Knowledge
Game-based Learning เรียนแบบสนุก เข้าใจแบบสบาย
3 years ago 23864เรียบเรียงโดย สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม
ช่วงเวลานี้รูปแบบการเรียนออนไลน์ ยังต้องใช้อยู่ และอาจเริ่มขยายเวลามากขึ้น เชื่อว่าคุณครูผู้อ่านทุกท่านคงจะกำลังเริ่มวางแผนการสอน ตระเตรียมสื่อการสอน และเสาะหาวิธีสอนออนไลน์อยู่แน่นอน ซึ่งการหาวิธีสอนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสภาพแวดล้อมของการเรียนออนไลน์กับการเรียนในห้องเรียนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในวันนี้ EDUCA จึงขอเสนอทางเลือกในการสอนออนไลน์ที่คุณครูทั่วโลกนิยมใช้นั่นก็คือ Game-based Learning
Game-based Learning (GBL) คือวิธีการสอนผ่านเกม เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนโดยผสมผสานระหว่างเกมกับเนื้อหาอย่างลงตัว การใช้ GBL ในการสอนออนไลน์จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนตื่นตัวระหว่างการเรียนในคาบเรียน รวมถึงช่วยสรุปเนื้อหาที่ได้เรียนในคาบเรียน ผ่านคำถามที่จะใช้เล่นในเกม เพื่อให้นักเรียนได้ทบทวนเนื้อหาทั้งหมดก่อนเลิกเรียน การใช้ GBL ยังช่วยให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์บ้างผ่านการพูดคุยกันภายในกลุ่ม เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองอีกด้วย
Game-based Learning มีให้เลือกใช้มากมาย และหลากหลายมากขึ้น แพลตฟอร์ม Game-based Learning ที่แนะนำคือ
Kahoot แพลตฟอร์มนี้ คุณครูอาจจะคุ้นหูคุ้นตากันมาบ้างแล้ว เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ เพราะมีผู้เล่นมากกว่า 1 พันล้านคน จากกว่า 193 ประเทศทั่วโลก และมีเกมให้เล่นมากกว่า 50 ล้านเกม คุณครูสามารถสมัครเป็นสมาชิก และสร้างเกมได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้แบ่งปันให้คุณครูท่านอื่นได้นำไปใช้ และด้วยความนิยมของ Kahoot นี้เอง แพลตฟอร์มจึงไม่ได้จำกัดแค่การให้นักเรียนเล่นเกมอย่างเดียว แพลตฟอร์มยังรวบรวมเพื่อนครูไว้เป็นชุมชนออนไลน์เพื่อแบ่งปันสื่อการสอนผ่าน Kahoot ให้คุณครูท่านอื่นได้นำไปปรับใช้ในคาบเรียนของตัวเองได้ด้วย รูปแบบเกมของ Kahoot ก็ง่ายทั้งสำหรับครูและนักเรียน เพราะคุณครูสามารถตั้งคำถาม และเวลาในแต่ละข้อได้เอง ทำให้ครูควบคุมเนื้อหา และเวลาที่จะใช้ผ่านเกมได้อย่างง่ายดาย และระบบของเกมไม่ซับซ้อน ทำให้นักเรียนสามารถเข้าใจวิธีเล่นได้ง่าย
Baamboozle แพลตฟอร์มนี้คล้าย ๆ กับ Kahoot แต่มีลูกเล่นของเกมมากกว่า ระบบเกมซับซ้อนขึ้นมาเล็กน้อยแต่ก็ไม่ทิ้งความเป็นแพลตฟอร์มเกมการศึกษา ครูทั่วโลกได้สร้างเกมผ่านเว็บ Baamboozle ไว้ถึงประมาณ 450,000 เกมส์ ซึ่งคุณครูผู้อ่านก็สามารถสมัครสมาชิกฟรีในเว็บ เพื่อสร้างเกมของตนเองได้เช่นกัน Baamboozle ทำให้แต่ละเกมมีลูกเล่นเป็นของตัวเอง เพราะถึงแม้ว่าครูจะเล่นเกมนั้นซ้ำ แต่ตัวคำถามจะสลับกันภายในเกม และเพิ่มลูกเล่นที่เรียกว่า Power-up เข้าไปในเกมด้วย เช่น นักเรียนอาจเปิดไม่เจอป้ายคำถามแต่เปิดได้ป้าย “โชคดี” ที่จะช่วยให้ทีมได้แต้มหรือ “ขโมย” ที่จะขโมยแต้มจากฝั่งตรงข้ามเข้าทีมตัวเอง เป็นต้น Power-up เหล่านี้คุณครูก็สามารถเลือกได้เช่นกัน
