Knowledge
เทคนิคบริหารเวลา ปรับความคิด สำหรับครูและผู้ปกครองในช่วงหยุดยาว
4 years ago 4305เรียบเรียง: นูรียะ ยูโซะ
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้โรงเรียนต้องปิดเทอมยาวนานขึ้น ในมุมของผู้ใหญ่การที่โรงเรียนปิดเทอมนานขึ้น เขาจะต้องดูแลเด็กมากขึ้น จากเดิมที่เคยส่งไปเรียนพิเศษหรือเรียนซัมเมอร์ในช่วงปิดเทอม ดังนั้น ผู้ใหญ่หลายคนจะรู้สึกว่าลำบากขึ้น ในขณะที่มุมมองของเด็กกลับมองว่า พวกเขาสนุกมากขึ้น ฉะนั้นในช่วงที่โรงเรียนปิดเทอมนาน เด็กกลับดีใจ สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะเด็กไม่ได้มองมุมมองเดียวกับผู้ใหญ่ ซึ่งสำหรับเด็ก ๆ นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่น่าเครียดเลย แต่คนที่เครียดกลับเป็นพ่อแม่มากกว่า
โดยปกติพ่อแม่ไม่เคยใช้เวลากับลูกยาวนานขนาดนี้มาก่อน พ่อแม่หลายคนเห็นว่าตั้งแต่ปิดเทอมมาความสามารถของลูกลดลง ความรู้ที่ครูเคยสอนหายไป ซึ่งจริง ๆ เดิมก็เป็นแบบนี้ แต่เราไม่เคยเห็นมาก่อน จึงทำให้พ่อแม่กังวลมากขึ้น
แล้วเราจะผ่านภาวะนี้ไปด้วยกันได้อย่างไรและแบบไหน หากเราเทียบกัน 3 กลุ่มคือ ทีมแพทย์ ทีมครู และทีมพ่อแม่ แพทย์เผชิญกับความตายของคนโดยที่ไม่เคยเจอโรคนี้มาก่อน และตัวเองต้องเสี่ยง ลองผิดลองถูก ฉะนั้นทีมแพทย์ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเครียดระดับสูง แต่เขาสามารถควบคุมความเครียดของเขาได้ ขณะที่ความเครียดของครู คือ เมื่อครูต้องสอนออนไลน์และต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอนและการบริหารจัดการโรงเรียน ฉะนั้นความเครียดของพ่อแม่และของครูจะเท่าๆ กัน สุดท้ายแล้วกลุ่มที่มีความเครียดน้อยที่สุดน่าจะเป็นเด็ก
หากเราจะผ่านสถานการณ์โควิดไปได้ คำถามคือ
- เราอยากผ่านสถานการณ์นี้แบบไหน แน่นอนว่าไม่มีใครอยากป่วย ทำให้เราจำเป็นต้องมีมาตรการ 1, 2, 3, 4, 5 ตามมา
- เราอยากจะผ่านแบบเท่หรือไม่เท่ คือผ่านแบบเครียด ประสาทกิน หรือผ่านแบบฉลุย มีอารมณ์รื่นเริง มีความสุขดี ส่วนใหญ่ก็อยากผ่านแบบชีวิตไม่เครียด
- อยากผ่านภาวะโควิดแบบเก่งขึ้น หรือแย่ลง หากเราอยากผ่านแบบเก่งขึ้น มันจะเป็นแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราอยากจะผ่านแบบชีวิตแย่ลง มันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ถ้าเราผ่านอุปสรรค์นี้ได้ เราจะเก่งขึ้น มีความสามารถที่เพิ่มขึ้น หรือเราจะผ่านอุปสรรคแบบเท่าเดิม คือไม่เก่งขึ้น ถ้าโควิดทำให้ชีวิตเราถดถอยลง เครียดมากขึ้น เราทำงานไม่ได้ สับสนในชีวิต ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ช่วยพ่อแม่ไม่ได้ ไม่สามารถปรับและพัฒนาระบบการเรียนการสอนได้ นั่นหมายความว่าชีวิตเราเริ่มถดถอยลง สิ่งที่สำคัญคือเราจะต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดว่าเราอยากเป็นแบบไหน ถ้าเราอยากผ่านได้อย่างดี เราต้องตั้งสติดี ๆ
