Knowledge
เปลี่ยนห้องเรียนที่มีแต่เสียงครู ผ่าน 7 วิธีสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนกล้าถาม
2 years ago 2842อาทิตยา ไสยพร
ในการสอนทุกครั้ง เชื่อว่าคุณครูต้องการสร้างห้องเรียนที่มีนักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ด้วย แต่มีสิ่งหนึ่งที่คุณครูจำนวนมากต้องเคยประสบพบเจอคือนักเรียนไม่กล้ายกมือถามคำถาม แม้จะเปิดโอกาสให้ถาม สุดท้ายนักเรียนก็ไม่กล้าพูดอยู่ดี จนตัวคุณครูเองก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่สอนไปนั้นนักเรียนเข้าใจหรือว่าต้องการให้เพิ่มเติมในจุดไหนบ้าง จนอาจเป็นหนึ่งในเรื่องที่ครูกลุ้มใจไม่รู้จะแก้อย่างไรดี
เข้าใจสาเหตุปัญหานักเรียนไม่กล้าถามคำถาม
หลายครั้งคุณครูมีความพยายามในการสร้างบรรยากาศให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการโต้ตอบกันในชั้นเรียน แต่อย่างไรก็ตามนอกจากความแตกต่างในเรื่องช่วงวัย (generation gap) อุปสรรคในการสร้างชั้นเรียนอย่างมีส่วนร่วมอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะปัจจัยเหล่านี้
1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นบรรยาย วัตถุประสงค์ของการบรรยายในห้องเรียนมักเป็นการอัดความรู้ให้นักเรียนจดและจำ นั่นเป็นการสร้างการสนทนาทางเดียวโดยที่ครูเป็นผู้พูดนำเสนอเนื้อหาแก่นักเรียนที่เป็นผู้ฟัง ในระหว่างนั้นเมื่อเกิดข้อสงสัยระหว่างการบรรยาย นักเรียนย่อมไม่กล้ายกมือถามคำถามเพราะกลัวขัดจังหวะการบรรยายของครู
2. ความแตกต่างกันเรื่องกฎของชั้นเรียน การที่นักเรียนบางคนนิ่งเงียบเขินอายที่จะถาม อาจมีแนวโน้มมาจากกฎของการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน นักเรียนบางคนอาจคุ้นชิน กับห้องเรียนที่มีกฎไม่ถามคำถามระหว่างเรียน นักเรียนบางคนได้รับการปลูกฝังมาว่านักเรียนที่ถามคำถามในระหว่างการบรรยายอาจบอกเป็นนัยว่าครูสอนไม่ดี หรือกำลังท้าทายครูในสิ่งที่สอน
3. ความกลัวที่จะถูกตัดสินโดยคนรอบข้าง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักเรียนไม่กล้าถามในเนื้อหาที่ไม่เข้าใจ เพราะกลัวการตัดสินจากคนรอบข้าง เช่น กลัวคนรอบข้างคิดว่าว่าพวกเขารู้ไม่พอหรือไม่ได้เตรียมตัวเพียงพอที่จะเรียนในหัวข้อนั้น ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงพวกเขาจะพยายามอย่างเต็มที่แล้ว
7 เคล็ดลับ การสอนนักเรียน ให้กล้าถามในชั้นเรียน
1. สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยในห้องเรียน คุณครูสร้างสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่ทำให้นักเรียนรู้สึกอยากตั้งคำถาม เช่น การชวนนักเรียนคิดบ่อย ๆ กระตุ้นให้นักเรียนคิดผ่านข่าวสารหรือประเด็นที่มีข้อถกเถียง คุณครูต้องมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเพราะเด็กบางคนอาจรู้สึกอายที่จะถามคำถาม วิธีการที่ดีคือคุณครูควรกระตุ้นหรือเป็นผู้ชวนคิดเพื่อให้นักเรียนได้คุ้นชินกับห้องเรียนแห่งการตั้งคำถาม
2. ชื่นชมนักเรียนที่กล้าตั้งคำถาม ควรให้คำชื่นชมกับทุกข้อคำถามของนักเรียน ที่สำคัญคือชื่นชมนักเรียนโดยไม่เปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่ถามคำถาม นอกจากการชื่นชมแล้วการให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการหาคำตอบร่วมกันก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยคุณครูอาจจัดกิจกรรมแบ่งกลุ่มนักเรียนให้ลองตั้งคำถามและหาข้อคำตอบมาอภิปรายร่วมกันในชั้นเรียน
