Knowledge

9 เรื่องที่ผู้นำทางการศึกษาต้องตั้งคำถาม  เพื่อรับมือกับการระบาดของ COVID-19 ที่ไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร

9 เรื่องที่ผู้นำทางการศึกษาต้องตั้งคำถาม เพื่อรับมือกับการระบาดของ COVID-19 ที่ไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร

 4 years ago 4773

แปล: ธนิสรา สุทธานันต์
เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
ภาพ: กชกร มั่งคงเจริญกิจ

          แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในบ้านเราจะไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ทุกแวดวงธุรกิจต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด สำหรับแวดวงการศึกษาเอง เมื่อมองอีกแง่หนึ่ง สถานการณ์นี้ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะมองถึงการปฏิรูปในระยะยาว เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้แบบทางไกลให้กับอนาคตที่ยังไม่มีจุดสิ้นสุด 9 ประเด็นคำถามเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องรับมือสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นกับธรรมเนียมปฏิบัติแบบเดิมของโรงเรียน

1. หลักสูตร
          เมื่อเกิดโรคระบาดเราจะเห็นว่าโอกาสที่ครูจะสร้างสรรค์หลักสูตรที่มีความหลากหลาย และมีความแตกต่างเฉพาะบุคคลนั้นมีมากขึ้น ครูอาจต้องทำงานหนักขึ้น หากต้องแบ่งกลุ่มให้นักเรียนสลับวันกันมาเรียน แต่ไม่ว่าโรงเรียนจะเลือกใช้วิธีบริหารจัดการอย่างไร สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราต้องใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาก็คือ ความเสมอภาค

2. การจัดสรรทรัพยากร
          การเรียนรู้ และการทำงานส่งครูแบบทางไกลอาจไม่ใช่ปัญหาสำหรับนักเรียนระดับมัธยมมากเท่าไร แต่สำหรับนักเรียนปฐมวัยไปจนถึงระดับ ป.2 จัดเป็นนักเรียนกลุ่มเสี่ยงเมื่อต้องเรียนรู้ในรูปแบบนี้ ผู้ปกครองจึงต้องคอยดูแล และให้คำแนะนำในกระบวนการเรียนรู้อย่างใกล้ชิด ส่วนโรงเรียนก็ต้องสนับสนุนครอบครัวที่มีนักเรียนอยู่ในช่วงวัยนี้ด้วยการจัดให้ชั้นเรียนออนไลน์มีขนาดเล็กลง หรือใช้แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่เป็นมิตรกับนักเรียนมากขึ้น รวมไปถึงการแจกหนังสือ กระดานไวท์บอร์ด และเครื่องมืออย่างกล่องตัวเลขให้กับครอบครัวของนักเรียนด้วย

3. ภาคเรียนฤดูร้อน
          ในช่วงที่เกิดโรคระบาดอาจทำให้นักเรียนเกิดภาวะความรู้ถดถอยเพิ่มขึ้นทวีคูณ โรงเรียนในประเทศต่างๆ ที่ยังอยู่ในช่วงฤดูร้อนจึงออกโครงการเพื่อใช้เวลาช่วงนี้และช่วงปิดภาคเรียนให้เป็นประโยชน์ โรงเรียนต้องพูดคุยกันเพื่อหาโอกาสต่างๆ ให้นักเรียนนอกเหนือจากการเรียนผ่านออนไลน์

4. การพัฒนาทางวิชาชีพ
          การอบรมเพื่อพัฒนาทางวิชาชีพอาจมีความจำเป็นต้องปรับให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์เช่นเดียวกัน แต่ควรจัดหลักสูตรออนไลน์ตามความต้องการของครูแต่ละคน หรือ Webinar ที่มุ่งเน้นไปที่ความต้องการเฉพาะของครู

5. ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี หรือ Techpertise
          แม้ว่าครูจะไม่ค่อยถนัดเรื่องเทคโนโลยีมากเท่าไร แต่เมื่อสถานการณ์โรคระบาดพลิกผันรูปแบบการเรียนรู้ให้เป็นออนไลน์มากขึ้น นี่คือโอกาสทองในการเพิ่มพูนทักษะทางด้านเทคโนโลยี ครูและครอบครัวของนักเรียนอาจศึกษาจากช่องทางออนไลน์ต่างๆ รวมถึงเข้าฟัง Webinar เพื่อฝึกการใช้งานแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ ในอนาคตหากโรงเรียนต้องมีการจ้างบุคลากรเพิ่ม อาจต้องมีการพิจารณาคนที่มีประสบการณ์หรือมีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีด้วย

