Knowledge
ซุบซิบซุบซิบ.. เสียงรบกวนส่งผลต่อการเรียนรู้จริงหรือ?
3 years ago 2773แปลและเรียบเรียง: ณัฐมนต์ เกษมสุข
“นักเรียนอย่าคุยแข่งครู”
“อ้าว เงียบ ๆ หน่อย”
“ครูไม่ได้ยินที่เพื่อนกำลังพูดเลย เบาลงหน่อยได้ไหม”
ประโยคเหล่านี้คงเป็นประโยคที่ชินปากสำหรับคุณครูทุกท่านไปแล้ว นอกจากเสียงของเด็ก ๆ ที่กำลังพูดคุยกันแล้ว บางโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย หรืออยู่ใกล้แหล่งที่มีเสียงดังรบกวนตลอดเวลา เช่น สถานีรถไฟ ตลาด ถนนใหญ่ อาจได้รับผลกระทบจากเสียงเหล่านั้น
ศาสตราจารย์ Bridget Shield ผู้เชี่ยวชาญด้านเสียง จาก London South Bank University ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับประถมศึกษา อายุระหว่าง 7-11 ปี ในเขตกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผลการศึกษาพบว่าเสียงรบกวนจากภายนอกส่งผลกระทบด้านลบต่อสมรรถนะของผู้เรียน ส่วนเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นภายในห้องเรียนส่งผลกระทบต่อผลการสอบของผู้เรียนอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นการศึกษาดังกล่าวยังพบว่าระดับเสียงที่ดังเกินมาตรฐานส่งผลต่อการรับรู้ทั้งในการอ่านเขียน และการคิดคำนวณอีกด้วย
เช่นเดียวกับภาควิชาจิตวิทยาการรู้คิด และพัฒนาการ University of Kaiserslautern ประเทศเยอรมนี ที่ได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบของเสียงรบกวนต่อการรู้คิดของผู้เรียนทั้งฉับพลันและระยะยาว ผลการศึกษาพบว่าเสียงรบกวนจะส่งผลกระทบต่อการพูดและการฟังของผู้เรียนในระยะฉับพลัน ในระยะยาวเสียงรบกวนและเสียงสะท้อนภายในห้องเรียนส่งผลให้ผู้เรียนมีสมรรถนะในทักษะการสื่อสารที่ต่ำลง
จะเห็นได้ว่าเสียงรบกวนนั้นส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะในทักษะด้านการอ่านเขียน ดังนั้นเราจึงอยากแนะนำ 3 วิธีจัดการเสียงรบกวนในชั้นเรียน
1. ไม่บอกให้เงียบ แต่ยกมือเป็นสัญลักษณ์แทน : วิธีนี้นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดเสียงรบกวนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นวิธีที่ดึงความสนใจจากผู้เรียนทั้งห้องได้อีกด้วย
2. กำหนดเวลาเงียบ : หากไม่สามารถจัดการให้ผู้เรียบเงียบตลอดทั้งคาบได้ ครูอาจจะทำข้อตกลงกำหนดเวลาเงียบกับผู้เรียน โดยระยะเวลาอาจจะเป็น 10-15 นาที ตามความเหมาะสม
3. ทำความเข้าใจ และข้อตกลงในชั้นเรียน : ครูอาจจะนำเสนอผลกระทบต่อเสียงรบกวนให้นักเรียนฟัง และร่วมกันสร้างข้อตกลงในชั้นเรียน
เคล็ดลับทั้ง 3 ข้อง่าย ๆ นี้จะทำให้คุณครูประหยัดพลังงานในการตะโกนบอกให้เงียบ เพิ่มสมาธิให้แก่ผู้เรียนและผู้สอน ลดเสียงรบกวนภายในชั้นเรียน และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนอีกด้วย
อ้างอิง
Shield, B. M., & Dockrell, J. E. (2008). The effects of environmental and classroom noise on the academic attainments of primary school children. The Journal of the Acoustical Society of America, 123(1), 133–144. https://doi.org/10.1121/1.2812596
Klatte Maria, Bergstroem Kirstin, Lachmann Thomas. (2013). Does noise affect learning? A short review on noise effects on cognitive performance in children. Frontiers in Psychology, 576.