Knowledge

AI รถไฟความเร็วสูงขบวนใหม่ในโลกการศึกษา

AI รถไฟความเร็วสูงขบวนใหม่ในโลกการศึกษา

 1 year ago 1580

สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม

          AI ตัวแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 1952 แต่การพัฒนาของ AI เจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดในยุคทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา และหลังจากเปิดตัว ChatGPT เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา บริษัทดิจิทัลน้อยใหญ่ล้วนเดินหน้าเต็มกำลังในการพัฒนา AI เพื่อแข่งขันกันเป็นเลิศในด้านนี้ กระแส AI ที่เติบโตขึ้นจึงเป็นเหมือน “รถไฟความเร็วสูงขบวนใหม่” ทั้งสำหรับผู้ใช้และผู้ผลิต ดังนั้น แม้การเกาะขึ้นรถไฟขบวนนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความสนใจในสังคมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงทำให้ผู้โดยสารขบวนนี้ก้าวไปได้ไกลกว่าคนอื่น ผู้นำทางการศึกษาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะศึกษา AI และใส่ใจกับเทคโนโลยียุคใหม่เพื่อตนเองและนักเรียน

AI มือขวาของครูผู้ทันขบวน
          แม้ว่า AI ในปัจจุบันยังผลิตขึ้นมาเพื่อทำภาระงานเพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น แต่การที่ครูจะพยายามหยิบจับ AI มาทดลองเล่น ทดลองใช้ ทดลองสอนย่อมไม่เสียหาย มิหนำซ้ำยังช่วยให้ครูคุ้นเคยกับ AI มากขึ้นเปรียบเสมือนกับการมี AI เป็น “มือขวา” ที่คอยช่วยแบ่งเบาภาระและเพิ่มประสิทธิภาพกิจกรรมการเรียนรู้อีกด้วย ประโยชน์ของ AI แบ่งอย่างง่ายได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้
          1. ประโยชน์กับครู – AI ทั่วโลกมีมากมายหลายร้อยอย่างมาก และสาเหตุที่นักพัฒนาจำเป็นต้องแข่งกันสร้าง AI จำนวนมากขนาดนี้ก็เพื่อนำข้อมูลจากผู้ใช้ (user) ไปพัฒนาต่อ และด้วยเหตุนี้เองทำให้ครูซึ่งเป็นผู้ใช้ได้ประโยชน์มากมาย เพราะมี AI มาให้ทดลองใช้ได้อย่างไม่ขาดมือและครอบคลุมความต้องการพื้นฐานของครู เช่น Grammarly สำหรับการตรวจไวยากรณ์ภาษาอังกฤษในงานเขียน QuillBot สำหรับการเรียบเรียงหรือถอดความข้อความภาษาอังกฤษ
          2. ประโยชน์กับนักเรียน – นอกจากนักเรียนสามารถเป็นผู้ใช้ (user) และเลือกใช้ AI ตามความต้องการของตนเองได้เช่นกันแล้ว นักเรียนยังอาจได้ฝึกทักษะเพิ่มเติมจากกิจกรรมการเรียนรู้ที่บูรณาการกับ AI ได้อีกด้วย เช่น การฝึกออกเสียงสำเนียงภาษาอังกฤษด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่ประยุกต์ใช้ text – to – speech AI เข้ามาบูรณาการด้วย ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจำเป็นต้องมีครูคอยกำกับการเรียนรู้เพื่ออธิบายเสริมเพิ่มเติมจากตัวกิจกรรม และอย่าลืมรักษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนในชั้นเรียนไว้ด้วย
          3. ประโยชน์ต่อวงการศึกษา – แม้ AI จะเป็นเทคโนโลยีสำหรับอนาคต แต่แท้จริงแล้วการประยุกต์การเรียนในห้องเรียนกับ AI เป็นเหมือนหมุดหมายสำคัญที่ปูทางให้การศึกษาไทยยังคงทันสมัย และเป็น “ห้องเรียน 4.0” สำหรับครูและนักเรียน เพราะนอกจากฟังก์ชันของ AI จะเป็นประโยชน์แล้ว ทักษะหนึ่งที่ครูและนักเรียนจะได้รับการพัฒนาอย่างแน่นอนคือ Digital Awareness หรือการรู้เท่าทันเทคโนโลยี เพราะเมื่อนักเรียนและครูรู้เท่าทันเทคโนโลยีแล้ว ครูและนักเรียนจะสามารถหยิบเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการและสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นในสังคมได้

          ทั้งนี้ ประโยชน์นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นยังมีอีกมาก ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและการนำไปใช้ของแต่ละบุคคล แต่รับรองได้เลยว่าการเรียนรู้และการทดลองนำ AI ไปใช้ในห้องเรียนนั้นไม่เสียเปล่าแน่นอน

