Knowledge

เปิดประตูสู่อาชีพ STEM ด้วยการพัฒนาจิตวิทยาศาสตร์

เปิดประตูสู่อาชีพ STEM ด้วยการพัฒนาจิตวิทยาศาสตร์

 1 year ago 2965

จิราเจต วิเศษดอนหวาย

        ในปี 2022 ที่สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกเริ่มมีการคลี่คลายได้มีความก้าวหน้าในการเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ (STEM) ที่สร้างความหวังและความตื่นเต้นให้สังคมมากมาย ทั้งในวงการ AI วิทยาการทางการแพทย์ วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการค้นพบใหม่ ๆ ในอวกาศ สิ่งที่น่าคิดหลังจากมีปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นคือ จะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนสามารถเป็นผู้สร้างนวัตกรรมทางหรืออย่างน้อยที่สุดสามารถเป็นผู้ใช้นวัตกรรมได้อย่างมีวิจารณญาณและเกิดประโยชน์สูงสุด
        เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา EDUCA ร่วมกับ NSM Thailand ได้จัดวงพูดคุยในหัวข้อ “เปิดปีใหม่…เรียนรู้อย่างไรให้เท่าทันโลก” โดย ดร. กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ได้กล่าวถึงภูมิทัศน์การเรียนรู้ (learning landscape) ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังยุคโควิด นั่นคือ การนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการจัดการเรียนรู้ ทำให้ครูมีบทบาทสำคัญในการเตรียมนักเรียนให้มีทักษะและการรู้เท่าทันดิจิทัล (digital skills and literacy) ซึ่งสอดคล้องกับกระแสสังคมที่เรียกร้องให้มีการฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียนหลังยุคโควิดด้วยรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งการจัดการเรียนรู้กลางแจ้งและการลงมือทำ
        นอกจากนั้น ภูมิทัศน์การเรียนรู้ในรูปแบบดังกล่าว ยังสอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้ด้วยแนวคิด STEM ที่จะนำไปสู่การสร้างคุณค่าและมูลค่าในการสร้างและใช้นวัตกรรม แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนปรับตัวเข้ากับภูมิทัศน์การเรียนรู้ใหม่นี้ได้คือการได้รับการส่งเสริมและเสริมสร้างคุณลักษณะสำคัญในการเรียนรู้ STEM นั่นคือ การมีจิตวิทยาศาสตร์ (scientific mind)
        จิตวิทยาศาสตร์ หมายถึง ลักษณะนิสัยหรือความรู้สึกทางจิตใจที่เกิดจากการศึกษาหาความรู้โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และมีทัศนะการมองโลกและยึดมั่นในคุณค่าของวิทยาศาสตร์ จนก่อเกิดเป็นพฤติกรรมและคุณลักษณะติดตัวของคนคนนั้น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้กำหนดคุณลักษณะของจิตวิทยาศาสตร์ออกเป็น 10 คุณลักษณะ ดังนี้ ความอยากรู้อยากเห็น ความมีเหตุผล ความใจกว้าง ความซื่อสัตย์ ความพยายามมุ่งมั่น ความรอบคอบ ความรับผิดชอบ ความร่วมมือช่วยเหลือ ความสร้างสรรค์ และเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์
        W.I.B. Beveridge ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Art of Scientific Investigation ได้กล่าวว่าการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลอง สำรวจ และมีส่วนร่วมโลกรอบตัว กิจกรรมเหล่านี้เป็นการฝึกฝนคุณลักษณะการคิดแบบวิทยาศาสตร์และเสริมสร้างจิตวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคง
        สำหรับการประยุกต์ใช้กระบวนทางวิทยาศาสตร์ในสู่สายอาชีพด้าน STEM ในอนาคตการมองโลกแบบวิทยาศาสตร์จะช่วยให้นักเรียนเป็นผู้เข้าใจปัญหาของชุมชนและสังคมอย่างมีหลักการด้วยจิตวิทยาศาสตร์ และเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายพวกเขาจะสามารถรับมือและนำความรู้มาช่วยเหลือสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อมาช่วยแก้ปัญหาได้ในที่สุด
        การเสริมสร้างคุณลักษณะของจิตวิทยาศาสตร์สามารถส่งเสริมผู้เรียนได้ตั้งแต่ที่บ้าน เช่น ให้ผู้เรียนส่วนร่วมในการทำงานบ้าน ผู้ปกครองทำกิจกรรมในช่วงวันหยุดร่วมกับเด็กโดยเน้นการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัส ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือการส่งเสริมที่โรงเรียน เช่น คุณครูออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการทำงานร่วมกัน การกระตุ้นให้นักเรียนสื่อสารความคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
        และในท้ายที่สุด พื้นที่สาธารณะในระดับชุมชนหรือประเทศก็ส่งเสริมการมีจิตวิทยาศาสตร์ได้ผ่านพื้นที่การเรียนรู้ เช่น ป่าชุมชน สนามกีฬา ห้องคอมพิวเตอร์ พิพิธภัณฑ์ รวมถึงการสร้างโอกาสให้นักเรียนต่อยอดจากสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากที่บ้านและโรงเรียนโดยการเปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการลงมือแก้ไขปัญหาชุมชน สังคมที่พวกเขาเติบโตและอาศัยอยู่ด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม

เอกสารอ้างอิง
วรรณพร เพิ่มโสภา, ขนิษฐา ชัยรัตนาวรรณ, วารุณี ลัภนโชคดี. (2563). การพัฒนาแบบวัดจิตวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสงคราม. วารสารศิลปการจัดการ, 4(3), 700-716. http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/7297
Larm, B., & Jaros, A. (2017, 20 January). The art of scientific thinking: Why science is important for early childhood development. Michigan State University Extension. https://www.canr.msu.edu/news/art_of_scientific_thinking_in_early_childhood_development


TAG: #จิตวิทยาศาสตร์ #STEM #วิทยาศาสตร์ #เทคโนโลยี #วิศวกรรม #การประกอบอาชีพ #คุณลักษณะ #กิจกรรมในครอบครัว #การออกแบบการเรียนรู้