6. การบำบัด
          การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพผ่านโทรศัพท์หรือ Telehealth จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการให้คำปรึกษานักเรียนและครอบครัวที่เผชิญกับความบอบช้ำต่างๆ โรงเรียนต้องมีผู้ให้คำแนะนำหรือมีที่ปรึกษาสำหรับครูด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังต้องนำศาสตร์การสอนที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อรับมือกับความบอบช้ำต่างๆ มาเป็นตัวกำหนดแนวทางการทำงานด้วย

7. เรียนรู้แบบเสมือนจริง VS เรียนรู้แบบตัวต่อตัว
          บิล เกตส์ ยอมรับว่าเด็กๆ จำเป็นต้องมีปฎิสัมพันธ์ทางสังคมแบบตัวต่อตัวที่โรงเรียน แต่ตราบใดที่เรายังต้องอยู่กับ COVID-19 การเรียนแบบตัวต่อตัวจะต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ในระดับสูงเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ลงให้ได้มากที่สุด สิ่งหนึ่งที่ผู้นำทางการศึกษาควรพิจารณา โดยเฉพาะในโรงเรียนที่อาคารเรียนมีขนาดเล็ก แต่มีนักเรียนจำนวนมาก คือการสลับสับเปลี่ยนตารางเรียน การเรียนรู้แบบตัวต่อตัวอาจทำได้แค่ไม่กี่วันต่อสัปดาห์ เพื่อจำกัดการมีปฏิสัมพันธ์ของตัวนักเรียน โรงเรียนอาจต้องพิจารณาเรื่องการหมุนเวียนคุณครูอย่างจริงจัง หรืออย่างน้อยก็อาจต้องรวมกลุ่มนักเรียนบางกลุ่มไว้ด้วยกัน

8. การเรียนรู้เฉพาะตัวบุคคล
          ครูต้องปรับเปลี่ยนศาสตร์การสอนในเชิงปฏิบัติ เพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการสำหรับการเรียนรู้แบบออนไลน์ของนักเรียน การปรับเปลี่ยนเฉพาะบุคคลและการเร่งการเรียนรู้จะกลายเป็นประเด็นสำคัญอันดับแรกๆ เมื่อโรงเรียนต้องรับมือกับช่องว่างทางการเรียนรู้และโอกาสต่างๆ ที่มีอยู่แล้วก่อนหน้าที่จะเกิดโรคระบาด และที่มีมากขึ้นจากสถานการณ์นี้ เทคโนโลยีอาจเป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้เฉพาะตัวบุคคล โรงเรียนต้องตั้งคำถามในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่ “เราจะทำอย่างไรเพื่อให้เด็กๆ มีความกะตือรือร้นระหว่างชั่วโมงเรียนออนไลน์ได้บ้าง” จนถึง “เราจะสอนเด็กๆ เรื่องการอ่านผ่านการสอนทางไกลได้อย่างไร” สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์นั้น นักเรียนอาจเห็นการทดลองต่างๆ ได้ง่ายขึ้น แต่ก็จะพลาดโอกาสในการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสอื่นๆ

9. การสื่อสารกับครอบครัว
          บทบาทของผู้ปกครองและครูเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเกิดโรคระบาด ผู้ปกครองจะกลายเป็นผู้ประสานงานด้านการเรียนรู้หลักของเด็กๆ พวกเขาจะกลายเป็นครู ในขณะที่ครูจะเป็นที่ปรึกษาด้านการเรียนรู้ การทำงานในลักษณะนี้ทำให้ครูเห็นภาพของสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อครอบครัวของนักเรียนต้องดิ้นรนหาเลี้ยงครอบครัว หรือรับมือกับความท้าทายอื่นๆ ภายในบ้านได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

          สถานการณ์นี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการพัฒนารูปแบบการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ปกครอง เมื่อจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและครูให้มากขึ้น เราจะสื่อสารอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เราจะสร้างพลังและศรัทธาในครอบครัวได้อย่างไร ยิ่งโรงเรียนมองผู้ปกครองเป็นพันธมิตรแทนที่จะเป็นอุปสรรคได้มากเท่าไร เราก็จะยิ่งดูแลนักเรียนในภาพรวมได้มากเท่านั้น

          แม้ว่าเรายังคาดการณ์ไม่ได้ว่าสถานการณ์โรคระบาดจะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าไร แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เรารอดพ้นและจัดการเรียนรู้ต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤต คือการรับฟังความคิดเห็น ความรู้สึกและความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครอง ผู้นำโรงเรียนและเขตพื้นการศึกษาจะต้องหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ร่วมกัน เพื่อหาแนวทางที่ดีสุดสำหรับทุกฝ่ายในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

อ้างอิง
Knips, A. (2020, June 29). 9 Big Questions Education Leaders Should Ask to Address Covid-19. Retrieved July 07, 2020, from https://www.edutopia.org/article/9-big-questions-education-leaders-should-ask-address-covid-19


TAG: #โควิด19 #การจัดการโรงเรียน #การบริหารจัดการ #โรคระบาดใหญ่ #COVID19