Knowledge
รับมือคอมเมนต์ลบๆ...บนโลกออนไลน์ ทักษะที่ครูต้องมี และสร้างลูกศิษย์ให้เท่าทัน
3 years ago 4913 พูดถึงประเด็นต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ มักจะมีความคิดเห็นที่ตรงข้ามกันอยู่เสมอ ในหลายเรื่องก็เป็นประเด็นที่เปราะบางที่นำมาสู่ความขัดแย้งได้เช่นกัน มาดูวิธีการรับมือภัยทางโลกไซเบอร์ที่ช่วยให้ทั้งครูฝึกฝนทักษะ และสร้างลูกศิษย์ของเรา โดยเฉพาะวัยรุ่นให้เท่าทันอารมณ์ สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างปลอดภัย และช่วยรักษาสภาพจิตใจไม่ให้คิดมากกับความคิดเห็นเชิงลบ
ประการแรก คือ รับฟังในความคิดเห็นที่แตกต่างจากตน จับประเด็นในสิ่งที่ตอบกลับมาว่า สาเหตุนั้นมาจากเรื่องใด หรือข้อผิดพลาดประการใดที่ทำให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้น พยายามใช้เหตุผลในการอ่านข้อคิดเห็นของผู้อื่น อย่าโต้ตอบด้วยอารมณ์หรือถ้อยคำที่หยาบคาย เมื่อเจอความคิดเห็นที่ต่างจากตน หากเป็นความคิดเห็นที่ดีมีคุณประโยชน์ควรค่าแก่การอ่านและนำมาปรับปรุงก็ควรเรียนรู้และนำมาปรับใช้ หากเป็นความคิดเห็นที่เน้นใช้ถ้อยคำที่หยาบคายและไม่สมเหตุสมผล เพื่อรักษาสภาพจิตใจไม่ให้ตัวเรารู้สึกเป็นลบก็ควรปล่อยความคิดเห็นนั้นให้ผ่านไปมองข้ามและเพิกเฉยต่อข้อคิดเห็นนั้น
ประการที่สอง คือ ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนแชร์หรือเล่า หากพบว่า การแสดงความคิดเห็นของเราพบว่า ยังขาดข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน สิ่งที่ควรทำคือ ก็คือ น้อมรับในสิ่งนั้นและขอโทษต่อการแสดงความคิดเห็นที่ส่งผลกระทบดังกล่าว ไม่ใช้ข้อแก้ตัวใด ๆ ที่จะทำให้สถานการณ์นั้นแย่ลงกว่าเดิม เริ่มต้นด้วยการใช้คำขอโทษที่แสดงถึงความจริงใจและอธิบายเหตุผลของตนพร้อมขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นที่ทุกคนเสนอเข้ามา
ประการที่สาม คือ ระมัดระวังในการสื่อสารที่สร้างความเข้าใจผิด ข้อสังเกตที่ควรปรับปรุงเพื่อป้องกันปัญหานี้คือ ต้องคำนึงถึง ข่าวสารที่ได้รับมาว่าเป็นข่าวจริงหรือไม่ หลายครั้งที่เราแสดงความคิดเห็นจนเกิดความเข้าใจผิดต้นตอสาเหตุสำคัญนั้นมาจาก Fake news วิธีการสังเกตก่อนแชร์หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ นั้นให้เราย้อนกลับมาตรวจทานข้อมูลของสื่อที่ได้รับก่อน 3 เรื่อง คือ 1) ข้อความที่พาดหัวข่าวต่าง ๆ นั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน 2) แหล่งที่มามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ 3) หากไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจนก็ไม่ควรไปแสดงความคิดเห็นหรือเผยแพร่ไปใน Social Media ส่วนตัวของเรา
การแสดงข้อคิดเห็นต่าง ๆ ช่วยในการพัฒนาและก่อให้เกิดการขับเคลื่อนความคิด สิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่นั้นให้ดีขึ้น ในโลกออนไลน์ยิ่งเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญคือ ในการสื่อสารทุกครั้ง เราควรมีสติ ใคร่ครวญและไตร่ตรองให้ดีก่อนเสมอ เพราะอย่าลืมว่าทุกข้อเขียนสะท้อนตัวเราเอง และหากสื่อสารไม่เหมาะสม ไม่มีข้อเท็จจริง อาจสร้างผลกระทบทางลบต่อทั้งตนเองและสังคมได้อย่างมากมาย เช่นเดียวกับทักษะรับมือต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง และเชิงลบ ทักษะเหล่านี้เป็นเรื่องที่ครูต้องมี ต้องเป็นต้นแบบ และช่วยฝึกฝนให้ลูกศิษย์ของเรามีทักษะดังกล่าว เท่าทันและสามารถอยู่ในโลกสังคมออนไลน์ได้อย่างมีความสุข และสร้างสรรค์
แหล่งอ้างอิง
6 ขั้นตอนรับมือคอมเมนท์แย่ ๆ บนอินเตอร์เน็ต. (2558). 6 ขั้นตอนรับมือคอมเมนท์แย่ ๆ บนอินเตอร์เน็ต . 11 มีนาคม 2564,จาก https://smartfinder.asia/6-ways-to-reply-bad-comment-on-internet/
Gimme. (2563). ต้องทำอย่างไรเมื่อโดนคอมเมนท์แย่ ๆ หรือโดนบูลลี่ในโซเชียล? . 12 มีนาคม 2564, จาก https://droidsans.com/howto-handle-cyber-bullying/
Nutn0n. (2561). 5 วิธีรับมือกับเสียงตอบรับด้านลบบนโซเชียลมีเดีย สำหรับคนทำคอนเทนต์. 12 มีนาคม 2564, จาก https://www.rainmaker.in.th/how-to-deal-with-negativity-on-social-media-content/
ISARA. (2563). How to รับมือกับความคิดเห็นแย่ๆ บนโลกออนไลน์. 12 มีนาคม 2564, จาก https://www.sookkasean.com/2020/05/14/how-to
องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี. (25663).สาระน่ารู้ 10 เคล็ดลับวิธีสังเกตข่าวลวงข่าวปลอม รู้เท่าทันสื่อออนไลน์. 13 มีนาคม 2564,จาก https://www.khamnadee.go.th/news/