Knowledge

เสริมสร้างสุขภาวะทางอารมณ์ผ่านการฝึกสมาธิ

เสริมสร้างสุขภาวะทางอารมณ์ผ่านการฝึกสมาธิ

 3 years ago 4639

เรียบเรียง: อาทิตยา ไสยพร

          ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการจัดการเรียนการสอน จากการเรียนในห้องเรียนเข้าสู่ระบบการเรียนออนไลน์ที่นักเรียนต้องศึกษาด้วยตนเองมากขึ้น ทำให้นักเรียนส่วนหนึ่งปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดความเครียดรวมไปถึงภาวะขาดสมาธิในการเรียนออนไลน์ มีผลกระทบต่อความเข้าใจเนื้อหาที่นำมาสู่ความวิตกกังวลต่อผลการเรียน สุขภาวะทางอารมณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณครูต้องช่วยให้คำแนะนำแก่นักเรียน ให้พวกเขาผ่านพ้นปัญหาพร้อมจัดการความเครียดจากการเรียนออนไลน์ได้ ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ได้ผลดีคือการฝึกสมาธิ

การฝึกสมาธินั้นมีหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ให้เข้ากับความชอบของตัวเอง โดยมีวิธีฝึก ดังนี้
1. นั่งสมาธิ เป็นวิธีที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี คุณครูสามารถชวนนักเรียนมานั่งสมาธิก่อนเริ่มการเรียนการสอนได้ เริ่มจากการให้นักเรียนนั่งให้ผ่อนคลายจะเปิดตาทำสมาธิหรือหลับตาก็ได้ จากนั้นให้กำหนดลมหายใจเข้าออกโดยขณะนั่งอาจเปิดทำนองเพลงคลอเบา ๆ เพื่อให้คลื่นสมองสงบลงและช่วยให้จิตใจจดจ่อขึ้น ทำก่อนเริ่มเรียนใช้เวลาประมาณ 5 นาที เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้นักเรียนผ่อนคลายและพร้อมเรียนมากขึ้น
2. สวดมนต์ เป็นการฝึกสมาธิอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะการจดจ่อกับการออกเสียงตามบทสวดทำให้จิตเรารู้ตัว ดับความฟุ้งซ่านลง และก่อให้เกิดสมาธิได้
3. ฝึกโยคะ เป็นการฝึกสมาธิผ่านการออกกำลังกายด้วย “ท่าต้นไม้” ท่านี้ช่วยฝึกการทรงตัว โดยเริ่มจากพนมมือแล้วแยกขาออกจากกัน จากนั้นให้ยกขาข้างใดข้างหนึ่งขึ้นมา วางส้นเท้าที่ขาด้านในของอีกข้าง แล้วค่อย ๆ ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะฝ่ามือประกบกัน ค่อย ๆ หายใจเข้า หายใจออก วิธีนี้นอกจากได้ประโยชน์จากการทำสมาธิแล้วยังช่วยในเรื่องของความยืดหยุ่นของร่างกาย สุขภาพหัวใจและระบบการหายใจอีกด้วย
          นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่คุณครูสามารถแนะนำให้นักเรียนไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เพิ่มเติม ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของพวกเขา เช่น การอ่านหนังสือที่ชอบ การเขียนบันทึกประจำวัน การปลูกต้นไม้ หรือแม้แต่การออกไปข้างนอกเพื่อชมธรรมชาติหรือเข้าพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ วิธีเหล่านี้คุณครูสามารถแนะนำนักเรียนให้ไปปรับใช้ได้ พร้อมคำแนะนำในเรื่องของการบริหาร และจัดสรรเวลาให้เหมาะสม
          การเรียนออนไลน์ที่ก่อให้เกิดความเครียดมากมาย ทั้งในตัวผู้สอน และตัวผู้เรียนซึ่งทุกอย่างเป็นผลกระทบในการปรับตัวระยะยาว เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือและพร้อมใจก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงนี้ไปด้วยกันทั้งสุขภาวะทางกายที่ต้องป้องกันตัวจากความเสี่ยงในเรื่องของโรคภัย และสิ่งสำคัญคือสุขภาวะทางอารมณ์ที่ต้องพร้อมตั้งรับและปรับตัวอยู่เสมอ การฝึกสมาธิเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเครียดจากการเรียนและการทำงานเพื่อให้นักเรียนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขมากขึ้น หากเกิดความเครียดหรือวิตกกังวลยากเกินกว่าที่ตัวนักเรียนจะสามารถทำได้ โรงเรียนก็ควรมีนักจิตวิทยาเด็กที่พร้อมให้นักเรียนได้ปรึกษาและขอคำแนะนำ เพื่อให้นักเรียนเรียนออนไลน์ได้อย่างมีความสุขและพร้อมเรียนรู้ในทุก ๆ วัน

อ้างอิง
ประโยชน์ของการนั่งสมาธิ. (2559). ประโยชน์ของการนั่งสมาธิ. 12 กุมภาพันธ์ 2564, จาก http://bit.ly/38itLpV

สุพรรษา ย้อยรักษ์. (2559). ฝึกสมาธิก่อนเรียน ช่วยให้การเรียนดีขึ้นอย่างไร. 12 กุมภาพันธ์ 2564, จาก http://xn--72c0ao3afcdcbf4bze6bsb1b3n7a.blogspot.com/2016/02/blog-post_17.html

15 วิธีฝึกสมาธิสำหรับคนไม่ชอบนั่งสมาธิ. (2560). 15 วิธีฝึกสมาธิสำหรับคนไม่ชอบนั่งสมาธิ. 12 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/78957.html

15 เพลงบรรเลงนั่งสมาธิที่ช่วยให้คุณมีสมาธิได้ง่ายขึ้นใช้ได้ทุกที่ ทุกเวลา. (2564). 15 เพลงบรรเลงนั่งสมาธิที่ช่วยให้คุณมีสมาธิได้ง่ายขึ้นใช้ได้ทุกที่ ทุกเวลา. 12 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://bit.ly/3kTyK5n

มหัทธโน. (2561). สวดมนต์ & นั่งสมาธิให้ผลดีต่างกันอย่างไร?. 12 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://www.trueplookpanya.com/dhamma/content/70305/

-dhart- suparaporn. (2560). “ท่าต้นไม้” ออกกำลังกาย + สร้างสมาธิ. 12 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://goodlifeupdate.com/healthy-body/40801.html


Khongrit Somchai. (2563). "โยคะท่าต้นไม้" ท่าง่ายๆ สำหรับมือใหม่ ที่ได้ประโยชน์เยอะมาก . 12กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://www.sanook.com/health/26285/


TAG: #จิตวิทยาแนะแนว #จิตวิทยาที่ปรึกษา #สุขภาวะทางอารมณ์ #โควิด19 #COVID19 #โรคระบาดใหญ่