Knowledge

รู้เขา รู้เรา: สอนร้อยครั้ง สำเร็จร้อยครั้ง

รู้เขา รู้เรา: สอนร้อยครั้ง สำเร็จร้อยครั้ง

 3 years ago 3509

เรียบเรียงโดย สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม

          สวัสดีคุณครูผู้อ่านทุกท่าน  เราผ่านวันครบรอบ 1 ปีของ “การจัดการเรียนการสอนออนไลน์”ทั่วประเทศกันมาหลายสัปดาห์แล้ว (ผู้เขียนเขียนในวันที่ 3 พฤษภาคม 2564) โดยสรุปคือเริ่มจากภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จนก้าวเข้าสู่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ที่คุณครูทุกคนกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของการเรียนออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 ซึ่งยังไม่คลี่คลาย

          คุณครูคงจะประสบพบเจอกับปัญหามากมายจากการเรียนออนไลน์ไม่น้อย บางท่านอาจเริ่มปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ แต่ยังมีคุณครูจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ เพราะความซับซ้อนของระบบการเรียนออนไลน์ และปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคการเรียนการสอนอยู่เสมอ และยังมีกลุ่ม ว่าที่ครูใหม่ (บัณฑิตครูที่เพิ่งจบจากรั้วมหาวิทยาลัย) และกำลังจะเริ่มอาชีพครู เป็นปีแรกด้วยการสอนออนไลน์ ซึ่งอาจจะต้องเจอกับปัญหาการสอนไลน์มากกว่ากลุ่มอื่นเพราะไม่เคยมีประสบการณ์การสอนจริงผ่านระบบออนไลน์มาก่อนเลย ครูและว่าที่ครูผู้อ่านทุกท่านต่างมี “การบ้าน” สำคัญก่อนเปิดเทอม คือการเตรียมตัว และวางแผนสำหรับการเรียนออนไลน์ในภาคเรียนต่อไป วันนี้ผมจะพาคุณครู และว่าที่ครูผู้อ่านทุกท่านลองย้อนกลับไปมองว่าระบบการศึกษาไทย ครูและนักเรียนนักศึกษาได้พบปัญหาอะไรบ้าง ผ่านผลสำรวจความคิดเห็นที่ผ่านมาทั้งไทย และต่างประเทศ

          ผลสำรวจชิ้นแรกที่ผมจะขอนำเสนอเป็นผลสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง โดยได้เก็บข้อมูลจากบุคลากรการศึกษา ครู และนักเรียนทุกระดับชั้นจำนวน 72,626 คนจากทั่วประเทศ ผลพบว่า 94.75% ของผู้ทำแบบสอบถามทั้งหมดประสบกับปัญหาในการเรียนการสอนออนไลน์ ปัญหาจากการเรียนออนไลน์ 3 อันดับแรกได้แก่
1) ความเร็วของสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อ (41.15%)
2) ความอ่อนเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเรียนเป็นเวลานาน (31.81%)
3) การขาดความเข้าใจในรายวิชาที่เน้นการปฏิบัติ (29.10%)
          ส่วนปัญหาอื่น ๆ ที่น่าสนใจคือ การขาดสมาธิเนื่องจากไม่มีปฏิสัมพันธ์กับอาจารย์ และสภาพแวดล้อมในขณะเรียนที่ไม่เอื้ออำนวย ผลสำรวจข้างต้นชี้ให้เห็นความจริงประการหนึ่ง คือ ปัญหาในการเรียนการสอนออนไลน์เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะพร้อมในการเรียนการสอนออนไลน์ สิ่งสำคัญที่สุดคือการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการสอน เช่น ครูต้องศึกษาระบบโปรแกรมต่าง ๆ ที่แตกต่างกันเช่น Zoom, Google Classroom, Google Meet เป็นต้น เพื่อหาโปรแกรมที่ครูและนักเรียนใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว และการสอบถาม Feedback หลังการสอน เพราะประสิทธิภาพการสอนของครูสามารถวัดได้จากความเข้าใจของนักเรียน ถ้านักเรียนเข้าใจในสิ่งที่สอนด้วยความรู้สึกดี แสดงว่า เราสามารถใช้วิธีสอนหรือแนวทางการสอนไปใช้ในคาบเรียนอื่น ๆ ได้ เป็นต้น