สำหรับพ่อแม่ถือว่าในช่วงนี้ต้องปรับเปลี่ยนอย่างมาก เพราะต้องทำงานที่บ้าน เป็นครูที่บริหารการเรียนของลูก และดูแลลูก ๆ ด้วย หากพ่อแม่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้จะทำให้พ่อแม่เครียดก่อน และความเครียดของพ่อแม่ที่มีงานมากขึ้น จะทำให้สุดท้ายแล้วความเครียดจะไปตกอยู่ที่เด็ก
หากครูสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นไปได้ หากเราเครียดสิ่งแรกที่สุดที่จะพบคือ ปฏิกิริยาของร่างกาย กินไม่ลง นอนไม่หลับ หมดแรง และในทางอารมณ์จะอ่อนไหวง่าย เครียดง่าย โกรธง่าย คิดมาก ทำงานแต่ผลงานไม่ออก และกัดจิกคนรอบข้าง สิ่งที่จะมาบริหารความเครียดขึ้นอยู่กับว่า เราสังเกตตัวเองได้เร็วไหม ในขณะที่บางคนไม่เคยชินกับการอยู่กับตัวเอง เพราะแต่เดิมออกงานสังสรรค์อยู่เรื่อย ๆ การที่อยู่กับตัวเองจะทำให้เราคอยเช็กตัวเองได้ การที่เราสังเกตตัวเองได้คือจุดเริ่มต้นในการบริหารความเครียด หากเราไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเครียด จะทำให้เราเพ่งมองสิ่งต่าง ๆ ไปที่คนอื่นและโทษคนอื่น
สิ่งที่ควรทำคือ การปรับตารางชีวิตตัวเอง จากแต่เดิมตื่นเช้าไปทำงานและกลับมานอนที่บ้านนั้น ในช่วง Work from Home จะต้องทำงานที่บ้านและทำงานนานกว่าทำงานที่บ้าน ควรใช้หลัก 8-8-8 คือ นอน 8 ทำงาน 8 พักผ่อน 8 เวลาในช่วงพักผ่อนเราเอาไปสอนลูก เพื่อให้ลูกมีความสามารถเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นพ่อแม่ที่จัดตารางตัวเองได้ ก็จะช่วยให้ลูกจัดตารางตัวเองได้เช่นเดียวกัน ในช่วงที่พ่อแม่ต้องทำงานก็จัดตารางให้ลูกทำกิจกรรมอื่นไปก่อน แต่เมื่อพ่อแม่ว่างจากงานแล้ว ก็ค่อยจัดเวลาให้ลูกทำกิจกรรมร่วมกัน
การสื่อสารในช่วงโควิด ทั้งการประชุมงานผ่าน zoom และการคุยกับญาติพี่น้องที่ห่างไกล ก็จะช่วยได้ เมื่อเราสามารถช่วยตัวเองได้แล้ว เราก็จะสามารถช่วยคนอื่นได้ เช่น ญาติ หรือเพื่อน ที่ปรับตารางชีวิตไม่ได้ เราสามารถช่วยชี้แนะ ให้กำลัง หรือช่วยด้านทุนทรัพย์บางอย่าง เมื่อเราสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เราจะมีความรู้สึกดีกับตัวเอง และความรู้สึกดีกับตัวเองนั้นจะเป็นอารมณ์บวก เมื่อเรามีอารมณ์บวกแล้ว คนใกล้ชิดเราก็จะได้รับพลังบวกด้วยเช่นกัน และหากเราสามารถช่วยผู้อื่นได้นั่นจะแสดงให้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นมีความหมาย ฉะนั้นหากครูสามารถช่วยเหลือตัวเองโดยการประเมินความเครียดของตัวเองได้แล้ว ครูก็จะสามารถช่วยเหลือเด็กนักเรียนได้
สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราประเมินความเครียดคือ การที่แยกออกว่าสาเหตุของความเครียดสามารถควบคุมได้หรือไม่ เช่น การที่บริษัทเลิกจ้างงาน หรือปิดตัวลง สิ่งนี้เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อเราแก้ไม่ได้ก็อยู่กับเหตุนี้ต่อไป แต่จะอยู่ในแบบไหน ถ้าเลือกวิธีการแย่ลงก็จะออกมาในลักษณะร้องไห้ คร่ำครวญ หรือจะใช้เวลานี้การคิดว่าหลังจากนี้เราจะทำอะไร จะพัฒนาความสามารถอย่างไร นี่คือความสามารถในการควบคุมความเครียด
จริง ๆ แล้วการที่เด็กอยู่บ้านช่วงปิดเทอมเป็นภาวะปกติ เพราะตอนช่วงปิดเทอมส่วนใหญ่พ่อแม่จะออกไปทำงานและเด็กก็จะอยู่ที่บ้าน แต่เดิมที่ผ่านมาเราไม่เคยทำบ้านให้เป็นโรงเรียน แทนที่จะให้ลูกอยู่ที่บ้านอย่างเดียว ก็ส่งลูกไปเรียนพิเศษ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี เด็กควรจะเรียนรู้อยู่ที่บ้าน สิ่งที่เด็กเรียนรู้ที่บ้านคือทักษะชีวิต แทนที่จะให้พี่เลี้ยงคอยดูแลเด็กอย่างเดียว ควรให้พี่เลี้ยงเป็นครูฝึกสอนพัฒนาเด็กตามความสามารถของพี่เลี้ยง ถ้าพี่เลี้ยงทำกับข้าวได้ ก็ให้เด็กหัดทำกับข้าว พี่เลี้ยงกวาดบ้านได้ ให้เด็กหัดกวาดบ้าน เพื่อฝึกให้เด็กมีความสามารถใหม่ เรียกว่าเป็นการเรียนรู้จากของจริง ซึ่งมีความสำคัญพอ ๆ กับการเรียนรู้ในห้องเรียน เดิมพ่อแม่ตัดการเรียนรู้ชนิดนี้ออกไปจากชีวิต โดยยกการเรียนรู้ทั้งหมดให้ครู ซึ่งตอนนี้จะย้อนกลับมาใหม่ว่า การเรียนรู้ผ่านชีวิตจริง ๆ จะทำให้เด็กจำได้เลย
แนวทางการบริหารความเครียดที่ทำได้ง่าย ๆ คือ สังเกต > ตั้งเป้าหมาย > ปรับความคิดของตัวเอง
การฝึกหัดหรือเบี่ยงเบนความคิดจะเป็นตัวช่วยลดความเครียด และอาจต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อม หากยังไม่หายเครียด ให้ออกกำลังกายหรือเล่นโยคะเป็นการผ่อนคลายความเครียด วิธีเช็กง่าย ๆ คือเราปวดหลังคอและหลังใบหู จึงควรมีวิธีการคลายกล้ามเนื้อเพื่อคลายเครียด หากยังไม่หายอาจไปพบคนรัก คนใกล้ชิด และคนที่มีความคิดที่ต่างจากเราที่จะสามารถช่วยเราได้ หากไม่ดีขึ้นให้พบจิตแพทย์
สิ่งที่ควรระวังคือ เรื่องการสื่อสารกับคนในครอบครัว ความสัมพันธ์เมื่อต้องอยู่ใกล้กันมากขึ้น ให้ใช้โอกาสนี้เรียนรู้และปรับตัวเข้าหาลูก การช่วยเหลือเด็กในแต่ละวัยให้ห่างไกลความเครียด ถ้าเรายอมรับความจริงได้หรือยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ เราก็จะสามารถสร้างความสุขด้วยตัวเองได้หลากหลายรูปแบบ
ดังนั้น ในห้วงเวลานี้ ครูจึงมีความสำคัญในฐานะผู้ชี้นำครอบครัวและเด็ก หากครูสามารถเช็กอารมณ์ตัวเองได้ ครูก็จะสอนให้เด็กเช็กอารมณ์ตัวเองได้ได้ สิ่งที่จะช่วยลดความกังวลได้ดีคือการฝึกสมาธิ สุดท้ายแล้ว เมื่อเด็กเช็กอารมณ์ตัวเองเป็น เขาก็จะช่วยเหลือพ่อแม่ต่อไปได้
อ้างอิง
Live การบริหารความเครียดของเด็กในช่วงหยุดยาว ศ.คลินิก พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ชมย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/2LKTjQH