Knowledge

“เราทำได้ หากใจเชื่อ” จิตวิทยาว่าด้วยเรื่องความเชื่อมั่นในตัวเอง

“เราทำได้ หากใจเชื่อ” จิตวิทยาว่าด้วยเรื่องความเชื่อมั่นในตัวเอง

 4 years ago 9396

ผู้เขียน: นางสาว กนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          เคยสังเกตไหมเวลาที่เด็กได้เริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นชินทีไร คำพูดแรกๆ ที่เขามักจะเอ่ยออกมา คือ “ทำไมมันยากจังเลย” “หนูทำไม่ได้หรอก” สีหน้าและท่าทางที่แสดงออกบ่งบอกถึงความไม่พร้อม ไม่เต็มใจและเริ่มจะเห็นกำแพงการปิดกั้นตัวเองกำลังก่อตัวขึ้น เพื่อจะสื่อว่าเขาไม่อยากทำสิ่งใหม่ๆ เหล่านั้นอีกแล้ว หากลองมองกลับกัน เด็กตะวันตก หรือ เด็กที่เติบโตในประเทศที่โดดเด่นทางด้านการศึกษาและนวัตกรรมการศึกษาของโลก กลับพบว่า เวลาพวกเขาได้พบเห็นหรือได้เริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การแสดงออกทั้งคำพูดและท่าทางของพวกเขาจะแสดงออกมาในลักษณะที่ดูกระตือรือร้น ตื่นเต้นและอยากรู้อยากทดลอง ซึ่งการแสดงออกที่แตกต่างกันของเด็กหลายๆ กลุ่มจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย ว่าอะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกกระตือรือร้นและเกิดมุมมองต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เขาไม่คุ้นชินให้เกิดการเปิดรับและกล้าพอที่จะเรียนรู้และเข้าใจสิ่งใหม่ๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นการพัฒนาตัวเองต่อไป

          จากงานวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาพฤติกรรมศาสตร์จากทฤษฎีต้นไม้จริยธรรม ของ ศ. ดร. ดวงเดือน พันธุมนาวิน ว่าด้วยเรื่อง จิตลักษณะที่ดีและมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาคนจากภายในและยั่งยืน เมื่อนำมาประกอบกับประเด็นของการพัฒนาการศึกษา ก็คงจะหนีไม่พ้นการพัฒนาและสร้างจิตลักษณะที่ดีดังกล่าวให้แก่นักเรียนและเยาวชน

“จงเชื่อว่าตนเองทำได้ และจงลงมือทำ”

          ความเชื่ออำนาจในตนเอง (Internal locus of control) ซึ่งเป็นหนึ่งในจิตลักษณะสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายความสำเร็จอันเกิดจากการลงมือกระทำของตน เมื่อพูดถึงการเชื่ออำนาจในตนเองนั้น มิใช่แค่การสร้างความเชื่อให้เกิดขึ้นในตัวของคนเพียงอย่างเดียว เพราะแค่ความเชื่อไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงในการกระทำเสมอไป แต่ความเชื่อในแบบของการเชื่ออำนาจในตนเองนั้น เป็นความเชื่อเรื่องความพยายามและลงมือกระทำให้เกิดผลสำเร็จ หรือกล่าวสั้นๆ ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั้น นอกจากนั้น ผู้ที่มีความเชื่ออำนาจในตนสูงจะไม่เชื่อในเรื่องของโชคชะตาหรือสิ่งที่มองไม่เห็นว่าเป็นตัวกำหนดชีวิต แต่เชื่อในเรื่องของผลแห่งการกระทำของตนเป็นสิ่งสำคัญ

“สภาพสังคมบ่มเพาะความพยายาม”

          หากต้องการจะสร้างความเชื่ออำนาจในตนเอง งานวิจัยของศาสตราจารย์ ดร. ดวงเดือน พันธุมนาวิน ได้ทำการศึกษาไว้เช่นกันว่าการจัดสภาพแวดล้อมทางสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้าง ความเชื่ออำนาจในตนเอง ให้เกิดในตัวเด็กและเยาวชน โดยได้ระบุสภาพแวดล้อมหรือ เรียกตามงานวิจัยว่า สภาพแร้นแค้นทางสังคม ที่ส่งผลต่อการเชื่อมั่นและเชื่อในการลงมือกระทำของตนเองไว้ 3 ระดับดังนี้

