Knowledge
เมื่อนักเรียนมีความชอบที่หลากหลาย : การเลือกแผนการเรียนที่ไม่ได้มีแค่สายวิทย์และศิลป์
2 years ago 3531จิราพร เณรธรณี
ในช่วงปิดเทอมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต้องเลือกแผนการเรียน บางโรงเรียนที่มีขนาดเล็กบางแห่งอาจเปิดเพียงแผนการเรียนเดียว ในขณะที่โรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ และพร้อมมากกว่าอาจเปิดมากกว่า 10 แผน การเลือกแผนการเรียนมีผลต่อการมีสิทธิ์สมัครสอบเข้าในคณะต่าง ๆ ในระดับมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม การเลือกคณะของแต่ละแผนการเรียนควรมีความเท่าเทียมกัน ถ้าเกิดมีผู้เรียนที่สนใจในวิชาวิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ จะต้องเลือกเรียนในแผนการเรียนไหน
“การจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ” หรือ Child-centered Learning เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ปรากฏในหลักสูตร แต่ก็ยังไม่มีการนำมาปฏิบัติให้เห็นอย่างแท้จริง กล่าวคือยังมีผู้เรียนหลายคนที่จำเป็นต้องเรียนในแผนการเรียนวิทย์-คณิต ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ชื่นชอบ หรือถนัด เหตุผลในการเลือกเรียนมักมาจากการมีทางเลือกในการเลือกคณะศึกษาต่อมากกว่า และผู้ปกครองบางคนก็อยากให้เรียนเพื่อสอบเข้าในคณะยอดนิยมได้ ประกอบกับค่านิยมในการเรียนแผนการเรียนวิทย์-คณิต ที่มองว่าคนที่เรียนในแผนการเรียนนี้ได้ก็คือคนที่เรียนเก่ง ดังนั้น ผู้เขียนจึงมองว่า คงจะดีไม่น้อย ถ้าโรงเรียนเปิดกว้างในการเลือกแผนการเรียนต่อให้หลากหลายตอบโจทย์ความสามารถ และความสนใจของผู้เรียน อย่างไรก็ตาม ยังมีขีดจำกัดในบางโรงเรียนที่มีจำนวนของผู้เรียน และครูไม่มาก ผู้เรียนอาจไม่มีทางเลือกในการเลือกแผนการเรียนมากนัก แต่ก็เป็นการดีสำหรับการวิเคราะห์ผู้เรียนแต่ละคนได้ง่ายขึ้น เพื่อที่ครูจะสามารถสนับสนุนผู้เรียนได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
การเริ่มเปิดกว้างของแผนการเรียนในโรงเรียนต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายในโรงเรียน โดยมีผู้ริเริ่มอย่างผู้อำนวยการร่วมมือกันกับครู และนักเรียน เพื่อประชุมปรึกษาหารือพร้อมกัน ทราบปัญหา และข้อเสนอแนะจากทุกแง่มุมอย่างแท้จริง ในขณะที่โรงเรียนที่มีผู้เรียนจำนวนน้อย ผู้สอนสามารถสังเกตผู้เรียนแต่ละคน ร่วมกันพัฒนาผู้เรียนในรายวิชาหรือกิจกรรมที่สนใจ ซึ่งอาจจะมีการรวมกลุ่มความสนใจของผู้เรียนที่มีความสนใจคล้ายคลึงกันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วย
มีบางโรงเรียนที่ได้ใช้ระบบ Tracks ที่สามารถเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายในการเรียนให้สอดคล้องกับความหลากหลายของผู้เรียนมากขึ้น โดยมีการนำสายการเรียนหลักทั้ง 2 สาย คือ สายวิทย์-คณิต และ สายศิลป์-ภาษา มาแยกย่อยอีกที โดยผู้เรียนยังคงได้เรียนในรายวิชาพื้นฐาน เพียงมีวิชาเลือกให้ผู้เรียนได้เรียนในรายวิชาที่สนใจ โดยมีคาบเรียนที่มากกว่า เพื่อฝึกฝนทักษะ และเพิ่มพูนความรู้ในรายวิชาที่ผู้เรียนสนใจอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม หากผู้เรียนพบว่า แผนการเรียนที่เลือกไม่เหมาะสมกับตนเองก็สามารถเปลี่ยนวิชาเอกได้ในช่วงก่อนเข้ามัธยมศึกษาปีที่ 5 การที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายด้าน สิ่งสำคัญที่สุดคือ ครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญในรายวิชานั้นจริง ๆ และรวมถึงการเปิดกว้างของผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย เพราะการศึกษาไทยยังคงทำงานด้วยระบบแบบบนลงล่าง (top-down) ซึ่งเป็นระบบที่มีการทำงานจากผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้ออกแบบ และจัดทำขึ้นมา แล้วก็มีการรับนโยบายหรือแผนนั้น ๆ มาปฏิบัติเป็นทอด ๆ ดังนั้น ความพร้อมของโรงเรียนทั้งด้านวิชาการ และบุคลากรจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง
จากที่กล่าวมาทั้งหมดเราจะเห็นบางข้อจำกัดที่ส่งผลให้หลายโรงเรียนยังขาดความพร้อมในการเพิ่มความหลากหลายของแผนการเรียน อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนผู้เรียนในรายวิชา หรือความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ ผ่านการฝึกฝน ประกวด ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ฝึกฝนในรายวิชา หรือกิจกรรมที่ชอบ และถนัดได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะเหมาะสมในกรณีที่โรงเรียนมีจำนวนครู และผู้เรียนที่ไม่มากนัก หวังว่ารูปแบบการสอนที่ปรากฏในหลักสูตรว่า “เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ” หรือ Child-centered Learning จะนำมาใช้ให้เห็นอย่างแท้จริงในอนาคต
รายการอ้างอิง
กันต์ เอี่ยมอินทรา. (2563, 8 สิงหาคม). สายการเรียนทางเลือกใหม่ มากกว่าแค่ 'สายวิทย์-ศิลป์'. กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/125753
อภิรดา มีเดช. (2559, 25 พฤศจิกายน). การศึกษาไทย แก้ได้ในชาตินี้!. WAY. https://waymagazine.org/education-prawit/
Jiratchaya Chaichumkhun. (2563, 16 มีนาคม). อยากเรียนหลากหลาย แต่สายการเรียนให้เลือกแค่วิทย์-ศิลป์? คุยกับ วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล. The Matter. https://thematter.co/social/education/interview-weerayuth/104289
Ployrung Sibplang. (2563, 15 มีนาคม). ระบบ Tracks สำหรับม.ปลายคืออะไร เป็นไปได้ไหมที่การศึกษาอาจมีได้มากกว่าสายวิทย์-ศิลป์?. The Matter. https://thematter.co/social/tracking-model-course-in-thailand/104235