Knowledge

สงสัยกันหรือไม่ ช่วงปิดเทอม นักเรียน Home School ทำอะไรอยู่

สงสัยกันหรือไม่ ช่วงปิดเทอม นักเรียน Home School ทำอะไรอยู่

 2 years ago 2452

อาทิตยา ไสยพร

         หลังจากที่เปิดเรียนกันมานาน ช่วงเวลาปิดภาคการศึกษาเป็นสิ่งที่นักเรียนในโรงเรียนเฝ้ารอ บางคนรอที่จะได้หยุดพักเพื่อทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ บางคนใช้ช่วงเวลาในวันหยุดเรียนเตรียมพร้อมสำหรับเนื้อหาล่วงหน้าของการเรียนระดับชั้นถัดไป เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าแล้วการเรียนรู้ของนักเรียนผู้ไม่เคยไปโรงเรียนหรือศึกษาแบบ Home School นักเรียนกลุ่มนี้เขาทำอะไรกัน มีการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องแบบไม่หยุดพักหรือเปล่า และการเรียนรู้ของเขาเป็นอย่างไร

Home School ออกแบบการเรียนรู้อย่างไรได้บ้าง
         การจัดการศึกษาตามสไตล์ Home School ออกแบบการจัดการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ ในที่นี้ขอจัดเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ รูปแบบอิงตามโครงสร้างหลักสูตร มีการปิดภาคการศึกษาเหมือนการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบโรงเรียน และรูปแบบที่ไม่อิงตามโครงสร้างหลักสูตร ไม่มีการปิดภาคการศึกษา

1. รูปแบบ Home School ที่มีการปิดเทอม
         ในที่นี้ก็คือ Home School ที่จัดในรูปแบบ Traditional Homeschooling แนวทางนี้บางครั้งเรียกว่า “school-at-home” โดยใช้รูปแบบการสอนเหมือนในโรงเรียนทุกอย่างเพียงแค่ไม่ไปโรงเรียนและเรียนในห้องเรียนสี่เหลี่ยม เป็นวิธีที่นิยมในหมู่ผู้ปกครองที่ต้องการทำการเรียนการสอนให้คุ้นชินกับการเรียนแบบในระบบ ไม่จำเป็นต้องวางแผนการจัดการเรียนการสอนด้วยตนเองเพราะมีหลักสูตรมาให้ตามศูนย์การเรียนรู้ที่ได้ลงทะเบียนหรือหลักสูตรที่ได้ลงทะเบียนไว้ ตัวอย่างเช่น ศูนย์การเรียนรุ่งอรุณหรือศูนย์การเรียนรู้ที่ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ สถาบันการศึกษาทางไกล การเรียนออนไลน์หลักสูตรของต่างประเทศก็ได้
         ข้อดีของการทำ Home School แบบนี้ คือ ผู้ปกครองสามารถมั่นใจได้ว่าหลักสูตรการเรียนการสอนนั้นจะเป็นระบบ พร้อมกับการวัดประเมินผลและแผนการจัดกิจกรรมที่มีความชัดเจน อย่างไรก็ดี ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าไม่ได้แตกต่างไปจากกับการศึกษาในโรงเรียนทั่วไป ทำให้อาจขาดความยืดหยุ่นไปบ้าง ส่งผลต่ออิสรภาพที่ผู้เรียนจะได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตนสนใจ

2. รูปแบบ Home School ที่ไม่มีการปิดภาคการศึกษา
         การที่ไม่ได้อิงตามโครงสร้างหลักสูตรไม่ใช่เรียนอะไรก็ได้ แต่เป็นการเรียนรู้ที่จัดขึ้นตามความต้องการของครอบครัวโดยครอบครัวเป็นผู้วางแผนการศึกษาเองตามความต้องการ และทำการยื่นขอจดทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตามพื้นที่ที่สังกัด ถึงแม้จะเป็นการจัดการศึกษาตามแผนของครอบครัวไม่ได้อิงตามโครงสร้างหลักสูตร อย่างไรก็ตามจะต้องทำการขออนุญาตและจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเด็ก Home School ที่จัดการศึกษาในรูปแบบนี้จะได้รับวุฒิรับรองการศึกษา ตัวอย่างรูปแบบของ Home School ที่ไม่มีการปิดภาคการศึกษา มีดังนี้
         ตัวอย่างที่ 1 การจัดการศึกษาด้วยรูปแบบ Unschooling การเรียนรู้เกิดจากการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ยึดหลักการเรียนรู้คือการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านหรือนอกบ้านก็เรียนรู้ได้หมด ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้เรียนเองโดยมีพ่อแม่เป็นคนสนับสนุนและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ลงมือทำจริง ตัวอย่าง เรียนรู้การทำขนมโดยให้ผู้เรียนออกแบบว่าอยากทำขนมอะไร ใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง ระหว่างดำเนินการเกิดอุปสรรคอะไร มีวิธีการแก้ไขอย่างไร ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเป็นอย่างไร ให้ผู้เรียนได้คิดและตกผลึกความรู้จากการลงมือทำด้วยตัวเอง
         ตัวอย่างที่ 2 การจัดการศึกษาด้วยรูปแบบ Montessori (มอนเตสซอรี่) เป็นการศึกษาที่เน้นความพร้อมในการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ยึดหลักการเรียนรู้ที่ไม่กำหนดอายุ ขึ้นอยู่กับความพร้อมในการเรียนรู้และศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน เป็นที่นิยมในการจัดการศึกษาในระดับชั้นอนุบาลที่ครอบครัวไม่ต้องการให้ลูกเรียนเน้นวิชาการ แต่อยากให้เน้นการเรียนรู้ด้วยการเล่นเป็นหลัก ขอนำเสนอแผนการศึกษาในช่วงอนุบาลของคุณแม่ท่านหนึ่ง โดยจัดตาราง Home School ใน 1 วัน ประกอบไปด้วย 6 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์ กิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมเสรี กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเกมการศึกษา ซึ่งเน้นส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้านของลูก ได้แก่ ด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา เช่น ตัวเลข ต้นไม้ ไข่ บ้าน รถ เด็กดีวันนี้ เป็นต้น โดยคุณแม่ได้ตั้งชื่อเรื่องให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการสอนในแต่ละวัน ตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นว่าคุณแม่เน้นการเรียนรู้ของลูกผ่านการเล่นและกิจกรรมเป็นหลักซึ่งเหมาะสมกับช่วงวัยระดับอนุบาลที่ยังไม่มีสมาธิจดจ่อได้เป็นเวลานาน
         ข้อดีของการทำ Home School แบบนี้ คือ ผู้ปกครองมีอิสระในการออกแบบการเรียนรู้ได้ตามความต้องการและผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยไม่มีการบังคับ ในส่วนของข้อจำกัดที่เห็นได้ชัดคือในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถประมาณการได้แน่ชัดว่าจะต้องเตรียมงบประมาณในการจัดการเรียนรู้เท่าไหร่ รวมถึงการวัดประเมินผลและแผนการจัดกิจกรรมที่ไม่มีความชัดเจน
         จากคำอธิบายข้างต้นจะเห็นได้ว่า การจัดการศึกษาแบบ Home School สามารถเลือกได้หลากหลาย มีรูปแบบที่เหมือนกับการศึกษาในระบบที่มีการกำหนดระยะเวลาในการเรียนและปิดภาคการศึกษา และรูปแบบที่ต่างจากในระบบที่ไม่กำหนดระยะเวลาในการเรียน สะท้อนว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่และทุกเวลา ไม่มีการกำหนดการเปิดปิดภาคการศึกษา

อ้างอิง
Jiratchaya Chaichumkhun. (2563, 30 มิถุนายน). ออกแบบการศึกษาตามใจนักเรียน การเรียนแบบ Home school ที่ไม่จำกัดการเติบโตของเด็ก. The Matter. https://thematter.co/social/education/home-school-interview/113957

Owl Campus. (2564, 9 กรกฎาคม). หลักสูตรมอนเตสซอรี่ Montessori. https://owlcampus.com/montessori-curriculum/

Poudel, D. (2019, September 26). Pros and Cons of Traditional Schools. Honest Pros and cons. https://honestproscons.com/pros-and-cons-of-traditional-schools/

Roong Aroong Learning Center. (n.d.). ศูนย์การเรียนรุ่งอรุณ. https://www.ralc.ac.th/

Time4learning. (n.d.). Types of Homeschooling. https://www.time4learning.com/homeschooling-styles/

เปาลี่. (2563, 16 เมษายน). Home school ช่วงปิดเทอม ยุคโควิด19. Trueid. https://intrend.trueid.net/article/home-school-ช่วงปิดเทอม-ยุคโควิด-19-trueidintrend_110817


TAG: #โรคระบาดใหญ่ #COVID-19 #โควิด19 #การจัดการเรียนการสอน #Home School #การเรียนการสอนออนไลน์ #ผู้ปกครอง #ชุมชนแห่งการเรียนรู้ #กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน #ปิดเทอม #School-at-home #Traditional Homeschooling #Unschooling #Montessori