Knowledge

สร้างเป้าหมายการพัฒนาแบบใหม่เพื่อปฏิรูปการศึกษาท่ามกลางโลกที่ไม่แน่นอน

สร้างเป้าหมายการพัฒนาแบบใหม่เพื่อปฏิรูปการศึกษาท่ามกลางโลกที่ไม่แน่นอน

 1 year ago 1449

บันทึกโดย นางสาววัลลภาภรณ์ พานทอง และนายวีรภัทร ดากลาง
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          จากหัวข้อ “การแก้ปัญหาการผลิตและพัฒนาครูสู่การขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย” ของ รศ. ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเห็นว่าปัญหาของเด็กส่วนใหญ่คือการขาดทักษะการดำรงชีวิตที่มีภูมิคุ้มกัน และปัญหาของครูที่จะมี Fixed Mindset นำไปสู่ห้องเรียนที่มีลักษณะ Passive ที่เน้นการนำนโยบายรัฐ จังหวัด หรือท้องถิ่นสู่ห้องเรียน แม้จะบูรณาการร่วมกับวิชาอื่นแต่ไม่เชื่อมโยงปัญหากับชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง รวมทั้งไม่ได้มุ่งพัฒนาการคิดวิเคราะห์ในด้านการพูด อ่าน เขียนของเด็ก ซึ่งในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาจะเริ่มที่การสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยหรือที่เรียกว่า “No Child Left Behind” เนื่องจากเด็กทุกคนคือความหวังในอนาคตที่จะต้องแบกรับกับ GDP ของประเทศไทย

EDUCA Roadshow 2023 การแก้ปัญหาการผลิตและพัฒนาครูสู่การขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย” ของ รศ. ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 นั่นรวมถึงการปฏิรูปกลไกการผลิต และพัฒนาครูให้มีคุณภาพตามมาตรฐานด้วยการพัฒนาหลักสูตรใหม่ให้สามารถทำงานร่วมกับผู้ปกครองและชุมชนได้ รวมทั้งเน้นบริบททางพื้นที่และพหุวัฒนธรรม การจัดอาชีวศึกษาแบบระบบทวิภาคีและระบบอื่น ๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้เกิดการสร้างงานและจ้างงาน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการปฏิรูปบทบาทจากการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน โดยงานวิจัยจะต้องใช้งานได้จริงเพื่อพัฒนาความยั่งยืน

EDUCA Roadshow 2023 การแก้ปัญหาการผลิตและพัฒนาครูสู่การขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย” ของ รศ. ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          จากปัญหาที่รับฟังมาทั้งหมดจะเห็นว่าการศึกษาไทยควรได้รับการปฏิรูป ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเราเอง แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อย แต่หากร่วมมือกันอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่และนำห้องเรียนสู่การเป็นเศรษฐกิจทางการเรียนรู้ รวมทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยที่ครูเปลี่ยนการออกแบบการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนเห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่และการนำบริบททางพื้นที่มาบูรณาการกับวิชาต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนเข้าใจถึงพหุวัฒนธรรมมากขึ้นด้วยการปลูกฝังตั้งแต่เด็กเพื่อนำไปสู่วัฒนธรรมที่ยั่งยืน

          จากหัวข้อ “การใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ เพื่อความยั่งยืน” ความยั่งยืนคือ ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนตัวเราต้องอยู่ได้และแก้ปัญหาได้ โลกทั้ง 3 ที่ผู้บรรยาย คือ รศ. ดร.สุทธิดา จำรัส คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึง ได้แก่ VUCA World, BANI World และ Wicked World (โลกที่โหดร้าย) ล้วนเป็นธรรมชาติของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปที่เราต้องรับมือ เราไม่รู้ว่าปัญหาของโลกในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรแต่เราต้องมีทักษะการแก้ปัญหา (Creative Problem Solving) ต้องใช้นวัตกรรม (Innovations) ที่มีลักษณะสำคัญ 3 อย่าง คือ
1) New Ideas แนวความคิดใหม่
2) New Process กระบวนการใหม่
3) New Outcomes / Solutions ผลลัพธ์และทางออกใหม่

EDUCA Roadshow 2023 การใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ เพื่อความยั่งยืน คือ รศ. ดร.สุทธิดา จำรัส คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          ด้วยเหตุนี้ บทบาทการสอนของครูจึงต้องเปลี่ยนไปด้วย เมื่อยืนบรรยายหน้าห้องทำให้ครูไม่มีโอกาสผิด เด็กจะ focus ที่ตัวครูซึ่งมอบความรู้ชุดหนึ่ง ๆ ที่ถูกย่อยมาแล้ว แต่ถ้าครูลงไปอยู่ข้างเด็กเมื่อไหร่ เราต่างก็มีโอกาสผิดได้ทั้งสองฝ่าย การปฏิรูปการศึกษาหัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ “การปฏิรูปชั้นเรียน” (การเรียนรู้, เด็ก, ครู) มีคำกล่าวว่า “ความรู้บูดง่ายเหมือนนม ทักษะต้องบ่มเหมือนไวน์” นั่นคือ การมีความรู้มาก อาจจะไม่เพียงพอในโลกยุคใหม่ เพราะข้อมูลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้และส่งต่อความรู้คือ “ทักษะ” ที่สั่งสมได้ ยิ่งทักษะรอบด้านมากเท่าไหร่ก็จะมีเครื่องมือในการเรียนรู้มากขึ้น

          ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการศึกษา 4.0 ที่เครื่องมือการปฏิบัติงานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตามสภาพจริง เทคโนโลยีจึงเป็นทั้งเครื่องมือและวิธีคิด จากนั้นอาจารย์ได้จัดกิจกรรม STEM เกี่ยวกับการใช้ NetLogo + ChatGPT เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมการบินของนกเป็นฝูง จะเห็นว่า STEM และวิทยาการคำนวณ ทำให้เด็กได้ตระหนักถึงกระบวนการคิดและปัญหาของตนเอง และฝึกการใช้เหตุผล (Reasoning) ซึ่งล้วนเป็นทักษะสำคัญต่อการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ยั่งยืน

EDUCA Roadshow 2023 วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2566 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


TAG: #การปฏิรูปการศึกษา #Fixed Mindset #EDUCARoadshow2023 #No Child Left Behind #ความเสมอภาคทางการศึกษา #ความยั่งยืน #เทคโนโลยี #การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ #Innovations #นวัตกรรมการเรียนรู้ #นวัตกรรมการศึกษา #STEM #ารปฏิรูปชั้นเรียน