Knowledge
สื่อสารอย่างไรสร้างเด็กไทยกล้าคิดวิเคราะห์
4 years ago 6310ผู้เขียน: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ ครูจากโครงการ Teach for Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
หากกล่าวถึงทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยในปัจจุบัน จะพบว่ามีเครื่องมือและแนวทางในการสร้างทักษะคิดวิเคราะห์มากมายหมายรูปแบบ เรียกได้ว่ามีความก้าวหน้าทั้งทางด้านองค์ความรู้ และการบูรณาการทักษะเข้ากับการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลในชั้นเรียนของนักเรียนอีกด้วย ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการออกแบบเครื่องมือสร้างเสริม และประเมินผลทักษะคิดวิเคราะห์ในชั้นเรียนจำนวนมากเพียงใด แต่เด็กไทยบางส่วนก็ยังถูกประเมินว่าควรได้รับการส่งเสริมเพิ่มเติมทักษะดังกล่าวให้ดีมากยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากการบูรณาการความรู้ทางด้านวิชาการในการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์แล้วนั้น สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ การสื่อสาร ซึ่งเปรียบเสมือนช่องทางที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูและนักเรียน ในขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางสำหรับการถ่ายทอดและกระตุ้นให้เกิดการฝึกฝนเรียนรู้ทักษะคิดวิเคราะห์ไปพร้อมๆ กันได้ ทั้งนี้ การสื่อสารสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่จำกัดว่าจะต้องเกิดขึ้นภายในห้องเรียน หรือภายในคาบเรียนเพียงอย่างเดียว การสื่อสารจึงเป็นตัวเชื่อมที่ยืดหยุ่น สามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับโอกาสแห่งการเรียนรู้และการบูรณาการเข้ากับกระบวนการเรียนรู้ได้ทุกแบบนั่นเอง
“การสื่อสารคือกุญแจ...สู่การสร้างทักษะ”
ทักษะคิดวิเคราะห์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร... หากนักเรียนไม่กล้าแม้แต่จะพูดหรือแสดงความคิดเห็นส่วนตัวออกมา ครูและผู้ปกครองเองก็ไม่อาจรับรู้ถึงระบบความคิดหรือการเชื่อมโยงในการให้เหตุผลของนักเรียนได้ การสื่อสารที่สร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและให้เกียรติเปิดรับทุกความเห็นระหว่างครู ผู้ปกครอง และนักเรียน จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างทักษะคิดวิเคราะห์ในเด็กไทยที่ยั่งยืน
การสื่อสาร คือ กุญแจสำคัญเริ่มจากเปิดพื้นที่ให้เด็กมี “อิสระในการแสดงความคิดเห็น” ประกอบกับ “บทบาทการเป็นผู้ฟังที่ดี” ของครูและผู้ปกครองโดยแสดงออกถึงยอมรับและเคารพความคิดเห็นของเด็กซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม แม้ว่าบางความคิดเห็นไม่สามารถนำไปใช้ได้ก็ตาม แต่ก็ต้องรับฟังอย่างตั้งใจและไม่ตัดสินความเห็นของเด็กโดยไม่มีการให้เหตุผลสะท้อนกลับ จากกระบวนการรับฟัง และแลกเปลี่ยนความเห็นในเบื้องต้นนี้ เมื่อนำไปปฏิบัติเป็นประจำจนกลายเป็นเรื่องปกติแล้วนั้นจะทำให้เด็กนักเรียนมีแนวโน้มที่จะกล้าคิดกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น เพราะเรียนรู้แล้วว่าครู และผู้ปกครองจะคอยรับฟังโดยไม่กล่าวตำหนิ เมื่อเด็กมีความกล้าที่จะแสดงความคิด ประกอบกับบทสนทนาหรือคำถามชวนคิดที่กระตุ้นให้เกิดกระบวนการวิเคราะห์โดยไม่ตัดสินผิดถูก จะช่วยให้ครู ผู้ปกครองได้เข้าใจถึงความคิดความอ่านของเด็กและสามารถให้คำแนะนำแก้ไข อีกทั้งช่วยเพิ่มเติมข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเป็นเหตุเป็นผลผ่านการสื่อสารที่สร้างสรรค์ ในท้ายที่สุดก็จะทำให้เด็กไทยสามารถพัฒนาทักษะคิดวิเคราะห์ได้ดียิ่งขึ้น
“สื่อสารเชิงบวกกับเด็กอย่างไร ให้สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ”
ความสำคัญของการสื่อสารที่มีส่งผลต่อการสร้างทักษะคิดวิเคราะห์ในภาพรวมที่กล่าวไปในข้างต้น หากจะทำความเข้าใจให้กระจ่างชัดขึ้นถึงวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับจากผลการศึกษาหลายต่อหลายชิ้น พบว่า การสื่อสารเชิงบวกที่เหมาะสำหรับเด็กนักเรียนหรือวัยรุ่นผู้มีปัญหาในการพูดคุย อบรมสั่งสอน ตักเตือนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการสื่อสารเชิงบวกถือเป็นเทคนิคการสื่อสารที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์ ในการดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดี รู้จักเข้าใจ และใช้วิธีจูงใจ ให้เกิดการยอมรับและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งมีแนวทางการสื่อสารเชิงบวกโดยสรุป ดังนี้ เริ่มต้นการสื่อสารด้วยทัศนคติและมุมมองที่ดีของวัยรุ่น ฟังอย่างตั้งใจใช้ภาษากายที่เปิดกว้าง เป็นมิตรและเป็นกลาง มีการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมเอื้อต่อการแสดงออกทางความคิด ความรู้สึก ความต้องการที่แท้จริงของตัวนักเรียนมากกว่าเป็นการแสดงออกตามความคาดหวังของผู้อื่น ในขณะรับฟังหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนั้น ผู้ฟังหรือคู่สนทนาจะต้องไม่ตัดสินผิดถูก เพื่อถามและสำรวจให้เห็นปัญหาผ่านเรื่องเล่า อันจะสะท้อนความคิดและความรู้สึกของเด็กได้อย่างชัดเจน ครูและผู้ปกครองเองก็จะเข้าใจในกระบวนการคิดและสามารถพัฒนาทักษะการคิดของเด็กนักเรียนได้อย่างตรงประเด็นและประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้วิธีการสื่อสารเชิงบวกช่วยให้เด็กนักเรียนรู้สึกมั่นใจ และไว้วางใจที่จะพูดคุยแสดงความคิดเห็น รวมทั้งยอมรับต่อคำแนะนำที่ครูและผู้ปกครองที่ตนเองมีความสัมพันธ์อันดีด้วย หากนำเอาวิธีการสื่อสารดังกล่าวมาประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์ร่วมกับกระบวนการจัดการเรียนรู้ทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอ ช่วยสร้างทัศนคติที่ดีต่อการแสดงความคิด และการฝึกฝนทักษะต่างๆ นอกเหนือจากการคิดวิเคราะห์ให้แก่นักเรียน พร้อมทั้งรักษาไว้ซึ่งความรู้สึกและความสัมพันธ์อันดีที่อาจต่อยอดสู่การแลกเปลี่ยนความรู้ทักษาอื่นๆ ในอนาคตได้
ที่มา:
นายแพทย์พนม เกตุมาน. กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในทศวรรษหน้า: การสื่อสารทางบวกกับวัยรุ่น . อ้างอิงจาก http://www.smpkhos.go.th/news/P64041990.pdf