Knowledge
รีวิว(review) เว่อร์ อย่าเผลอคำลวง
3 years ago 1785เรียบเรียงโดย จิราพร เณรธรณี
ระวัง! ตกเป็นเหยื่อของนักการตลาดออนไลน์ไม่รู้ตัว เคยเป็นกันไหมคะ เวลาเราจะตัดสินใจซื้อสินค้า หรือบริการอย่างใดอย่างหนึ่งก็มักจะเข้าไปดูรีวิวในสื่อต่าง ๆ เช่น ยูทูป (YouTube) เฟซบุ๊ก (Facebook) กูเกิ้ล (google) โดยเฉพาะในกลุ่มทำงาน ซึ่งก็รวมกลุ่มครูด้วยเช่นกัน และยังมีกลุ่มวัยรุ่น วัยเรียนอีกจำนวนมากที่ยังต้องการการรีวิวจากกลุ่มบล็อกเกอร์ (Blogger) ยูทูปเบอร์ (Youtuber) กลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่มีอิทธิพลทางโซเชียลหรือเรียกว่า อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)
จากพฤติกรรมตัวอย่างของวัยรุ่นหญิงที่เมื่อต้องการซื้อครีม เพื่อบำรุงผิวหน้าให้กระจ่างใส พบว่าส่วนใหญ่วัยรุ่นกลุ่มดังกล่าวก็จะเข้าไปดูกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์รีวิว โดยกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้จะมีรูปแบบสื่อที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้ามาติดตาม นอกจากนี้ ยังมีกลวิธีการพูดโน้มน้าวให้น่าเชื่อถือ ซึ่งครูผู้สอน และผู้ปกครองควรเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการหลงเชื่อโดยขาดวิจารณญาณของวัยรุ่น เพื่อป้องกันให้วัยรุ่นปลอดภัยจากการเลือกซื้อสินค้า หรือบริการในสื่อออนไลน์ โดยมีวิธีการสอน และแนะนำ ดังนี้
1. การพูดแนะนำให้เห็นถึงอิทธิพลทางการค้าที่แอบแฝงในการรีวิว อาทิ sponsorship โดยอาจจะตั้งคำถามให้วัยรุ่นคิดว่า กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ที่รีวิวสินค้า หรือบริการนั้น ๆ เขาจะได้อะไรจากการรีวิวสินค้า หรือบริการที่ไม่ใช่ของตน แล้วให้วัยรุ่นคิดว่า สิ่งที่แอบแฝงในการรีวิวสินค้า หรือบริการแต่ละครั้งอาจมีผลประโยชน์ต่อกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ที่รีวิวสินค้า หรือบริการ
2. การยกตัวอย่างผลเสีย หรือข้อบกพร่องจากสินค้า หรือบริการเหล่านั้น อาทิ ความสิ้นเปลือง สินค้า หรือบริการบางอย่างไม่ได้มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่เป็นเพียงวัตถุนิยม ที่เมื่อมีกระแสขึ้น ก็ต้องหายไปตามเวลา ยกตัวอย่างในกรณีนี้ เมื่อวัยรุ่นอยากได้มือถือรุ่นใหม่ ที่มีคนรีวิวว่าถ่ายรูปสวยเหมือนมีกล้องติดตัว เพราะจะได้ถ่ายรูปลงโซเชียลสวย ๆ โดยไม่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ทำให้ต้องตกเป็นทาสการรีวิวของกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ ครูและผู้ปกครองจะต้องชี้ให้เห็นถึงผลเสีย โดยเฉพาะความสิ้นเปลือง เพื่อให้วัยรุ่นได้ฉุกคิด และมีสติมากขึ้นในการเลือกซื้อสินค้า หรือบริการ
คำแนะนำข้างต้นเป็นแนวทางในปฏิบัติ แต่สิ่งสำคัญคือการปลูกฝังวิธีคิด ค่านิยมที่ถูกต้องให้กับนักเรียนของเรา เช่น การปลูกฝังค่านิยมในการพอเพียง เพราะเมื่อวัยรุ่นรู้จักการเลือกซื้อสิ่งของที่จำเป็น ไม่ว่าจะมีสินค้า หรือบริการที่ไม่มีความจำเป็น วัยรุ่นก็จะไม่ตกเป็นทาสของวัตถุนิยมเหล่านั้น หากเขารู้จักคิดวิเคราะห์ และมีทัศนคติที่ดี เลือกสิ่งที่เหมาะสมพอควรแก่ตนเอง นอกจากนี้ เพื่อนและผู้ปกครองที่อยู่ใกล้ชิดจึงมีอิทธิพลมากต่อทัศนคติในการใช้ชีวิตของวัยรุ่นท่ามกลางสิ่งยั่วยุในยุคแห่งวัตถุนิยมอีกด้วย
แหล่งอ้างอิง
คู่มือการเรียนการสอนรู้เท่าทันสื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในสถานศึกษา. (2562). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/33sZvpc [สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2564]
Mootie. (2554). [ออนไลน์]. สอนลูกให้เท่าทันสื่อโฆษณา. เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3y9KkzE [สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2564]
Uncategorized. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สอนลูกให้เข้าใจเรื่องอินฟลูเอนเซอร์และรู้เท่าทันการโฆษณาแฝง. เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3uytjwR [สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2564]