Knowledge
ชวนนักเรียนเล่นอย่างไร ให้สนุกและเสริมสร้างจินตนาการ
2 years ago 3972เอกปวีร์ สีฟ้า
เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกสนุก คงจะหนีไม่พ้นการเล่น แต่การเล่นก็มีด้วยกันหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นในลักษณะที่เคลื่อนไหวทั่วไป อย่างเช่น การวิ่งไล่จับ การโยนบอล หรือจะเป็นการเล่นที่ใช้จินตนาการ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเสริมสร้างพัฒนาทางจิตใจ และความคิด รวมไปถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วย
การเล่นที่ใช้จินตนาการคืออะไร
การเล่นที่ใช้จินตนาการ (imaginative play) คือ รูปแบบการเล่นที่เด็ก ๆ จะใช้จินตนาการในการสมมติตัวละคร สถานที่ หรือสถานการณ์ใดขึ้นมา ตามความคิด ความสนใจของพวกเขา โดยไม่มีกรอบจำกัดทางความคิด พวกเขาสามารถจะเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น ไม่ว่าจะสมมติตัวเองเป็นคุณหมอรักษาหมาแมว หรือแม้กระทั่งเป็นแม่มดน้อย ฮีโร่จิ๋วที่กำลังช่วยกอบกู้โลก
How to ส่งเสริมการเล่นที่ใช้จินตนาการ
1. เริ่มจากความสนใจของเด็ก ความสนใจของเด็กถือเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเด็ก ๆ ได้เล่นในสิ่งที่ตนสนใจก็จะทำให้สนุกมากยิ่งขึ้น และอาจให้เด็ก ๆ นำของเล่นของตัวเองมาเล่น หรือชวนให้ประดิษฐ์ของเล่นง่าย ๆ ไปด้วยกัน นอกจากจะประหยัดงบประมาณแล้ว ยังเปิดโอกาสให้มีความคิดสร้างสรรค์ด้วย
2. เปิดอิสระให้เด็กได้เล่นมากที่สุด ระหว่างการเล่น ควรให้เด็กได้เล่นอย่างเต็มที่ หลีกเลี่ยงการห้ามหรือจำกัดความคิดของเด็ก โดยเฉพาะในบริบทที่เป็นชีวิตประจำวัน
3. ครูร่วมเล่นไปพร้อมกับนักเรียน การเล่นไปพร้อมกับเด็ก นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันแล้ว ครูยังใช้ช่วงเวลานี้ชวนนักเรียนพูดคุย ชวนคิด เรียนรู้มุมมองของพวกเขาได้
4. สร้างสถานการณ์จำลอง พ่อแม่และครูสามารถสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อให้เด็กได้ฝึกเล่นโดยใช้จินตนาการ อาทิ ร้านอาหาร ซึ่งสามารถจัดการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ รับบทบาทสมมติเป็นทั้งเจ้าของร้าน หรือผู้ซื้อได้ นอกจากจะได้เล่นสนุก ยังสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ด้วย อย่างเช่น ทักษะทางคณิตศาสตร์ สามารถให้เด็กคำนวณจำนวนจาน ถ้วย ช้อนที่ลูกค้าต้องการ การคิดราคาอาหารทั้งหมด หรือจะเป็นทักษะทางด้านวิศวกรรม สามารถให้เด็กสร้างร้านอาหารโดยใช้กล่องกระดาษ หรือวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ที่ไม่เป็นอันตราย
ประโยชน์ของการเล่นที่ใช้จินตนาการมีอะไรบ้าง
1. ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
การที่พ่อแม่หรือครูเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นโดยใช้จินตนาการ จะทำให้พวกเขากล้าคิดในมุมที่แตกต่าง กล้าจินตนาการในสิ่งที่มันอาจจะเป็นจริงได้ยาก โดยธรรมชาติเด็ก ๆ จะมีการเชื่อมโยงความคิดสร้างสรรค์เข้ากับประสบการณ์ที่พวกเขาเคยพบเจอ เช่น พวกเขาอาจจะสมมติเป็นคุณครูที่กำลังสอนนักเรียนเอเลี่ยนที่มาจากดาวดวงอื่น ในตัวอย่างนี้เด็กอาจจะนึกถึงตอนอยู่ที่โรงเรียน พวกเขาจดจำได้ว่าครูมีหน้าที่สอนหนังสือ และเชื่อมโยงกับฉากในหนังซูเปอร์ฮีโรที่เพิ่งดูไป ก็ช่วยให้การเล่นมีสีสันและสนุกสนานขึ้น
2. พัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
เมื่อได้เล่นร่วมกับเด็กคนอื่น ๆ จะสนับสนุนให้เด็กได้ฝึกสร้างความสัมพันธ์ รับฟังความคิดเห็นของเพื่อน เนื่องจากในสถานการณ์ที่ต้องเล่นร่วมกัน เด็กจะไม่สามารถยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางได้อีกต่อไปแล้ว เด็กต้องเคารพกฎกติกาของกลุ่ม และปรับตัวเข้ากับเพื่อนให้ได้
3. เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)
การเล่นที่ใช้จินตนาการกับเพื่อน สามารถสร้างสถานการณ์ที่จะทำให้เด็กทุกคนไม่ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการเสมอไป อาทิ การเล่นอัศวินผู้พิทักษ์โลก อาจจะมีเด็กมากกว่า 1 คนที่อยากจะเป็นผู้นำอัศวิน แต่ในเมื่อต้องมีผู้นำเพียงคนเดียว เด็กที่ไม่ได้รับในสิ่งที่ต้องการก็จะต้องเรียนรู้วิธีการจัดการกับอารมณ์ของตนเองเพื่อให้เล่นต่อไปได้ หรือปรับบทบาทให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง ซึ่งพ่อแม่หรือครูสามารถสอนให้เด็กรู้ว่าอารมณ์มีทั้งด้านลบและบวก พร้อมทั้งสอนวิธีจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ เพื่อที่เด็กจะได้เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกของตนและคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น
การเล่นที่ใช้จินตนาการนั้นไม่เพียงแต่มอบความสนุกให้แก่เด็ก ๆ แต่ยังสามารถพัฒนาทักษะให้เด็กได้หลายด้าน ดังนั้น ผู้ปกครองและครูควรเพิ่มพื้นที่การเล่นให้เด็ก และปล่อยให้เด็กได้เล่นอย่างมีอิสระ เนื่องจากในช่วงวัยนี้ การเล่นนั้นสำคัญยิ่งกว่าทักษะวิชาการ ฉะนั้นในการออกแบบกิจกรรมในห้องเรียนและกิจกรรมครอบครัว หากนำการเล่นเสริมจินตนาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการใช้เวลาร่วมกันย่อมสร้างโอกาสในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้เป็นอย่างดี
แหล่งอ้างอิง
Ellis, T. (n.d.). The benefits of imaginative play. Therapy Focus. https://therapyfocus.org.au/on-the-blog/the-benefits-of-imaginative-play/ Sabin, M. (2022, April 4). Facilitating learning through imaginative play. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/facilitating-learning-through-imaginative-play
Teachers as learners. (2558, 26 มกราคม). คำแนะนำในการประยุกต์ ตอน การจัดการและปรับเปลี่ยนมัมบทบาทสมมติ (ปฐมวัย) [Video]. YouTube. https://youtu.be/EsIarOzqxg0
TheAsianparent Editorial Team. (ม.ป.ป.). กิจกรรมเสริมสร้างจินตนาการ เล่นอย่างไรให้ลูกน้อยมีจินตนาการ. TheAsianparent. https://th.theasianparent.com/เสริมสร้างจินตนาการ-เพื่อลูกเก่งและแกร่ง
ชลธิชา จันทร์วิบูลย์. (2564, 11 กันยายน). การเล่นบทบาทสมมติ สำคัญต่อพัฒนาการของเด็กอย่างไร. Hello คุณหมอ. https://hellokhunmor.com/พ่อแม่เลี้ยงลูก/เด็กวัยหัดเดินและเด็กก่อนวัยเรียน/การเล่นบทบาทสมมติ-พัฒนาการของเด็ก/