Knowledge
ความเหนื่อยล้าจากการเจอกันผ่านหน้าจอ และการหาความพอดีในโลกใบใหม่ของการสื่อสาร
4 years ago 3579แปล และเรียบเรียง: สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ
Content Developer Cohort 2 Alumni Teach For Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
เราควรจะต้องแต่งหน้าไหมก่อนเข้าประชุมออนไลน์ เราต้องแต่งตัวเหมือนไปทำงานหรือเปล่า ห้องเรารกเกินไปไหม ไม่เปิดกล้องได้ไหม และเราจะดูเป็นอย่างไรในหน้าจอของคนอื่น หากมองย้อนกลับไปช่วงต้นปี คำถามเหล่านี้อาจเป็นคำพูดที่ดูแปลกตา และน่าจะมาจากคนเพียงส่วนน้อยในสังคม แต่ในปัจจุบันที่ทั้งห้องเรียน ห้องประชุม และการเข้าสังคมส่วนมากย้ายได้มาอยู่ในคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสารของเรา คำถามเหล่านั้นอาจเป็นคำถามที่เกิดขึ้นบ่อยพอๆ กับความคิดที่ว่ามื้อเที่ยงนี้จะกินอะไรดี แต่ความคุ้นเคยนั้นก็อาจมาพร้อมกับความเหนื่อยล้าเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในหน้าจอเป็นระยะเวลานาน
ในการสัมภาษณ์ของ BBC Worklife ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการเรียนรู้อย่างยั่งยืนในที่ทำงาน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาวะในที่ทำงาน และการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ได้อธิบายว่าการคุยกันผ่านหน้าจอ อาจทำให้พลังงานของเราเหือดแห้งไปได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
- การจดจ่อ และการพยายามอ่านความรู้สึกของคู่สนทนา
เราจะจดจ่อมากขึ้นกับคู่สนทนาโดยที่เราไม่รู้ตัว ในการพูดคุยกันผ่านทางหน้าจอ เพราะสมองของเราจะยังคงพยายามประมวลผล และตีความอวัจนภาษาของคู่สนทนาของเรา รวมถึงระดับสูงต่ำของน้ำเสียง และการขยับของร่างกาย เพื่อพยายามเข้าใจถึงความรู้สึกของคู่สนทนา และในบริบทของหน้าจอ การประมวลผลเหล่านั้นเป็นอะไรที่ใช้พลังงานสูงมาก รวมทั้งทำให้เกิดความไม่สอดประสานกันของร่างกายที่อยู่ห่างกัน กับความรู้สึกที่ว่าเราอยู่ด้วยกัน ซึ่งอาจนำมาสู่ความรู้สึกขัดแย้งอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในตัวเอง ซึ่งต่างจากบทสนทนาแบบเจอหน้ากันที่เรามักจะใช้เวลาเพียงชั่วครู่ในการหาจังหวะที่พอดี ก่อนจะเข้าสู่สภาวะที่ผ่อนคลายมากขึ้น - เสี้ยววินาทีของความเงียบ
ความเงียบในบทสนทนา เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เรากำลังเผชิญอยู่ ซึ่งแม้ว่าในสถานการณ์การสนทนาปกติ จังหวะของความเงียบเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การสนทนามีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่เมื่อมันเกิดขึ้นในการคุยกันผ่านหน้าจอ ความกังวลอาจเริ่มก่อตัวขึ้นในความรู้สึกของคนที่เพิ่งพูดเสร็จไป งานวิจัยโดยนักวิจัยชาวเยอรมันในปี 2014 พบว่าความเงียบในการสื่อสารทางไกล เช่นการโทรศัพท์ หรือการคุยกันผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ทำให้เราเกิดมุมมองที่เป็นลบต่อคู่สนทนา แม้ว่าความเงียบนั้นจะมีความยาวนานเพียง 1.2 วินาที ก็ทำให้ผู้ที่อยู่อีกฝั่งของความเงียบเกิดความรู้สึกว่าคนที่ตัวเองกำลังคุยอยู่ด้วยนั้นไม่ค่อยเป็นมิตร หรือไม่ได้กำลังใส่ใจในสิ่งที่เราพูดอยู่ - การเป็นเครื่องเตือนให้นึกถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน
อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจทำให้การคุยกันผ่านหน้าจอทำให้เรารู้สึกแย่ลง อาจเป็นเพราะสถานการณ์ในปัจจุบันที่ทำให้เราไม่สามารถไปเจอหน้ากัน เพื่อพูดคุย ยิ้ม และหัวเราะไปด้วยกันเหมือนเมื่อก่อนได้ และทุกครั้งที่เราเข้าโปรแกรมใดๆ เพื่อที่จะเจอกัน เราอาจรู้สึกว่าเรากำลังถูกบีบคั้นจากสถานการณ์ให้สามารถเจอกันได้เพียงแค่ช่องทางนี้เท่านั้น ทั้งที่จริงแล้วเราควรจะได้ไปนั่งเรียนอยู่ หรือนั่งทำงานอยู่ข้างๆ กัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวว่า เราทุกคนล้วนกำลังรู้สึกเหนื่อยกับบริบทในปัจจุบัน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่ได้รับพลังจากการอยู่กับผู้คนหรือไม่ก็ตาม เพราะคำว่า “ปกติ” ในชีวิตของเรากำลังเปลี่ยนหน้าตาไปอย่างรวดเร็ว - การทับซ้อนกันของโลกหลายใบ
ก่อนหน้านี้เราอาจจะมีมิติของชีวิตที่เราออกไปเจอเพื่อน ออกไปทำงาน ออกไปเรียนหนังสือ และกลับมาพักผ่อนที่บ้าน แต่ตอนนี้ทุกอย่างที่กล่าวมาทำกำลังเกิดขึ้นในสถานที่แห่งเดียวกันคือหน้าจอของเรา และแม้ว่าในทางกายภาพแล้วนั่นอาจจะหมายถึงความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้น แต่การทำงานของความรู้สึกมีความซับซ้อนมากกว่านั้น เพราะเราต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยครั้งมากขึ้นว่า ในขณะที่เรากำลังนั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวเดิมนี้ ทันทีที่เราคลิกเข้าห้องประชุมนี้ไป เรากำลังจะต้องสวมบทบาทไหน ทำให้อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ส่วนตัวที่เราสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ และพื้นที่ของงานที่อาจเรียกร้องให้เราแสดงออกถึงความเป็นมืออาชีพ กำลังทำซ้อนกันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และเมื่อเส้นกั้นของทั้งสองพื้นที่จางลง ความเครียดก็ก่อตัวสูงขึ้น - ความคาดหวังต่อตัวเราเอง
ในสภาวะวิกฤติในปัจจุบัน คนที่ยังสามารถเข้าถึงการประชุมผ่านทางออนไลน์ได้ แปลว่าคนๆ นั้นยังคงสามารถเข้าถึงไฟฟ้า สัญญาณอินเทอร์เน็ต และที่พักที่ปลอดภัยในระดับหนึ่งได้ และถ้าเราเป็นคนกลุ่มดังกล่าว เป็นไปได้ว่าเราอาจจะกำลังรู้สึกว่าเราจะต้องตั้งใจเรียน หรือทำงานหนักเป็นพิเศษ เพื่อรักษาสิ่งที่เรามีอยู่ ทำให้เวลาที่เราเลือกที่จะใช้ไปกับการพักผ่อนลดน้อยลง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ความรู้สึกในด้านลบที่มาจากความเหนื่อยล้าเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อได้ลองถอดสาเหตุที่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเจอกันผ่านหน้าจอดูดพลังของเราไปมากกว่าการสนทนาปกติ มาลองดู 3 สิ่งที่เราสามารถทำได้ เพื่อให้การใช้เวลากับผู้คนที่มาปรากฏตัวในรูปของสัญญาณดิจิทัล กลายเป็นช่วงเวลาที่เราจะรู้สึกตั้งหน้าตั้งตารอมันได้อย่างเป็นธรรมชาติกับตัวเองมากขึ้น
