและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นให้มากขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง
*แบบสอบถามภาวะอารมณ์เศร้า https://med.mahidol.ac.th/infographics/76
แหล่งอ้างอิง
คนไทยใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตสูง ‘อันดับห้า’ ของโลก. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/867408 [สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2564]
โรคซึมเศร้าโดยละเอียด. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017 [สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2564]
รู้จักสัญญาณเตือนโรคซึมเศร้าจากโซเชียลมีเดีย. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.thaihealth.or.th/sook/info-mind-detail.php?id=130 [สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2564]
Social addiction โรคติดสื่อสังคมออนไลน์ เสี่ยงก่อภาวะซึมเศร้า. (2563). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3ucyvoT [สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2564]