Knowledge
‘Explorium’ พื้นที่การเรียนรู้ธรรมชาติวิทยา
3 years ago 3407หากกล่าวถึงคำว่า “นักธรรมชาติวิทยา” เราอาจจะเกิดข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้วอาชีพนี้ทำงานเกี่ยวกับธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์อย่างไร แต่หากยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็จะสามารถอธิบายได้ด้วยสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นักสัตววิทยา นักพฤกษศาสตร์ นักกีฏวิทยา นักบรรพชีวิน หรือนักสตัฟฟ์สัตว์ อาชีพเหล่านี้มีหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลตัวอย่าง จัดจำแนกหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ถือเป็นแนวทางความรู้ที่น่าสนใจ และอาจเป็นแนวทางสำหรับนักเรียนหรือผู้ที่สนใจได้ ซึ่ง EDUCA ชวนทุกท่านหาคำตอบจากบรรยายในหัวข้อ “Explorium การพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ทางธรรมชาติแห่งศตวรรษใหม่ บนพื้นฐาน Self Discovery Learning” เราจะมีวิธีการสอนกระบวนการทำงานของนักธรรมชาติวิทยาให้กับผู้เรียนอย่างไรได้บ้าง
ด้วยโจทย์ที่น่าสนใจข้างต้นจึงได้เกิด “Explorium” พื้นที่แห่งการเรียนรู้ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติเพื่อจุดประกายแห่งแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจทางด้านธรรมชาติ โดยวัตถุประสงค์ในการพัฒนา คือ เป็นพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองแบบสืบค้น (Discovery Learning) เพื่อกระตุ้นความคิดการทำงานแบบนักธรรมชาติวิทยาจากการสังเกต เปรียบเทียบ จัดจำแนกสิ่งมีชีวิตด้วยตนเอง รวมทั้งเพื่อใช้เป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ เสริมทัศนคติที่ดีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
ในการพัฒนาห้องกิจกรรม Explorium จะเกิดจากการทำงานร่วมกันของผู้ทำหน้าที่ออกแบบกิจกรรม ผู้ให้ข้อมูลวิชาการ นักสื่อสารกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และผู้ให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยทำงานร่วมกันภายใต้กิจกรรมที่มีหัวใจหลัก (Key Concept) อันประกอบไปด้วย
Discovery: สร้างกิจกรรมที่มีการสำรวจ สังเกต และสืบค้นจากตัวอย่างของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นของจริง หรือของจำลอง รวมถึงการจัดเตรียมใบความรู้ อุปกรณ์ และคู่มือไว้ในห้องฯ
Identify: สร้างกิจกรรมที่มีการเปรียบเทียบความแตกต่างของลักษณะของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง ขนาด สี จนนำมาสู่การจัดจำแนกเป็นหมวดหมู่ได้
Collect: สร้างกิจกรรมที่มีการเตรียมเทคนิคการเตรียมตัวอย่างที่เหมาะสมให้กับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ การเก็บตัวอย่างเปียก เก็บตัวอย่างแห้ง และการสตัฟฟ์
สำหรับกิจกรรมที่จัดด้วย Explorium จะประกอบไปด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ On site / Online/ Boxset ดังอธิบายต่อไปนี้
1. กิจกรรมรูปแบบ On site จากภาพ จะมีการจัดวางกล่องกิจกรรม (ภาพซ้าย) ตกแต่งบรรยากาศภายในห้องเรียนรู้ด้วยแนวคิด Nature & Art (ภาพกลาง) และมีห้องจัดแสดงตัวอย่างและป้ายชื่อของสิ่งมีชีวิตในรูปแบบกึ่งนิทรรศการ (ภาพขวา) ภายในห้องกิจกรรมจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น Walk Rally (นักเรียนค้นหาความรู้ในจุดต่าง ๆ ตามที่ใบงานกำหนด) Exploring Station (สถานีการสำรวจทางธรรมชาติ ทั้งพื้นที่ สัตว์ และพืช พร้อมกับได้ทดลองปฏิบัติจริง) Exploring Box (กล่องการเรียนรู้ที่บรรจุตัวอย่างสิ่งมีชีวิต ใบความรู้ และใบกิจกรรมสำหรับการเรียนรู้และหาคำตอบเองได้) Theme Hands on (กิจกรรมเปรียบเทียบลักษณะของสิ่งมีชีวิตอย่างลึกซึ้ง เน้นทักษะการสังเกตและสืบค้นข้อมูล) และ My Collection (กิจกรรมที่ติดตามผลการเรียนรู้ ด้วยการส่งข้อมูลการเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตให้สถาบันตรวจ และรับเกียรติบัตร) |
|
2. กิจกรรมรูปแบบ Online เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด จึงทำให้เกิดกิจกรรม Explorium@Home ซึ่งเป็นการสร้างโจทย์สำรวจธรรมชาติรอบบ้านในรูปแบบออนไลน์ แล้วให้นักเรียนค้นคว้า บันทึก และบอกเล่าแรงบันดาลใจในการสำรวจธรรมชาติ จากนั้นสามารถส่งผลงานและรับของรางวัล |
|
3. กิจกรรมรูปแบบ Boxset เป็นกล่องการเรียนรู้ธรรมชาติด้วยตนเองสำหรับเด็กอายุ 10 ขวบขึ้นไป โดยแบ่งเป็น การทดลอง (เช่น การเก็บรักษาตัวอย่างแบบเปียกด้วยน้ำมัน) การสำรวจ (เช่น สำรวจรากพืช) และการจำแนกแยกผล (จำแนกผลไม้และดอกไม้ ประเภทดอก ฯลฯ) |
นอกจากข้อมูลข้างต้นแล้ว หากคุณครูท่านใดสนใจรับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม สามารถติดตาม Facebook group ในชื่อ Nature Explorium by NSM และในอนาคตทางองค์การพิพิธภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า Explorium จะเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ขยายผลในวงกว้าง ทำให้ประชาชนไทยที่สนใจในธรรมชาติวิทยาสามารถกลายเป็น “นักวิจัยภาคพลเมือง” และปลูกฝังทัศนคติเชิงบวกที่มีผลต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้สืบไป
ที่มา:
บรรยาย Workshop หัวข้อ “Explorium การพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ทางธรรมชาติแห่งศตวรรษใหม่ บนพื้นฐาน Self Discovery Learning” โดยวิทยากร น.ส.จิตติกานต์ อินต๊ะโมงค์ น.ส.จันทรัสม์ โพธิ์สมบัติ และ น.ส.สุภาวดี เที่ยงบางหลวง - นักวิชาการ อพวช.