  1. สภาพแร้นแค้นน้อย เป็นสภาพสังคมที่หล่อหลอมคนให้มีความพร้อมต่อการพัฒนาทักษะตนเองอยู่เสมอ คนในสังคมต่างเชื่อในความสำเร็จอันเกิดจากการลงมือปฏิบัติและความพยายาม หากมีความพยายามมาก ย่อมได้ผลที่สำเร็จมาก ทั้งยังมีการให้รางวัลและการชื่นชมต่อความสำเร็จจากคุณค่าความพยายามของบุคคลมากกว่าประเด็นจากสภาพแวดล้อมอื่นๆ
  2. สภาพแร้นแค้นปานกลาง เป็นสภาพที่สังคมที่หล่อหลอมคนให้มีการพัฒนาตนเองอยู่บางส่วน โดยการพัฒนาตนเองมักจะเป็นพัฒนาความสำเร็จอันเกิดจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลมากกว่าจะเป็นการพัฒนาความสามารถจากความพยายาม สภาพสังคมเช่นนี้จะพบว่าความสัมพันธ์และอำนาจของคนเป็นช่องทางที่ทำไปสู่ความสำเร็จเหนือความพยายามและความสามารถ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบอุปถัมภ์ เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของคนจำนวนไม่น้อย อีกทั้งยังเป็นการหล่อหลอมคนในสังคมให้มีลักษณะความเชื่อมั่นในตนเองต่ำ และหันไปพึ่งพาแสวงหาความสำเร็จจากความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจเหนือกว่า มากกว่าความพยายามด้วยตัวของตนเอง
  3. สภาพแร้นแค้นมาก เป็นสภาพสังคมที่พบว่าคนในสังคมมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองต่ำ เชื่อในเรื่องความพยายามและการพัฒนาตนเองเป็นส่วนน้อย แต่กลับให้ความสำคัญกับโชคชะตาและความเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็นเป็นส่วนมาก ซึ่งลักษณะสังคมสภาพแร้นแค้นมากนี้มักจะพบได้ในสังคมที่มีองค์ความรู้และวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการเข้าถึงข่าวสารและเทคโนโลยีที่ทันสมัยระดับต่ำ

          ผลการศึกษางานวิจัยของ รศ. ดร.ดุจเดือน พันธุมนาวิน เรื่อง ความเชื่ออำนาจในตน: การวัด ความสำคัญและการเปลี่ยนแปลง ได้ข้อสรุปว่า ความเชื่ออำนาจในตนสามารถเปลี่ยนแปลงได้จากการเรียนรู้ทางสังคม และสภาพแวดล้อมที่บุคคลกำลังเผชิญอยู่ ผู้ที่มีความเชื่ออำนาจในตนมาก เป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำนายและควบคุมมาก ส่งผลให้มีลักษณะพฤติกรรมส่งเสริมการพัฒนาตนเองที่สูงกว่า ผู้ที่มีความเชื่ออำนาจในตนเองต่ำ ที่ซึ่งส่งผลให้มีลักษณะพฤติกรรมส่งเสริมการพัฒนาตนเองที่ต่ำ เป็นคนที่ไม่เชื่อในความพยายามว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จนั่นเอง

          การสร้างความเชื่ออำนาจในตนเองของนักเรียนผ่านวิธีการจูงใจหรือการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย การสร้างสภาพสังคมแร้นแค้นต่ำ หรือ สร้างสิ่งแวดล้อมในห้องเรียน โรงเรียน ที่ให้ความสำคัญกับการติดตามความพยายามของนักเรียน และการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นทีละขั้นอย่างสม่ำเสมอ ผ่านการเสริมแรงทางบวกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อในอำนาจของความพยายามจนนำไปสู่ผลสำเร็จ หากนักเรียน เด็กและเยาวชนมีความเชื่ออำนาจของตนเอง เชื่อว่าตนเองสามารถทำสิ่งใดๆ ก็ตามให้ดีและประสบความสำเร็จได้ด้วยความพยายาม ไม่ว่าเป็นทางด้านวิชาการ หรือแม้กระทั่งกิจกรรมต่างๆ ที่พวกเขาจะได้เรียนรู้และศึกษาต่อไปในภายภาคหน้าก็จะไม่ใช่เรื่องน่ากลัวหรือน่าหลีกหนีอีกต่อไป

          การปลูกฝังความเชื่อมั่นในตัวเด็กและเยาวชนผ่านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางจิตวิทยาที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก จึงเป็นวิธีการสร้างทัศนคติที่ดีและมั่นคงภายในจิตใจเด็กอย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดอิทธิพลเชิงบวกต่อพฤติกรรมการพัฒนาตนเองของเด็กต่อไปในอนาคต

ที่มา: รศ. ดร. ดุจเดือน พันธุมนาวิน. ความเชื่ออำนาจในตนเอง: การวัด ความสำคัญและการเปลี่ยนแปลง. วารสารพัฒนาสังคม. 109-131
ทฤษฎีต้นไม้จริยธรรม : การวิจัยและพัฒนาบุคคล ศ. ดร. ดวงเดือน พันธุมนาวิน จุดกำเนิดของทฤษฎีต้นไม้จริยธรรม http://bsris.swu.ac.th/sar/streng49.asp


TAG: #จิตวิทยาแนะแนว