Knowledge

7 เทคนิคเพื่อเพิ่มความสนใจให้กับผู้เรียน ในคลาสเรียนออนไลน์

7 เทคนิคเพื่อเพิ่มความสนใจให้กับผู้เรียน ในคลาสเรียนออนไลน์

 4 years ago 10243

แปล และเรียบเรียง: สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ 
Content Developer Cohort 2 Alumni Teach For Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

นักการศึกษาส่วนมากเห็นตรงกันว่าความสนใจของผู้เรียนต่อบทเรียนนั้นสำคัญมากๆ ต่อการสร้างช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีมุมมองที่ต่างกันอยู่บ้างถึงนิยามของคำว่า “ความสนใจของผู้เรียน” หนึ่งในคำนิยามที่พบได้คือ “ระยะเวลา รูปแบบ และความเข้มข้นที่นักเรียนทุ่มเทให้กับประสบการณ์การเรียนรู้ของตัวเอง” ซึ่งแน่นอนว่าการเรียนแบบอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน และการเรียนในโลกออนไลน์ย่อมมีความแตกต่างกัน แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อผู้เรียนยังคงเป็นมนุษย์เหมือนกัน บางเทคนิคอาจสามารถนำไปปรับใช้กับห้องเรียนแบบออฟไลน์ได้ด้วยเช่นกัน และจากนี้คือเทคนิค 7 ข้อที่มีส่วนช่วยเพิ่มระดับความสนใจของผู้เรียน และทำให้ห้องเรียนออนไลน์ของคุณมีคุณภาพสูงขึ้น

1. สื่อสารผ่านช่องทางที่หลากหลาย
การเรียนการสอนออนไลน์นั้นทำให้เรามีตัวเลือกมากมายเมื่อพูดถึงช่องทางที่เราสามารถใช้ได้ในการติดต่อสื่อสารกับนักเรียน ตั้งแต่การสื่อสารในยุคคลาสสิคซึ่งก็ยังคงตอบโจทย์ในบางสถานการณ์เช่นการส่งอีเมล หรือการตั้งกระทู้ถามตอบ ไปจนถึงการอัพโหลดคลิปเสียง หรือวิดีโอ รวมถึงการส่งข้อความในช่องทางที่อีกฝ่ายสามารถตอบกลับมาได้ทันที เช่นการแชทผ่านผู้ให้บริการต่างๆ และการสร้างเว็บไซต์เพื่อเป็นจุดรวมสารที่เราต้องการจะสื่อออกไป การสร้างคลิปที่อัดวิดีโอหน้าจอของเราเองขณะที่เราสอนไปด้วย (screencast) ซึ่งสามารถทำได้ง่าย และใช้ต้นทุนต่ำในการทำ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่มีความเป็นมิตรต่อนักเรียนในการเรียนรู้เนื้อหาต่างๆ

2. ให้โอกาสนักเรียนได้มีการลงมือทำ
หนึ่งในความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ คือภาพที่นักเรียนต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เฉยๆ และรับข้อมูลที่กำลังถูกถ่ายทอดเพียงอย่างเดียว ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นภาพที่เกิดขึ้นได้ในห้องเรียนที่ถูกออกแบบมาให้เป็นเช่นนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีการออกแบบห้องเรียนออนไลน์ที่แตกต่างออกไป ที่มีการเสริมแรงให้ผู้เรียนต้องลุกจากเก้าอี้ หรือเตียง และต้องพาร่างกายของพวกเขาเข้าหาการเรียนรู้ และแม้ว่าการคลิกเมาส์หรือเคาะคีย์บอร์ดจะนับเป็น “การลงมือทำ” พวกเขาก็สามารถถูกมอบหมายให้ไปไกลกว่านั้นได้ด้วยเช่น การมอบหมายให้นักเรียนไปสัมภาษณ์ผู้คน ลงพื้นที่เพื่อศึกษาเกี่ยวกับชุมชน (โดยคงไว้ซึ่งระยะห่างทางสังคม) มอบหมายการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม หรือการชวนให้ทุกคนร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลท้องถิ่นที่มีความน่าสนใจ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงไอเดียไม่กี่อย่าง ท่ามกลางความเป็นไปได้ที่หลากหลายมากๆ ในการออกแบบการเรียนรู้ให้นักเรียนได้คิด ลงมือทำ และเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของพวกเขาเอง

3) ทำให้การเรียนรู้เป็นการเข้าสังคม
ในตอนนี้อาจมีครูหลายคนที่ได้เริ่มเปิดเพจ หรือพื้นที่ๆ ให้นักเรียนสามารถสื่อสาร แลกเปลี่ยน มีปฏิสัมพันธ์กับพวกตนได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งแม้ว่านักเรียน และคุณครูจะไม่ได้มาพบเจอหน้ากัน แต่การปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่ออนไลน์นั้นก็นับเป็นการเข้าสังคมเช่นกัน ดังนั้นเราจึงสามารถทำให้การเข้าสังคมดังกล่าว ดูน่าดึงดูดมากขึ้นได้โดยการใช้สัญลักษณ์บางอย่างเพื่อแสดงชุมชนเดียวกัน และเป็นทีมเดียวกัน เช่นกรอบรูปโปรไฟล์ใน Facebook หรือ Hashtag ต่างๆ ที่จะทำให้การเข้ามายังพื้นทีดังกล่าวไม่ใช่แค่การมาเพราะได้รับมอบหมาย หรือมาเพื่อรับความรู้บางอย่าง แต่จะเริ่มเป็นการมาเพราะความรู้สึกผูกพันธ์ซึ่งกันและกันในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