- ความสมัครใจ
หลายครั้งที่เราพบปะกันผ่านโปรแกรมวิดีโอคอลโดยเจตนาที่จะพูดคุยกันอย่างผ่อนคลาย ด้วยความหวังว่ามันจะเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนที่จะช่วยเติมพลังให้กับผู้เข้าร่วมได้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญของการสร้างพื้นที่ดังกล่าวคือ “ความสมัครใจ” ของผู้เข้าร่วม เพราะแม้ว่าจะตั้งต้นด้วยเจตนาที่ดี แต่ถ้าผู้คนรู้สึกว่าเรา “ต้องเข้า” พื้นที่ในการพักผ่อนก็อาจจะให้ผลลัพธ์ทางความรู้สึกเหมือนกับการคุยงานอีกประเภทหนึ่งก็ได้ - สิทธิเหนือกล้องของตัวเอง
การให้อิสระผู้เข้าร่วมในการที่คนๆ นั้นจะเปิดกล้อง หรือปิดกล้องก็ได้ มีส่วนช่วยให้บรรยากาศการพูดคุยโดยรวมผ่อนคลายลง เพราะด้วยการออกแบบหน้าจอของโปรแกรมที่เราใช้พูดคุยส่วนมากทำให้เราสามารถมองเห็นทุกคนได้พร้อมกัน ในขณะเดียวกัน เราก็อาจจะเกิดความรู้สึกว่าสายตาทุกคู่กำลังมองเข้ามาทางเราเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกสบายใจกับความรู้สึกดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา การมีสิทธิเลือกที่จะปิดกล้องเมื่อเราต้องการ เพื่อให้เราได้กลับมาผ่อนคลาย เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมกลุ่มที่เราสามารถสร้างร่วมกันได้ เพื่อให้การพบเจอกันผ่านหน้าจอมีพื้นที่ๆ เราสามารถเป็นตัวเองได้มากขึ้น - สำรวจทางเลือกที่หลากหลาย
การเปิดกล้องเพื่อพูดคุยกันไม่ใช่หนทางเดียวที่เราจะสื่อสาร ระดมไอเดีย หรือเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ และในหลายๆ สถานการณ์อาจมีช่องทางอื่นที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้มากกว่าการที่ต้องมองหน้ากัน และกังวลกับมุมกล้อง หรือภาพพื้นหลังของตัวเอง เช่นการแชร์ไฟล์ที่มีข้อมูลเพื่อให้ทุกคนได้เข้ามาอ่าน และเขียนความคิดเห็น และคำถามไว้แลกเปลี่ยนกัน หรือแม้แต่การเปิดไฟล์เปล่าๆ พร้อมจั่วหัวด้วยคำถามเพื่อให้ทุกคนมาระดมไอเดียกัน ซึ่งนอกจากจะสร้างความแตกต่างจากการวิดีโอคอลแล้ว ยังอาจทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถรับข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น (ผ่านการอ่าน แทนการฟัง) ลดภาระของสายตา และการประมวลผลของสมองในการต้องจับจ้องอยู่ที่ใบหน้าของผู้พูดตลอดเวลา และยังอาจจะช่วยให้เรามีบันทึกการประชุม หรือบันทึกการสอน โดยไม่ต้องมานั่งสรุปอีกครั้งหนึ่งด้วย
อ้างอิง
The reason Zoom calls drain your energy. (2020, April 22). Retrieved April 27, 2020, from https://www.bbc.com/worklife/article/20200421-why-zoom-video-chats-are-so-exhausting
Self-Complexity - IResearchNet. (2016, January 25). Retrieved April 27, 2020, from http://psychology.iresearchnet.com/social-psychology/self/self-complexity/