Knowledge
เปลี่ยน “ความย่อท้อ” ของนักเรียน ให้เป็น “พลังใจ” ที่จะเรียนรู้
2 years ago 3397เอกปวีร์ สีฟ้า
ในห้องเรียนครูหลายคนคงจะเคยพบเจอนักเรียนที่ถูกมองว่าไร้ความพยายาม ทำไมยอมแพ้ง่ายจัง ทำไมขี้เกียจ ทำไมไม่ตั้งใจเรียนเลย อันที่จริงแล้วเด็กเหล่านั้นอาจจะกำลังประสบกับภาวะสิ้นหวังอันเกิดมาจากการเรียนรู้อยู่ก็เป็นไปได้
ภาวะสิ้นหวังอันเกิดมาจากการเรียนรู้คืออะไร
ภาวะสิ้นหวังอันเกิดมาจากการเรียนรู้ (learned helplessness) คือความเชื่อที่ว่าพฤติกรรมของเราไม่ได้มีอิทธิพลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น กลายเป็นความท้อแท้ในใจ และยอมแพ้ในโชคชะตาไป นักเรียนที่มีภาวะสิ้นหวังอันเกิดมาจากการเรียนรู้จะคิดว่า “ไม่ว่าจะตั้งใจอ่านหนังสือแค่ไหน ฉันก็จะสอบได้คะแนนแย่เสมอ”
ลักษณะพฤติกรรมแบบไหน ที่บ่งบอกถึงภาวะสิ้นหวังอันเกิดมาจากการเรียนรู้
ครูและผู้ปกครองสามารถสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ได้ดังนี้
1. แรงจูงใจในการเรียนรู้น้อยลง
ความทะเยอทะยานในการเรียนลดลง คาดหวังผลลัพธ์ที่ต่ำ พวกเขาเชื่อว่าไม่ว่าจะทำอะไร ผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นลบเสมอ เช่น คะแนนไม่ดี นอกจากนี้ พวกเขายังจะเชื่อว่าพวกเขาไม่มีความสามารถพอที่จะเอาชนะผลลัพธ์ด้านลบได้ จึงมีความพยายามน้อยลง เมื่อเจออะไรที่ยาก ก็จะท้อและล้มเลิกได้ง่าย
2. ขาดความมั่นใจในทักษะและความสามารถของตนเอง
เด็กที่อยู่ในภาวะสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้เชื่อว่าตนเองไม่เก่ง หากทำคะแนนได้น้อย ก็จะตอกย้ำตนเองว่าขาดความรู้และทักษะที่จำเป็น ถึงแม้ว่าแท้จริงแล้วพวกเขาจะมีความสามารถเพียงพอและมีสติปัญญาปกติก็ตาม แม้จะทำคะแนนได้ดี พวกเขาก็ยังไม่เชื่อในความสามารถของตนเอง แต่คิดว่าความสำเร็จนั้นมาจากโชคช่วย เช่น ฉันโชคดีที่ได้ข้อสอบง่ายเลยทำคะแนนได้ดี
3. โฟกัสสิ่งที่ทำไม่ได้
เด็ก ๆ จะมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้ มากกว่ามุ่งเน้นไปที่จุดแข็งและทักษะของตนเอง พวกเขาจะสรุปจากสถานการณ์ที่เคยล้มเหลวไปยังสถานการณ์อื่น ๆ ที่สามารถควบคุมได้ โดยไม่ได้คำนึงถึงทักษะและความสามารถที่แท้จริงของพวกเขา พวกเขาจึงทำได้ไม่ดีอยู่ตลอดเวลา เช่น ก่อนสอบวิชาคณิตศาสตร์เคยอ่านหนังสือ ตั้งใจเรียนอย่างหนัก แต่กลับได้คะแนนสอบน้อย เมื่อสอบวิชาเดียวกันในบทอื่นแล้วได้คะแนนน้อยอีก ก็จะคิดว่าไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ได้คะแนนน้อยทุกครั้ง ถึงแม้จะเป็นวิชาที่ตนเองถนัดก็ตาม
มีแนวทางการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง
เมื่อพบว่านักเรียนมีภาวะสิ้นหวังอันเกิดมาจากการเรียนรู้ ครูสามารถให้การช่วยเหลือนักเรียนได้ ดังนี้
1. ตรวจสอบวิธีการให้คะแนน
หากครูมีแนวคิดที่ว่าการให้คะแนนเป็นศูนย์เป็นการกระตุ้นให้นักเรียนพยายาม มันอาจจะไม่ใช่อย่างที่คิด เนื่องจากไม่มีนักเรียนคนใดได้รับแรงบันดาลใจจากศูนย์ ครูควรจะเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองทำใหม่อีกครั้ง เมื่อได้ผลลัพธ์ในครั้งแรกต่ำ ครูควรให้โอกาสนักเรียนแก้ไขและส่งได้มากกว่า 1 ครั้ง เพื่อสื่อสารว่าพวกเขาสามารถพยายามเรียนรู้ได้หลายครั้ง และที่สำคัญกว่านั้นคือ พวกเขาสามารถสร้างสรรค์และทดลองทำได้ เพื่อตอกย้ำว่าความล้มเหลวในครั้งแรกไม่ได้เป็นทุกสิ่งและจะไม่เปลี่ยนแปลง
2. สอนให้เรียนรู้จากความล้มเหลว
My Favorite No คือ แนวคิดที่สอนว่าไม่มีความล้มเหลว ให้นักเรียนวิเคราะห์และเรียนรู้จากข้อผิดพลาด โดยแนวคิดพื้นฐานของกลยุทธ์นี้คือครูให้นักเรียนทุกคนแก้ปัญหาลงบนแผ่นกระดาษ จากนั้นครูก็รวบรวมแผ่นกระดาษเหล่านั้น และทำเป็นสองกอง คือ กองที่มีคำตอบถูกต้อง และกองที่มีคำตอบผิด จากนั้นเลือกแผ่นกระดาษจากกองที่มีคำตอบผิดออกมา 1 แผ่น แล้วชวนนักเรียนพูดคุยเกี่ยวกับปัญหานี้และเรียนรู้จากความผิดพลาดร่วมกัน อีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ คือ หากครูจำได้ว่าตัวเองกำลังสอนบางสิ่งที่ผิดพลาดหรือทำผิดพลาด ถือเป็นโอกาสที่ดีในการยอมรับกับนักเรียนว่าสอนผิด และกล่าวขอโทษ บางครั้งอาจจะหัวเราะและบอกกับนักเรียนว่า “ตอนนี้เรารู้แล้วว่าวิธีใดใช้ไม่ได้ผล เรามาหาวิธีที่ถูกต้องกัน!”