นอกจากแพลตฟอร์ม Kahoot และ Baamboozle แล้วก็ยังมีแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่จะมีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเองในแต่ละแพลตฟอร์ม เช่น Quizizz ที่ปรับปรุงปัญหาเรื่องการแสดงคำถามในแต่ละข้อจาก Kahoot เพราะ Kahoot จะแสดงคำถามจากหน้าจอของครูเท่านั้น แต่ Quizizz จะปรับปรุงโดยจะแสดงคำถามผ่านหน้าจอนักเรียนแต่ละคนโดยตรง เพื่อให้นักเรียนเห็นคำถามได้อย่างชัดเจน ส่วนหน้าจอของครูจะแสดงคะแนนของแต่ละทีม และ Quizalize ที่มีงานวิจัยรองรับว่าช่วยลดช่องว่างทางผลการเรียนของนักเรียนถึงร้อยละ 8 และยังมีฟังก์ชันในการช่วยเก็บข้อมูลของนักเรียนแต่ละคน เป็นต้น
ถึงแม้ว่า Game-based Learning จะมีแพลตฟอร์มให้เลือกมากมาย สามารถนำมาเลือกใช้ได้สะดวกและช่วยให้คุณครูสอนออนไลน์ได้ง่ายขึ้น แต่การใช้ Game-based Learning ต้องคำนึงถึงบริบทการเรียนในแต่ละคาบและโอกาสในการใช้ เพราะถ้าใช้บ่อยเกินไปหรือติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน นักเรียนอาจเกิดการเบื่อหน่าย และไม่สนุกกับการเล่นเกมเดิม ๆ ซ้ำ ๆ หรือถ้าใช้กับเนื้อหาที่มีปริมาณมาก การสอนผ่านเกมอาจไม่ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด คุณครูจึงจำเป็นต้องเลือกใช้รูปแบบการสอนอื่นสลับกันไปตามโอกาสเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ที่สำคัญอย่าลืมเรื่องสำคัญของการเรียนรู้ที่ไม่ใช่เพื่อเอาชนะในเกมอย่างเดียว แต่เป็นความสร้างความรู้สึกอยากเรียนรู้ต่อเนื่อง ไม่สิ้นสุด การใช้เกมจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และแรงเสริมในการเรียนรู้ให้สนุกสนาน และครูควรนำนักเรียนของเราไปสู่การเห็นความสำคัญ และความหมายของการเรียนรู้ที่ยั่งยืนด้วย
แหล่งอ้างอิง
1. https://wbsc.dusit.ac.th/pluginfile.php/534/mod_forum/attachment/4320/GBL%20DOC.pdf เปลี่ยนห้องเรียนเป็นห้องเล่น - มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (สืบค้นเมื่อ 14 พ.ค. 2564)
2. https://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2556/km40856cl_ch2.pdf Game-Based Learning - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สืบค้นเมื่อ 14 พ.ค. 2564)
3. https://kahoot.com/ Kahoot (สืบค้นเมื่อ 14 พ.ค. 2564)
4. https://www.baamboozle.com/ Baamboozle (สืบค้นเมื่อ 14 พ.ค. 2564)
5. https://quizizz.com/ Quizizz (สืบค้นเมื่อ 14 พ.ค. 2564)
6. https://www.quizalize.com/ Quizalize (สืบค้นเมื่อ 14 พ.ค. 2564)