Knowledge
วิกฤตโรคระบาดกับโอกาสในการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลทางการศึกษาของสิงคโปร์
3 years ago 2703แปล: พิศวัสน์ สุวรรณมรรคา
เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
สิงคโปร์หนึ่งในประเทศชั้นนำทางการศึกษาของโลก แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ไม่ต่างจากประเทศอื่น แม้ว่าสถานการณ์ตอนนี้จะไม่ได้น่าดูเป็นกังวลมากเท่าไร แต่สิงคโปร์ก็ตั้งรับและปรับตัวได้ไวเมื่อเกิดการระบาดในพื้นที่ ด้วยการปรับให้ครูและนักเรียนหันมาจัดการเรียนรู้แบบ Home-Based Learning: HBL
เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศที่ต่างก็กังวลเมื่อมีการจัดการเรียนรู้แบบ HBL สิงคโปร์เองก็เป็นห่วงในเรื่องทรัพยากรที่แต่ละครอบครัวมีไม่เท่ากัน และวิธีการที่ครูจะสร้างการมีส่วนร่วมกับนักเรียนนั้นก็หลากหลายแตกต่างกันไป กระทรวงศึกษาธิการของสิงค์โปรก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ รีบออกมาแก้ไขปัญหาทั้ง 2 ประเด็นอย่างจริงจัง เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กๆ ไม่หยุดชะงักลง
เริ่มจากกระทรวงศึกษาธิการให้นักเรียนยืมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 20,000 เครื่อง และอุปกรณ์ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้กว่า 1,600 เครื่อง นอกเหนือจากการเปิดสถานที่เรียนสำหรับนักเรียนที่ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดการเรียนรู้แบบ HBL ส่วนในแง่ความหลากหลายของรูปแบบการสอนนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการเสริมสร้างสมรรถนะของครูในการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา
ศ.เพ็ก เอิร์ทเมอร์ จากมหาวิทยาลัยเพอร์ดิว ระบุว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในการศึกษามีอยู่ 3 อย่าง คือ โครงสร้างพื้นฐาน สมรรถนะในการออกแบบการเรียนรู้ของครู และวิธีการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพของครู ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลอย่างยั่งยืน
1. การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน
ก่อนเกิดการระบาดของ COVID -19 สิงคโปร์เริ่มมีการใช้โครงสร้างพื้นฐานและแผนการต่างๆ ทางเทคโนโลยีแล้ว เช่น พิมพ์เขียวของ The Smart Nation ในปี 2018 พยายามที่จะขยายการเข้าถึงบรอดแบรนด์ไปยังทุกครัวเรือน กระทรวงศึกษาธิการยังมีแผนจะเปิดตัวอุปกรณ์การเรียนรู้ส่วนบุคคลแบบก้าวหน้า (Progressive Roll-Out of Personal Learning Devices: PLDs) ให้กับนักเรียนมัธยมศึกษาทุกคนภายในปี 2028 และยังเร่งดำเนินการนำ PLDs สู่การปฏิบัติจริงภายใน 7 ปี โดยตั้งเป้าว่านักเรียนระดับมัธยมศึกษาทุกคนจะมีอุปกรณ์ใช้ภายในสิ้นปี 2021
2. สมรรถนะในการออกแบบการเรียนรู้ของครู
ก่อนที่จะเป็นนักออกแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพได้นั้น ครูจำเป็นต้องมีทักษะและความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัลที่หลากหลาย เพื่อออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่นักเรียนและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน การวิจัยในท้องถิ่นโดยสถาบันการศึกษาแห่งชาติ (The National Institute of Education: NIE) พบว่าการบูรณาการเทคโนโลยีการศึกษาภายในหลักสูตรเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านของการจัดการเรียนรู้ได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนั้นยังจำเป็นต้องมีครูเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้ใช้เทคโนโลยี การออกแบบการจัดการเรียนรู้ของครูต่างหากที่เป็นตัวกำหนดว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาสนับสนุนการเรียนรู้ได้อย่างไร ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการของที่นี่ได้ริเริ่มให้ e-pedagogy เป็นส่วนหนึ่งของทักษะแห่งอนาคตของนักการศึกษา ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ครูได้พัฒนาสมรรถนะในการออกแบบการจัดการเรียนรู้มากขึ้น
3. การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลอย่างยั่งยืน
การเรียนรู้ดิจิทัลอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริหารโรงเรียนและผู้ปกครอง งานวิจัยพบว่า เมื่อครูได้รับโอกาสให้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญ ครูเหล่านี้จะเต็มใจสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ของนักเรียน บทบาทของผู้นำโรงเรียนจึงมีความสำคัญอย่างมากในการสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการออกแบบการเรียนรู้
กลับมามองสถานการณ์การเรียนออนไลน์ที่บ้านเรา ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่ายังประสบกับปัญหาหลายอย่าง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความเหลื่อมล้ำ การเรียนออนไลน์ที่เกิดประโยชน์และทำได้จริงจึงเกิดขึ้นเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ที่อยู่ในเมือง หรือโรงเรียนที่มีความพร้อมเท่านั้น ซึ่งทั้งประเทศมีเพียงไม่กี่ร้อยแห่ง การให้ใบงานนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าเรียนออน์ไลน์ได้ หรือแม้กระทั่งการเรียนออนไลน์เองก็ไม่ควรทำเกิน 1 เดือน เพราะอาจทำให้คุณภาพการศึกษาแย่ลง
การเปลี่ยนผ่านการศึกษาไปสู่ดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จจึงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพียงชั่วเวลาไม่กี่เดือน หากแต่เกิดจากการวางแผนอย่างเป็นระบบ รับฟังปัญหา และการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล ครูใหญ่ ครูและผู้ปกครอง แม้การเริ่มต้นจัดการเรียนรู้ออนไลน์ครั้งแรกของหลายๆ ประเทศอาจยังไม่ได้คุณภาพเทียบเท่าการเรียนในชั้นเรียนจริง แต่จุดเริ่มต้นในครั้งนี้ก็ทำให้เราได้มองเห็นปัญหาที่รอการแก้ไขอยู่ได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญของการพัฒนาการศึกษาไปสู่ดิจิทัลในอนาคต
อ้างอิง
Huang, J., & Hung, D. (2020, July 30). Tackling 3 obstacles to digital transformation in education. Retrieved January 28, 2021, from https://www.todayonline.com/commentary/tackling-3-obstacles-digital-transformation-education
Matichon. (2021, January 10). อาจารย์จุฬาฯ ชี้เรียนออนไลน์ช่วงโควิดไม่เวิร์ก ได้ผลเฉพาะ ร.ร.ใหญ่ไม่กี่ร้อยแห่ง. Retrieved January 28, 2021, from https://www.matichon.co.th/education/news_2522062