3. สอนนักเรียนในเรื่องการคำถามปลายปิดและคำถามปลายเปิด คำถามปลายปิดโดยทั่วไปมีคำตอบที่ถูกต้องแค่ "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" ส่วนคำถามปลายเปิดจะให้คำตอบที่ "ถูกต้อง" มากกว่าหนึ่งข้อ และยังต้องใช้การคิด การวิเคราะห์ และการสังเคราะห์คำตอบที่มากขึ้น คำถามปลายเปิดมักจะเป็นประโยชน์ในการถามในการอภิปรายเพราะเปิดโอกาสให้มีมุมมองที่หลากหลาย อย่างไรก็ตามคำถามทั้งสองแบบสามารถใช้ได้แต่ควรเลือกใช้อย่างเหมาะสมกับเนื้อหาและรูปแบบกิจกรรม
4. สอนให้ช้าลงเพื่อให้เวลานักเรียนได้ถามคำถาม การเร่งเนื้อหาเร็วเกินไปอาจทำให้นักเรียนสับสนและยากที่จะคิดและเลือกคำถาม เมื่อสอนหัวข้อใหม่หรือหัวข้อที่ยาก ให้พยายามสอนช้าลงและจัดเวลามากเพียงพอสำหรับนักเรียนที่จะถามคำถามเกี่ยวกับส่วนที่พวกเขาไม่เข้าใจ หรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม
5. ใช้คำถามของนักเรียนเป็นขั้นนำของการสอน ก่อนเริ่มเข้าสู่บทเรียนให้คุณครูให้นักเรียนถามคำถามก่อนเรียน เช่น การมอบหมายให้นักเรียนตั้งคำถามเกี่ยวกับหัวข้อนั้นก่อนเข้าเรียน นอกจากจะช่วยทักษะการตั้งคำถามแล้ว ยังช่วยให้คุณครูรู้ในประเด็นที่นักเรียนสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนกล้าถามคำถามเพิ่มเติม
6. ให้นักเรียนสะท้อนการเรียนรู้ ข้อนี้ไม่ใช่การตั้งคำถามแต่เป็นข้อที่ช่วยให้นักเรียนได้อธิบายในสิ่งที่ได้เรียนรู้ออกมา นักเรียนแต่ละคนจะมีข้อคิดและความรู้ที่ได้รับแตกต่างกัน ข้อนี้เป็นสิ่งที่คุณครูสามารถสอนให้นักเรียนเกิดความมั่นใจในการถามคำถามได้ เนื่องจากอาจเป็นโอกาสสำหรับพวกเขาในการฝึกทักษะการคิดขั้นสูง
7. พยายามเพิ่มโอกาสให้นักเรียนได้ตั้งคำถาม คุณครูสามารถช่วยให้นักเรียนมีโอกาสที่จะถามคำถามมากขึ้น เช่น ลองใช้คำพูดว่าอยากให้ครูทบทวนให้อีกไหม ครูจะสอนเรื่องนี้อีกรอบทุกคนเห็นด้วยหรือไม่ หรือให้กิจกรรมกลุ่มเล็ก ๆ รวมกลุ่มตั้งคำถามหลังเลิกเรียน เป็นต้น
แม้คุณครูจะได้เห็นแล้วว่าอะไรที่ทำให้นักเรียนไม่กล้าถาม และมีเทคนิคต่าง ๆ ในมือแล้ว แต่ยังมีเครื่องมือที่สำคัญของคุณครูคือการให้กำลังใจนักเรียน ด้วยความคิดความเชื่อที่ว่านักเรียนทุกคนมีศักยภาพและสามารถบรรลุเป้าหมายได้ การชื่นชมเมื่อนักเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายและอยากจะแสดงศักยภาพการเรียนรู้ที่มากขึ้น เพียงเท่านี้ห้องเรียนที่มีส่วนร่วมระหว่างคุณครูและนักเรียนก็เกิดขึ้นได้ไม่ยากอย่างที่คิด
อ้างอิง
Chiappetta, E. (2021, April 20). 4 Ways to Encourage Students to Ask Questions. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/4-ways-encourage-students-ask-questions
Kentwood Preparatory School. (n.d.). The Importance of Encouragement. https://www.kentwoodprepschool.com/news/encouragement-education/
Klenzendorf, S. (2020, January 29). 3 Reasons Students Don't Ask Questions in Class. SQUARECAP. https://info.squarecap.com/blog/3-reasons-students-dont-ask-questions-in-class-squarecap
Sullivan, J. (2019, July 18). Teaching Students How to Ask for Help. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/teaching-students-how-ask-help?fbclid=IwAR3jZPexbb3GSg9oTNvPpzygKZLWG6PWhTo5ckSrzoQxeHlq8HaVq-1RlYY
Waterford. (2021, June 28). 7 Tips for Teaching Students How to Ask Questions in Class. https://www.waterford.org/education/how-to-ask-questions/