Knowledge
รับมือสารพันปัญหาของเด็กนักเรียน
3 years ago 5126เรียบเรียงโดย จิราพร เณรธรณี
เมื่อนักเรียนแต่ละคนจากหลากหลายครอบครัวที่มีความแตกต่างกัน ต้องมาอยู่รวมกันเป็นสังคมในโรงเรียน จึงไม่แปลกที่จะเกิดปัญหามากมายให้ครูต้องช่วยแก้ไขและตักเตือนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนระดับปฐมวัยไปจนถึงนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นความจริงที่ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กมักมีปัจจัยสำคัญมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่และอิทธิพลของกลุ่มเพื่อน เช่น เด็กนักเรียนที่เป็นลูกคนเดียวมักไม่ค่อยมีเพื่อน อาจเพราะมีนิสัยเอาแต่ใจ ไม่ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น แสดงถึงลักษณะการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวที่ใส่ใจทุกความต้องการของเด็กมากเกินไป อยากได้อะไรก็พร้อมจัดหามาให้ แต่แน่นอนว่าทุกสารพันปัญหาย่อมมีวิธีรับมือเสมอ และครูสามารถนำวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับตัวเด็กไปปรับใช้ร่วมกับการจัดการเรียนการสอนได้ ดังนี้
การเข้าสังคมไม่เป็น
มักเกิดกับนักเรียนที่เป็นลูกคนเดียว หรือมีปัญหามาจากที่บ้าน ดังนั้น ครูต้องคอยสังเกตพฤติกรรมทั้งในและนอกชั่วโมงเรียน เมื่อพบปัญหาดังกล่าว ครูสามารถแก้ไขได้โดยเน้นการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน ให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่ม หรือครูใช้วิธีการพูดคุยในเรื่องที่นักเรียนคนนั้นสนใจ เพื่อให้นักเรียนรู้สึกเป็นกันเอง มีความสุขที่มีเพื่อนพูดคุย และอาจนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนคนอื่น ๆ ด้วย
การไม่รู้จักแบ่งปัน
ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ครูมักพบในห้องเรียนเสมอ ครูอาจใช้วิธีการพูดให้นักเรียนมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (empathy) เช่น การพูดให้นักเรียนเกิดจิตสำนึกและมองสะท้อนกลับมายังตัวเองว่า หากเป็นตัวเราที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือกำลังขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เพื่อนอีกคนมี เราจะรู้สึกอย่างไร เราอยากให้เพื่อนมีน้ำใจต่อเราไหม นั่นเพราะการแบ่งปันหรือการมีน้ำใจเป็นทักษะหนึ่งที่จำเป็นในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและให้แรงจูงใจเชิญบวก เช่น คำชม ทุกครั้งเมื่อนักเรียนมีพฤติกรรมแบ่งปัน
ความวิตกกังวล
เด็กนักเรียนที่ภายนอกมีหน้าตายิ้มแย้ม ดูเป็นปกติ แต่ภายในอาจบอบช้ำจากปัญหาที่บ้าน เช่น พ่อแม่ทะเลาะกัน มีปัญหากับพ่อแม่ ปัญหาด้านฐานะครอบครัว ฯลฯ คงเป็นเรื่องยากที่ครูจะทราบถึงปัญหาของเด็กได้จากการมองเพียงภาพรวมภายนอก ครูจึงต้องเป็นผู้ใส่ใจและคอยสังเกตนักเรียนทั้งกิริยาท่าทางและคำพูด เมื่อพบว่านักเรียนมีความวิตกกังวลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ครูอาจเริ่มช่วยแก้ไขด้วยการคอยให้กำลังใจเด็ก ซึ่งครูจำเป็นต้องรู้จักกลวิธีในการพูดและสร้างความไว้วางใจแก่นักเรียนด้วย
ฉลาดเกินไป
นักเรียนที่ฉลาดมากกว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียนอาจพบปัญหาอื่นตามมา เช่น การเข้ากับเพื่อนไม่ได้ เพราะมีพัฒนาการทางความคิดมากกว่าเพื่อนคนอื่น ครูจึงต้องเข้าใจถึงปัญหานี้ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และเข้าไปพูดคุยกับนักเรียนให้มากขึ้น เพื่อรับฟังปัญหาและชี้แนะการปรับตัวให้เด็กเข้ากับผู้อื่น ไม่ควรปล่อยให้เขารู้สึกแปลกแยก แต่ต้องช่วยนำทางให้นักเรียนเห็นว่าความฉลาดของเขา ไม่ได้เป็นสิ่งปิดกั้นเขาจากเพื่อนและสังคม และเขาอาจใช้ความฉลาดในทางที่ก่อประโยชน์แก่ส่วนรวมได้
นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ
ครูต้องคอยสังเกตและดูแลนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษอยู่ห่าง ๆ เพราะอาจมีบางสิ่งที่เขายังต้องการความช่วยเหลือมากกว่าเพื่อนคนอื่น เช่น ความผิดปกติทางการได้ยิน ความผิดปกติทางการมองเห็น ความล่าช้าทางการเรียนรู้ ซึ่งครูจะต้องสอนเพื่อน ๆ ในห้องให้เข้าใจถึงความแตกต่าง มีความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อน เพื่อให้นักเรียนทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและช่วยเหลือกันในการเรียนรู้ สังคมในโรงเรียนคือแหล่งรวมผู้คนหลากหลย การเผชิญหน้ากับสารพันปัญหาจึงเป็นสิ่งที่ทั้งนักเรียนและครูต่างหลีกหนีไม่พ้น ครูจึงต้องคอยสังเกตและแก้ไขปัญหาด้วยทักษะการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ การใช้ใจและการรับฟังของครูสอนนักเรียนให้สามารถอยู่ในสังคมที่มากด้วยปัญหาได้อย่างมีคุณภาพ และมีความสุข
แหล่งอ้างอิง
บุญชนก ธรรมวงศา. สังคมดี เพราะเด็กรู้คิดและคิดดี มีคุณครูเป็นผู้ช่วยคนสำคัญ. (2562). [ออนไลน์].เข้าถึง ได้จาก https://thepotential.org/knowledge/teaching-children-to-think/ (สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2564)
Trainkru. เข้าสังคมไม่เป็น ไม่รู้จักแบ่งปัน! 5 ปัญหาพบบ่อยของเด็กในรั้วโรงเรียน!!! รวมทั้งวิธีแก้ไข. (2562). [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://www.trainkru.com/เข้าสังคมไม่เป็น-ไม่รู้/สาระความรู้/ (สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2564)