3. สนับสนุนความพยายามของนักเรียน
ครูควรให้คำชมและให้กำลังใจตามความพยายามของนักเรียน เช่น หนูตั้งใจเรียนและฝึกซ้อมทำข้อสอบอย่างดี จึงทำให้คะแนนสอบออกมาดี เพื่อช่วยให้พวกเขาเชื่อว่าความพยายามของพวกเขาสามารถสร้างความแตกต่างได้ หรือเมื่อนักเรียนได้รับรางวัลจากการแข่งขัน “ครูรู้ว่าหนูต้องใช้ความพยายามมากเพียงใด ยินดีด้วยนะ” แทนที่จะชมว่า “หนูเก่งคณิตศาสตร์จริงๆ” คำชมแบบนี้ช่วยให้นักเรียนเห็นว่าความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากความพยายาม ไม่ใช่เพียงเพราะความสามารถที่พวกเขามีอยู่เดิม หรือโชคช่วย
4. จัดระเบียบและสร้างแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ให้กับนักเรียน
หากครูต้องการให้นักเรียนค้นหาข้อมูลจากแหล่งอื่นที่หลากหลาย ครูสามารถทำการรวบรวมแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ ที่เป็นทั้งผู้คน หนังสือ เว็บไซต์ แพลตฟอร์ม องค์กรชุมชน ตลอดจนแหล่งข้อมูลอื่น ๆ เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกสบายใจกับการไม่รู้คำตอบและรู้ว่าตนสามารถค้นหาคำตอบในแหล่งข้อมูลที่มีอยู่ในมือได้ ซึ่งในปัจจุบันมีแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ นั่นก็คือ “ห้องเรียนกลับด้าน” (Flipped Classroom) ที่ผู้สอนจะมีหน้าที่ในการออกแบบการเรียนรู้ รวบรวมแหล่งข้อมูลให้ผู้เรียนเรียนก่อนเข้ามาทำกิจกรรมในชั้นเรียน ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา
5. หยุดให้คำตอบกับนักเรียน
ครูควรจะหยุดรีบบอกคำตอบ แล้วให้นักเรียนเรียนรู้ตามจังหวะของตนเองด้วยวิธีการของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาจดจำสิ่งเหล่านั้นได้มากขึ้น และรู้สึกเป็นเจ้าของการเรียนรู้ โดยครูอาจจะใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้เด็ก ๆ เกิดการเรียนรู้ เช่นถามนักเรียนว่า “เพราะอะไรหนูถึงคิดอย่างนั้น” เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนคิด แทนที่จะใช้คำถามเพื่อตรวจสอบความเข้าใจหรือคำถามที่มีคำตอบที่ถูกและผิดชัดเจน ครูสามารถใช้คำถามเพื่อสำรวจความคิดของนักเรียนและผลักดันให้ใช้ความคิดแทน
หากครูสามารถเปลี่ยน “ความย่อท้อ” ของนักเรียนที่มีภาวะสิ้นหวังอันเกิดมาจากการเรียนรู้ ให้กลายเป็น “พลังใจ” ที่จะเรียนรู้ได้ ห้องเรียนที่ไร้ชีวิตชีวาก็คงจะกลับมามีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ภาพที่นักเรียนทุกคนมีแรงกระตุ้นในการเรียนคงจะไม่ไกลเกินเอื้อม
แหล่งอ้างอิง
Ackerman, C. (2022, February 24). Learned helplessness: Seligman’s theory of depression (+ cure). Positive Psychology. https://positivepsychology.com/learned-helplessness-seligman-theory-depression-cure/
Guiang-Myers, G. (2021, November 17). How to counter learned helplessness. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/how-counter-learned-helplessness Miller, A. (2015, May 11). Avoiding learned helplessness. Edutopia. https://www.edutopia.org/blog/avoiding-learned-helplessness-andrew-miller
Numberworksnwords. (2015, May 6). When children fail in school: Understanding learned helplessness. https://numberworksnwords.com/nz/blog/when-children-fail-in-school-understanding-learned-helplessness/#.Yly6IxAxVvI
ฐานิตา ลิ่มวงศ์ และ ยุพาภรณ์ แสงฤทธิ์. (2562). ห้องเรียนกลับด้าน: การเรียนรู้แนวใหม่สำหรับศตวรรษที่ 21. วารสาร Mahidol R2R e-Journal, 6(2), 9-17. https://r2r.mahidol.ac.th/Publish/doi/6_2/2562_6_2_2.pdf