Knowledge
4 แนวทางฟื้นฟูสภาพจิตใจนักเรียนจากวิกฤต COVID-19
4 years ago 3934แปลและเรียบเรียงโดย สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ
Content Developer Cohort 2 Alumni Teach For Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากจะส่งผลกระทบด้านสังคม และเศรษฐกิจแล้ว เด็กและเยาวชนยังคงได้รับผลกระทบไปด้วย องค์การยูนิเซฟได้ออกผลสำรวจล่าสุด พบว่าเด็กและเยาวชนกว่า 8 ใน 10 คน มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเงินของครอบครัว ซึ่งเป็นประเด็นที่กังวลมากที่สุด เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อันเป็นผลมาจากการปิดตัวของธุรกิจต่าง ๆ ตลอดจนการถูกเลิกจ้าง โดยเป็นผลสำรวจเก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามออนไลน์ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม ถึง 6 เมษายน จากเด็กและเยาวชนจำนวน 6,771 คนทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อายุ 15-19 ปี
นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า เด็กและเยาวชนกว่า 7 ใน 10 คน กล่าวว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ โดยพวกเขามีความเครียด วิตกกังวลและเบื่อหน่าย นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนเกินครึ่งรู้สึกกังวลด้านการเรียน การสอบ และโอกาสในการศึกษาต่อ เนื่องจากการปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลานาน ในขณะที่ ร้อยละ 7 รู้สึกกังวลเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เช่น การทะเลาะกันของผู้ปกครอง และการทำร้ายร่างกาย รวมไปถึงปัญหาของเยาวชนกลุ่ม LGBTIQ จากการต้องอยู่แต่ในบ้าน ทำให้ไม่สามารถแสดงตัวตนกับครอบครัวได้ โดยร้อยละ 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกกังวลเรื่องเพศสภาพที่ถูกกดดันเพิ่มขึ้น
จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เราได้ทราบว่าช่วงเวลาจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กและเยาวชนในประเทศไทย โดยเฉพาะกับนักเรียนกลุ่มเปราะบาง กล่าวคือเป็นนักเรียนที่เคยได้รับประสบการณ์กระทบสภาพจิตใจมาก่อนที่จะมีสถานการณ์ COVID-19 เพราะฉะนั้นการเตรียมความพร้อม และทำความเข้าใจเพื่อต้อนรับเด็ก ๆ กลับสู่ห้องเรียนในวันเปิดเทอม เราจึงอยากนำเสนอ 4 แนวทางฟื้นฟูสภาพจิตใจนักเรียนจากวิกฤต COVID-19 มาแบ่งปันให้คุณครูไทยได้นำไปปรับใช้ในห้องเรียน
1.สานต่อความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน
เนื่องจากเป็นการเปิดเทอมใหญ่ ที่เด็กๆ ต้องเปลี่ยนชั้นเรียน ซึ่งบางส่วนอาจจะได้เจอกับคุณครูที่รู้จัก หรือคุ้นเคยอยู่แล้ว และบางส่วนอาจจะได้เจอกับคุณครูคนใหม่ที่ไม่เคยเรียนด้วยมาก่อน เมื่อพวกเขาเป็นนักเรียนของเรา การเริ่มต้นความสัมพันธ์กับนักเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกับนักเรียนกลุ่มเปราะบาง เริ่มด้วยการทักทายอย่างเป็นกันเองเพื่อสร้างประทับใจในวันแรกพบ การสังเกตพฤติกรรมจากไกลๆ ในช่วงแรก รวมถึงการขอคำแนะนำ หรือคำปรึกษา จากครูที่คุ้นเคยกับนักเรียน เพื่อร่วมมือกันคงความสัมพันธ์ที่ดี ให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัย และสบายใจ
2.หมั่นติดต่อนักเรียนที่ยังไม่กลับมาเข้าเรียน
แม้จะมีนักเรียนบางส่วนที่ยังไม่สามารถกลับมาเข้าห้องเรียนได้หลังจากมีการประกาศเปิดเทอมไป ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดก็ตาม คุณครูควรติดตามความเป็นอยู่ของนักเรียน พยายามติดต่อ พูดคุย อยู่เสมอ เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ระบายความรู้สึกไม่สบายใจต่างๆ นอกจากนี้ครูจะได้เข้าใจนักเรียน สามารถช่วยเหลือได้ตรงตามความต้องการของนักเรียน อีกทั้งเพื่อให้พวกเขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว มีคนที่พร้อมรับฟัง พร้อมช่วยเหลือ และอยู่เคียงข้าง
3.เน้นวิชาการ ควบคู่กับสุขภาพจิตที่ดี
การวางแผนการเรียนที่จะพัฒนานักเรียนโดยไม่ได้เน้นเพียงวิชาการ แต่ยังคำนึงถึงสุขภาพจิตที่ดี แม้การพัฒนาด้านวิชาการจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ความเครียด ความกดดัน ยังเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญ นอกจากการวางแผนการเรียนที่เหมาะสมแล้ว โรงเรียนควรต้องมีการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา หรือนักจิตวิทยา เพื่อช่วยเหลือนักเรียน ในการพัฒนาและฟื้นฟูสภาพจิตใจของนักเรียน
4.ร่วมด้วยช่วยกัน
คุณครู โรงเรียน ครอบครัว และชุมชน การร่วมมือกันของทุกส่วนสามารถช่วยเหลือนักเรียนเหล่านี้ได้ ร่วมกันเป็นหูเป็นตา สังเกตพฤติกรรม เพื่อนำข้อมูลไปพิจารณาและจัดหาวิธีการหรือการแก้ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ที่ระหว่างครูกับครอบครัวของนักเรียน หรือโรงเรียนกับชุมชน เพื่อที่จะเราจะสามารถสร้างความเข้าใจถึงปัญหา และมีแนวทางในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อสถานการณ์วิกฤตนี้จบลง เมื่อนักเรียนสามารถกลับมาเข้าห้องเรียนได้อีกครั้ง นักเรียนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม ควรต้องได้รับการฟื้นฟูและเยียวยาสภาพจิตใจ เพื่อให้เด็ก ๆ เหล่านี้กลับมามีรอยยิ้ม พร้อมที่จะเรียนรู้ และเติบโตต่อไปในอนาคต
อ้างอิง
ยูนิเซฟเผยผลกระทบโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทย พบเยาวชน 8 ใน 10 คนเครียดด้านปัญหาการเงินของครอบครัวมากที่สุด (2020, April 14), retrieved June 5, 2020 from https://www.unicef.org/thailand/th
4 strategies to support vulnerable students when schools reopen after coronavirus (2020, May 5), retrieved June 5, 2020 from https://theconversation.com/4-strategies-to-support-vulnerable-students-when-schools-reopen-after-coronavirus-136201