Knowledge
เมื่อ “วิชา” ไม่ได้พัฒนาแค่ “ความคิด”
2 years ago 2369จิราพร เณรธรณี เรียบเรียง
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้จำนวนผู้เรียนมีภาวะสุขภาพจิตแย่ลง โดยผลสำรวจของยูนิเซฟ (UNICEF) และกรมสุขภาพจิตของไทยที่สำรวจเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 183,974 คน พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึง 32% ประกอบกับการเรียนการสอนออนไลน์ในปัจจุบันมีหลายวิชาที่เพิ่มความเครียดให้กับผู้เรียน เพราะมีภาระงานที่มากและเนื้อหาที่หนัก ทำให้ในหนึ่งวันผู้เรียนต้องใช้สมองในการเรียนรู้กับวิชาต่าง ๆ แทบไม่มีเวลาหยุดพัก จนหลงลืมการดูแลสุขภาพของ “จิตใจ” ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของคนเรา จะเป็นไปได้หรือไม่หากจะมีวิชาที่ช่วยเยียวยาและสอนให้ผู้เรียนรู้จักดูแล “จิตใจ” ของตนเอง
โรงเรียนบางแห่งมีการพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์กับยุคสมัยมากขึ้น โดยมีการออกแบบหลักสูตรและเพิ่มรายวิชาเลือกที่หลากหลาย เช่น วิชารู้เท่าทันสื่อ วิชารู้ทันการเงิน และวิชาการพัฒนาบุคลิกภาพ ฯลฯ อย่างไรก็ตามวิชาเหล่านี้เป็นการเปิดแนวทางการเรียนรู้ของคนยุคใหม่ เพราะการเรียนรู้ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบ แต่เป็นการเรียนเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิตและนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง
วิชาต่าง ๆ ล้วนมีส่วนในการพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียน “คิดเป็น” อย่างไรก็ตามการพัฒนาเพียงความคิดอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะปัญหาในชีวิตของผู้เรียน โดยเฉพาะในช่วงนี้ก็คือ ปัญหาสุขภาพจิต ดังนั้น ผู้เขียนจึงอยากสนับสนุนให้โรงเรียนหันมาสนใจปัญหานี้ผ่านการพัฒนาวิชาเรียน โปรแกรมสนับสนุน หรือกิจกรรมอื่นที่เหมาะสมกับบริบทที่หลากหลาย ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างแนวทางการดูแลและบำบัดจิตใจของผู้เรียนในประเทศสหรัฐอเมริกา 2 โปรแกรมหลัก ดังนี้
1. โปรแกรมการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์
เนื่องจากทั้งสังคมและอารมณ์มีความเกี่ยวข้องกัน ดังนั้นการสอนเกี่ยวกับการดูแลและบำบัดสุขภาพจิตได้ด้วยตนเองก็เปรียบเสมือนกับการสอนให้ผู้เรียนมีทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วย ก่อนที่โรงเรียนในสหรัฐอเมริกาจะมีโปรแกรมดังกล่าวเข้ามาในหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน ทางโรงเรียนได้จัดทักษะที่เกี่ยวข้องให้กับบุคลากร รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่อยู่ในโรงเรียนด้วย โรงเรียนได้จัดโปรแกรมนี้ให้กับผู้เรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาผ่านการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกันตามพฤติกรรมที่แสดงออกตามช่วงวัย ยกตัวอย่าง ในระดับประถมศึกษาก็จะมีการสอนเกี่ยวกับการระบุและการจัดการความรู้สึกเชิงลบ การนั่งสมาธิแล้วกำหนดลมหายใจเข้า – ออก
2. โปรแกรม TRAILS
โปรแกรม TRAILS คือ โปรแกรมสำหรับช่วยลดภาวะซึมเศร้าและช่วยพัฒนาทักษะด้านการเผชิญปัญหาชีวิตของผู้เรียน โดย TRAILS เป็นศูนย์บริการทางสุขภาพที่คอยให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพจิตทั้งผู้เรียนและบุคลากรในโรงเรียน โดยมีแนวทางการดำเนินการ 3 ระดับดังนี้
ระดับที่ 1 การศึกษาและการให้ความรู้อย่างครอบคลุมทั้งผู้เรียนและบุคลากรในโรงเรียน เนื่องจากหากทุกคนในโรงเรียนมีสุขภาพจิตที่ดี ก็จะเอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขด้วย โดยทางโรงเรียนจะการจัดการเรียนการสอน เรื่องการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ (SEL) ควบคู่กับการเรียนรู้วิชาการทั่วไป โดยเน้นให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง
ระดับที่ 2 การเข้าไปช่วยเหลือในเบื้องต้น สำหรับผู้เรียนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต เป็นการบำบัดพฤติกรรม (CBT) และสติด้วยการฝึกอบรม และเสริมด้วยการใช้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตจากผู้เชี่ยวชาญ
ระดับที่ 3 การจัดการความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย สำหรับผู้เรียนที่อยู่ในภาวะวิกฤต เป็นการประสานงานด้านการดูแลระหว่างโรงเรียน ครอบครัว หน่วยงานด้านสุขภาพจิตชุมชน และโรงพยาบาล มีการใช้เครื่องมือคัดกรองความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายให้กับผู้เรียนขั้นวิกฤตทุกคน
จากโปรแกรมทั้ง 2 โปรแกรมล้วนมีวัตถุประสงค์เหมือนกัน คือช่วยผู้เรียนดูแล บำบัด และส่งเสริมสุขภาพจิตซึ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ สิ่งสำคัญคือต้องสอนให้ผู้เรียนเข้าใจอารมณ์ของตัวเองเสียก่อน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการเลือกวิธีดูแล บำบัด และส่งเสริมได้อย่างตรงจุด อย่างไรก็ตาม โรงเรียนควรเริ่มต้นด้วยการดูแลและบำบัดสุขภาพของครู รวมทั้งบุคลากรในโรงเรียน เพื่อเป็นหลักในการนำวิธีดำเนินการมาประยุกต์กับผู้เรียน ดังนั้น หากมีวิชาว่าด้วย “จิตใจ” ก็จะสามารถตอบโจทย์พัฒนาผู้เรียนให้ “เก่ง ดี มีสุข” ได้อย่างแท้จริง
รายการอ้างอิง
กรมสุขภาพจิต. (2564, 12 ตุลาคม). ยูนิเซฟ-กรมสุขภาพจิต ชี้โควิด-19 ทำสุขภาพจิตเด็กไทยแย่ต่อเนื่อง. https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=31160
นงลักษณ์ อัจนปัญญา. (2565, 23 มกราคม). โรงเรียนในอเมริกาหันพึ่งแนวทาง “บำบัด” เยียวยาจิตใจเด็กนักเรียน. กสศ. https://www.eef.or.th/news-overwhelmed-kids-240122/
TRAILS. (2020, May 29). Self-care during COVID-19 for school. https://myemail.constantcontact.com/TRAILS-self-care-webinar-recording-available.html?soid=1126691578842&aid=evI_f3Za2Ds
TRAILS. (n.d.). About TRAILS. https://trailstowellness.org/about