4) ทำให้การเรียนรู้ออนไลน์กลายเป็นเกมส์ ด้วยเหรียญรางวัล และใบประกาศฯ
การเพิ่มความเป็นเกมให้กับพี้นที่เรียนรู้ออนไลน์นั้นมีหลายวิธี และไม่จำเป็นเสมอไปว่าเราต้องสร้างเกมใหม่ทั้งเกมขึ้นมาเพื่อสอนเนื้อหาในบางบท (ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเรามีพลังงาน และทรัพยากรก็สามารถทำได้เช่นกัน) โดยหนทางที่รวดเร็วกว่านั้นในการทำให้การเรียนรู้กลายเป็นเกม คือการเพิ่มเหรียญรางวัล หรือสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสิ่งแทนความสำเร็จต่างๆ ในระหว่างเส้นทางแห่งการเรียนรู้ที่ทอดยาวออกไป เช่น เหรียญรางวัลแห่งการส่งงานต่อเนื่องครบ 5 ครั้ง และเหรียญแห่งความตรงต่อเวลา ซึ่งนอกจากจะเป็นการให้รางวัลพฤติกรรมที่พึงประสงค์แล้ว ยังเป็นการเสริมแรงให้พวกเขากลับมาเรียนอีกครั้งเพื่อคว้ารางวัลต่อไป

5) การให้ feedback ที่มีคุณภาพ ในกรอบเวลาที่เหมาะสม
การส่งเสียงสะท้อนกลับไปยังการเรียนรู้ของนักเรียน หรือการให้ feedback นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการคงไว้ซึ่งความสนใจของนักเรียนในการก้าวเดินต่อไป บนเส้นทางแห่งการเรียนรู้ การตอบคอมเม้นท์ในโพสต์ ข้อความ หรืออีเมลอย่างรวดเร็ว เป็นสิ่งที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถทำงานชิ้นต่อไป และเรียนในบทต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ความเร็วในการตรวจงาน ประเมิน และให้คะแนนก็มีผลเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่ควรทำคือการแจ้งผลลัพธ์และ feedback นักเรียนเกี่ยวกับงานชิ้นเก่า ก่อนที่จะมอบหมายงานชิ้นใหม่ออกไป นอกจากนั้น feedback ที่มีความเฉพาะเจาะจง และเจือด้วยแง่มุมในเชิงบวก มักจะได้ผลกว่า feedback ที่เป็นเพียงคำชมลอยๆ ที่ไร้ซึ่งความชัดเจน

6) โอกาสที่นักเรียนจะได้ประเมินตัวเอง
การให้นักเรียนได้เป็นผู้ประเมินตัวเอง เป็นการเปิดพื้นที่ที่พวกเขาจะต้องมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบให้กับการเรียนรู้ของพวกเขาเอง โดยอาจเริ่มจากการให้ลองให้คะแนนชิ้นงานเล็กๆ ของตัวเอง และอธิบายเพิ่มเติมถึงที่มาของคะแนนดังกล่าว ไปจนถึงการให้คะแนนความตั้งใจของตัวเองในแต่ละคาบ ซึ่งการได้ประเมินตัวเองอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้นักเรียนรู้ว่าพวกเขามีแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป และมองตัวเอง และผู้อื่นด้วยมุมมองที่นอบน้อมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ที่นักเรียนสามารถเข้าไปสร้างผลงานแบบออนไลน์ หรือแผนการเรียนรู้ที่นักเรียนเป็นคนออกแบบเองได้ ก็จะมีส่วนช่วยให้นักเรียนได้สร้างการเรียนรู้ในรูปแบบที่เหมาะกับความเป็นธรรมชาติของแต่ละคนมากขึ้น และทำให้พวกเขาได้รู้จักกับสไตล์การเรียนรู้ของตัวเอง รวมถึงวิธีวัดการประเมินผลที่หลากหลายมากขึ้น เป็นพื้นที่ๆ ยืดหยุ่นพอให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ต่อไปในแบบที่เป็นตัวเองได้ ในขณะที่คุณครูก็ยังคงมองเห็นหลักฐานของการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง

7) ทำให้การเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ออนไลน์ เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ข้อนี้อาจเป็นข้อที่ไม่ถูกพูดถึงมากนัก เมื่อพูดถึงสิ่งที่จะทำให้นักเรียนสนใจกับการเรียนมากขึ้น แต่เมื่อมองในทางกลับกัน นักเรียนอาจให้ความสนใจกับการเรียนรู้น้อยลงถ้าการเข้าถึงเนื้อหา หรือกิจกรรมในช่องทางออนไลน์กลายเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา และเพราะว่าเราต่างมีความพร้อมด้านอุปกรณ์ และสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เท่ากัน การออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ที่ไม่ปิดกั้นคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไปจากโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาด้วยความไม่พร้อมต่างๆ ในทางวัตถุ จึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่จำเป็นที่ต้องคำนึงถึงในการสร้างพื้นที่ออนไลน์ให้กับนักเรียน ซึ่งอาจเริ่มต้นได้ผ่านการศึกษาช่องทางที่นักเรียนจะสามารถเข้าถึงสื่อการสอนของเราได้ง่ายที่สุด และหมั่นตรวจสอบถึงความเป็นมิตรต่อผู้ใช้งานของช่องทางการเรียนรู้ที่เราสร้างอย่างสม่ำเสมอ

อ้างอิง:
7 Tips for Increasing Student Engagement in Online Courses (2015, November 12) retrieved 2020, May 20 from https://www.d2l.com/blog/7-tips-for-increasing-student-engagement-in-online-courses/


TAG: #การจัดการเรียนรู้ #สอนออนไลน์ #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 #ทักษะในศตวรรษที่21