          หลังจากเราได้ศึกษาผลสำรวจปัญหาของการเรียนออนไลน์ในไทยแล้ว ผลการสำรวจของต่างประเทศก็น่าสนใจไม่แพ้กันครับ ผลการสำรวจนี้สำรวจโดย SYKES ซึ่งได้สำรวจนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในสหรัฐอเมริกา 1,500 คนที่ได้เรียนในระบบออนไลน์ สิ่งที่น่าสนใจของผลการสำรวจนี้คือการแบ่งผลการสำรวจเป็น 3 ส่วน อิงจากกระบวนการเรียนการสอนคือ Tool & Preparation (เครื่องมือที่ใช้สอนออนไลน์และการเตรียมตัวก่อนการเรียนการสอน) Challenges & Support (ความท้าทายและความช่วยเหลือจากการเรียนการสอน) และ Outcomes & Looking Ahead (ผลลัพธ์และสิ่งที่คาดหวังในการสอนครั้งต่อไป) ผลการสำรวจพบว่า
          1. 31% ของผู้สำรวจคิดว่าการส่งข้อความออนไลน์คุยกันกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนจะเป็นประโยชน์ต่อตัวนักเรียนสำหรับการเรียนออนไลน์ ในขณะที่ 29% ของผู้สำรวจคิดว่าการใช้ Interactive whiteboards เป็นตัวช่วยสำคัญในการเรียนออนไลน์ ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าหัวใจสำคัญของตัวช่วยในการเรียนออนไลน์คือการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้เรียนด้วยกันเอง และระหว่างตัวผู้เรียนกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ยังมีกระบวนการสื่อสารในการเรียนออนไลน์บ้าง
          2. 79% ของผู้สำรวจบอกว่า ครูจะอัดคลิปการเรียนการสอนออนไลน์ไว้ให้นักเรียนได้ศึกษาด้วยตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ข้อมูลนี้บ่งบอกให้เห็นว่าครูไม่จำเป็นต้องตั้งค่านิยมว่า “ไลฟ์จบ ลบเลย” เพราะไม่มีประโยชน์อันใดต่อทั้งครูและนักเรียน หนำซ้ำยังก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย เช่น นักเรียนที่ยังไม่เข้าใจเนื้อหาไม่สามารถกลับมาทบทวนจากคลิปเรียนได้ หรือครูที่ไม่สามารถประเมินการสอนตัวเอง หรือศึกษาว่าปัญหาของการเรียนคาบที่แล้วเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อนำมาปรับปรุงในคาบต่อไปได้เลย และจะทำให้คาบเรียนต่อไปยังคงเกิดปัญหาซ้ำซากเหมือนเดิม เพราะขาดการเตรียมตัวจากการศึกษาปัญหาที่เคยพบเจอมาในคาบก่อน การอัดคลิปการเรียนการสอนออนไลน์ จึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการเรียนออนไลน์สำหรับครูและนักเรียน เพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้การเรียนการสอนครั้งต่อไปมีคุณภาพยิ่งขึ้น
          3. 38% ของผู้สำรวจคิดว่าการเรียนออนไลน์มีประสิทธิภาพมากกว่าการเรียนในห้องเรียน และ 84% คิดว่าการเรียนออนไลน์สามารถสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ได้ ข้อมูลนี้น่าสนใจมากเพราะถือว่าค่อนข้างแตกต่างจากบริบทของประเทศไทยพอสมควร และแสดงถึงความสัมพันธ์ของบรรยากาศในการเรียนกับประสิทธิภาพในการเรียน และเป็นส่วนที่ครูควรจะต้องตระหนักอย่างยิ่งว่า ถ้าครูสามารถสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ในระบบออนไลน์ได้ จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการเรียนออนไลน์เพิ่มขึ้น

          สุดท้ายนี้ ผู้เขียนตำราพิชัยสงครามของซุนวูได้กล่าวข้อคิดเชิงปรัชญาไว้ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” เพราะฉะนั้น เมื่อเรานำข้อคิดนี้มาประยุกต์ใช้กับวิชาชีพครูและสถานการณ์การจัดการเรียนรู้ออนไลน์นี้ เมื่อเรารู้เขา (ปัญหาการเรียนออนไลน์ในคาบเรียนก่อน) และรู้เรา (วิธีการรับมือปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้น) หากต้องจัดการเรียนการสอนออนไลน์ร้อยครั้ง ก็จะสำเร็จลุล่วงไปได้ร้อยครั้ง (ครูและนักเรียนเรียนออนไลน์อย่างมีความสุขและสัมฤทธิ์ผล)

แหล่งอ้างอิง
1. สำรวจความคิดเห็นต่อ การเรียนการสอนออนไลน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 https://register.kpru.ac.th/RajabhatPoll/contents/20200007/rajabhatPoll.pdf [สืบค้นเมื่อ 21 พ.ค. 2564]

2. Survey Report: Student Perceptions of Online Learning in Higher Education During COVID-19 https://www.sykes.com/resources/reports/college-online-learning-experience-survey/ [สืบค้นเมื่อ 21 พ.ค. 2564]


TAG: #โควิด19 #COVID19 #โรคระบาดใหญ่ #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #สอนออนไลน์ #บรรยากาศแห่งการเรียนรู้ #สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดี #ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 #ทักษะในศตวรรษที่21