AI กำแพงของครูผู้ตกขบวน
          สิ่งใดมีประโยชน์ สิ่งนั้นย่อมมีโทษแฝง หากครูไทยไม่ยอมเปิดใจและปรับตัวกับ AI แล้ว AI นี้เองจะเป็นกำแพงอันสูงตระหง่านที่คอยกีดกันไม่ให้ห้องเรียนไทยเป็น “ห้องเรียน 4.0” ได้ดังใจหวัง อีกทั้งเป็นขีดจำกัดสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนากิจกรรมให้ทันสมัยขึ้นได้ หรืออาจถูก disrupted เสียเอง ในส่วนของอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นหากไม่เท่าทันเรื่อง AI แบ่งอย่างง่ายได้เป็น 3 ส่วนเช่นกัน ดังนี้
          1. กำแพงกับครู – ก่อนอื่นขอบอกก่อนว่า “ใช้ไม่คล่องดีกว่าไม่ใช้เลย” เพราะการได้ลองหยิบจับเพียงครั้งสองครั้งก็เพียงพอแล้วที่จะให้ครูเห็นถึงประโยชน์และการนำไปใช้ของ AI แต่ละตัว แม้ว่าการเลี่ยงไม่ใช้ AI เพราะมองว่าเป็นเรื่องยากนั้นจะไม่ได้ส่งผลอะไรกับตัวครูโดยตรง แต่ขีดจำกัดเดิม ๆ ที่ครูต้องเผชิญกับการเตรียมตัวสอนหรือข้อจำกัดในกิจกรรมต่าง ๆ ก็ยังคงอยู่ และเมื่อข้อจำกัดหรือข้อผิดพลาดนี้เล็ดลอดไปสู่สายตานักเรียนก็อาจสายเสียแล้ว เช่น จุดผิดเพียงเล็กน้อยบนงานเขียนที่หากครูปล่อยผ่านไป นักเรียนอาจจำไว้เป็นตัวอย่างและนำไปใช้แบบผิด ๆ ได้
          2. กำแพงกับนักเรียน – สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนคือนักเรียนขาดทักษะการรู้เท่าทันเทคโนโลยีอันจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในยุค Digital มาก เพราะนักเรียนเป็น Digital Native หรือกลุ่มคนที่เกิดมาในยุคที่ Digital เฟื่องฟู และคงเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง หากไม่ได้รับการปลูกฝังทักษะอันจำเป็นนี้จากครูหรือคนรอบข้าง เพราะนักเรียนอาจใช้ AI ไปในทางที่ผิดและส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่นอย่างไม่รู้ตัว
          3. กำแพงต่อวงการการศึกษา – เมื่อเราไม่เปลี่ยนตามโลก โลกจะเปลี่ยนเรา กล่าวคือ การศึกษาไทยจะพลาดโอกาสจากช่วงขาขึ้นของ AI นี้อย่างมาก เพราะขณะที่บริษัทดิจิทัลยักษ์ใหญ่หันมาแข่งกันผลิต AI ให้มีคุณภาพดีมากขึ้นเพื่อตอบสนองกับตลาดโลกและความต้องการของมนุษย์ในปัจจุบัน นั่นทำให้เรามีตัวเลือกมากมายในการหยิบจับ AI มาใช้ในวงการการศึกษา หากผู้นำทางการศึกษาไม่ยอมใช้โอกาสตรงนี้มาพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ทันสมัย การศึกษาไทยก็จะยังคงติดอยู่ในกรอบเดิม ขีดจำกัดเดิม แถมยังมีข้อจำกัดใหม่อย่าง AI เข้ามาเพิ่มเติมอีก เรียกได้ว่า AI และความก้าวหน้าเทคโนโลยีเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอนาคตระบบการศึกษาไทยเลยก็ว่าได้

          AI ยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับครูไทย และความพร้อมของแต่ละโรงเรียนอาจไม่เท่ากัน ดังนั้น ขอให้โรงเรียนและครูค่อย ๆ ทำความรู้จักเพื่อนใหม่อย่างเปิดใจ และนำไปปรับใช้เท่าที่ไหวและเข้ากับบริบทนักเรียน หากนำ AI ไปประยุกต์กับบทเรียนได้ยากเกินไปเพราะไม่เข้ากับบริบทนักเรียนหรือโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนไม่อำนวย ก็อาจลดทอนลงมาเป็นการนำ AI ไปพัฒนาเป็นเครื่องมือช่วยสอนสำหรับครูหรือเป็นสื่อการสอนแทนก็ได้ หรืออย่างน้อยขอให้ได้ปลูกฝังทักษะการรู้เท่าทันเทคโนโลยี (Digital Awareness) ก็ยังดี เพราะเทคโนโลยีนั้นอยู่รอบตัวเราและเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ใช้ AI เพียงเล็กน้อยแต่ก็ยังดีกว่าไม่ใช้และไม่เปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เลย ดังนั้น ขอให้ครูเปิดใจและทำความรู้จักเพื่อนใหม่อย่าง AI ให้สนุกนะ

แหล่งอ้างอิง
Melo, N. (2023, February 16). Incorporating Artificial Intelligence into the classroom: An examination of benefits, challenges, and best practices. eLearning Industry. https://elearningindustry.com/incorporating-artificial-intelligence-into-classroom-examination-benefits-challenges-and-best-practices

Shonubi, O. (2023, February 21). AI in the classroom: Pros, cons and the role of EdTech companies. Forbes. https://www.forbes.com/sites/theyec/2023/02/21/ai-in-the-classroom-pros-cons-and-the-role-of-edtech-companies/?sh=4645ebbafeb4


TAG: #KruandAI #AI #Artificial Intelligence #เทคโนโลยี #การออกแบบการเรียนรู้ #การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ #การรู้เท่าทันเทคโนโลยี #การศึกษาไทย