Knowledge

Science Delivery by NSM: ความรู้วิทย์ ส่งตรงถึงที่บ้าน

Science Delivery by NSM: ความรู้วิทย์ ส่งตรงถึงที่บ้าน

 3 years ago 2069

          การเรียนรู้นอกห้องเรียนจะเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งต่างจากการเรียนรู้ในระบบการศึกษา เพราะเชื่อว่าผู้เรียนสามารถเรียนรู้ ค้นพบ และหาความรู้ตามความสนใจด้วยตนเอง และตอบสนองแนวคิด Live long learning ซึ่งการเรียนรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ตอบสนองแนวคิดดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นที่น่าสนใจด้วยว่า ท่ามกลางการเรียนรู้วิถีใหม่ในโลกออนไลน์ ความเป็น “พิพิธภัณฑ์” ในฐานะแหล่งรวมองค์ความรู้ โดยเฉพาะความรู้ทางวิทยาศาสตร์นี้นั้น จะมีวิธีการและบทบาทอย่างไรบ้าง ซึ่งจะสรุปสาระสำคัญจากบรรยาย Workshop หัวข้อ “NSM Science Delivery สื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ออนไลน์วิถีใหม่แห่งศตวรรษที่ 21”

          พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เป็นสถานที่เพื่อการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และความสนุกสนานระหว่างการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่สนุกสนาน เหมาะสมสำหรับทุกวัย แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่มีผลกระทบต่อระบบการศึกษาโดยภาพรวม เป็นเหตุให้พิพิธภัณฑ์ไม่สามารถเปิดและรองรับผู้เรียนได้จำนวนมากพร้อม ๆ กันได้ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จึงได้สร้างโครงการการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ภายใต้ชื่อ “Science Delivery by NSM” ขึ้นเพื่อตอบรับความต้องการทางการศึกษาภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว โดยจัดสร้าง

          Science Delivery by NSM เป็นเสมือนกับแอปพลิเคชันส่งอาหาร หรือ Food Delivery แต่เป็นการนำส่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ส่งตรงถึงบ้าน ผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ Facebook fan page , Youtube Channel, TikTok, Website NSM โดยมุ่งหวังให้ประชาชนชาวไทยได้รับสาระความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่าง “สนุกสนาน” อันถือว่าเป็น “หัวใจ” ของการสร้างแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นในการเรียน เทคโนโลยี โดยในแพลตฟอร์มนี้มีเนื้อหาในรูปแบบ “รายการ” ที่หลากหลายประเภท อาทิ วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่สอดรับกับโลกปัจจุบัน ธรรมชาติวิทยา วิทยาศาสตร์รอบตัว ฯลฯ ยกตัวอย่างรายการเช่น

คิด-เช่น Science รายการที่สอนทำอาหารและเสริมความรู้ในเบื้องหลังของวัตถุดิบและการประกอบอาหาร
ก๊วนคิดส์ วิทย์แก๊ง รายการที่กลุ่มเด็กประถมฯ จะไปร่วมชมพิพิธภัณฑ์และทำกิจกรรมสนุกสนานร่วมกัน
Research Tour รายการสารคดีตามติดชีวิตของนักธรรมชาติวิทยา ศึกษาวิธีการทำงานในสภาพจริง

          นอกจากนี้แล้วยังมีรายการทางเลือกที่น่าสนใจ เช่น MakerMan (รายการที่ส่งเสริมให้นักประดิษฐ์เยาวชนได้แบ่งปันผลงานสิ่งประดิษฐ์) วัยเก๋า เท่าทันเทคโนโลยี (รายงานที่สอนวิธีการใช้งานเทคโนโลยีสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) Pet@Home (รายการที่สอนวิธีการดูและและเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยง) Plant@Home (รายการที่แนะนำวิธีการปลูกและดูแลต้นไม้ พร้อมทั้งมีสาระทางวิทยาศาสตร์)
          นอกจากรายการทีวีแล้วยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ครบทุกมิติ อันประกอบไปด้วย
1. กิจกรรมที่เน้นให้เกิดการสำรวจ เน้นกระบวนการ โดยที่นักเรียนสามารถเข้าสู่เว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ (ภายใต้ NSM) แล้วเรียนรู้ตามกิจกรรม เช่น กิจกรรมสำรวจดอกไม้รอบบ้าน จากนั้นนักเรียนสามารถส่งผลงานกลับในรูปแบบออนไลน์ และจะนำผลงานไปประเมินผลต่อไป
2. กิจกรรมที่เน้นกระบวนการวิทยาศาสตร์ ด้วยการส่งกล่องวิทยาศาสตร์ไปยังโรงเรียน แล้วโรงเรียนนำส่งที่บ้านต่อ โดยมีวิทยากรพาทำกิจกรรม
3. กิจกรรมชั้นเรียนออนไลน์พิเศษ ซึ่งเน้นการสื่อสารประเด็นทางวิทยาศาสตร์ด้วยการพูดคุย เหมาะสำหรับผู้เรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ
4. การขายชุด Science Delivery Boxset ในรูปแบบชุดการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่คุณครูสามารถซื้อเพื่อนำไปใช้สอนได้
5. การนำเสนอสื่อวีดิทัศน์ออนไลน์ตามแพลตฟอร์มออนไลน์ (ดังที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้น)

          จากแนวคิดการจัดกิจกรรมเสริมวิทยาศาสตร์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า การส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในยุคออนไลน์นี้จะต้องเน้นให้นักเรียนเกิดการค้นพบเสาะหาด้วยตนเอง และเกิดกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นครูซึ่งนอกจากจะมีส่วนร่วมกับกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังน่าจะสามารถถอดบทเรียนมาใช้กับการสอนของตนเองได้ โดยการปรับห้องเรียนให้เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ การวางโครงสร้าง การจัดบรรยากาศให้ห้องเรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียน ฯลฯ และยังสามารถวัดประเมินผลกิจกรรมของผู้เรียน ด้วยการกำหนดจุดประสงค์ ผลการเรียนรู้ที่พึงได้จากการทำกิจกรรม หรือให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบตัวเอง หรือสามารถจัดการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์เพื่อให้ทั้งผู้เรียน ครู และผู้ปกครองร่วมกันประเมินกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันได้

ที่มา:
บรรยาย Workshop หัวข้อ NSM Science Delivery สื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ออนไลน์วิถีใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 โดยวิทยากร น.ส.พิมลพรรณ จันทรพิมล น.ส.จรรยาภรณ์ อภิสารสกุล น.ส.พัชรี สุขหวาน นายเปรมชัย บุญเรือง และ น.ส. ศิรประภา ศรีสุพรรณ - นักวิชาการ อพวช.


TAG: #พิพิธภัณฑ์ #Science Delivery #NSM #องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ #อพวช #วิทยาศาสตร์ #การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้