Knowledge
อาหารกลางวันสำคัญไฉน? : สำรวจแนวคิดเบื้องหลังอาหารมื้อกลางวันในโรงเรียนแต่ละประเทศ
5 years ago 10488เรื่อง: ภัทรพร บุญนำอุดม
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
การรับประทานอาหารมีความสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่อย่างลึกซึ้ง การเลือกกินอาหารในหลายๆ
ครั้งไม่ใช่เพียงเพื่อบรรเทาความหิวโหย หากแต่เป็นการสะท้อนวิธีคิด อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์เฉพาะตัวของผู้กิน กระทั่งการเลือกเสิร์ฟอาหารของเชฟ หรือในร้านอาหารก็ยังเป็นความต้องการแสดงออกถึงฝีมือในการคัดสรรวัตถุดิบมาปรุงรส และยังมีสาระสำคัญอีกมากมายที่แฝงอยู่ในอาหารเหล่านั้น
อาหารในโรงเรียนก็เช่นกัน นอกจากจะมีไว้เพื่อให้นักเรียนทุกคนอิ่มท้อง อาหารแต่ละมื้อยังบ่งบอกค่านิยม และทัศนคติของผู้จัดหาอาหารว่า เขาให้ความใส่ใจกับโภชนาการของอาหารแต่ละมื้อของเด็กๆ มากแค่ไหน และเขาอยากหล่อเลี้ยงนักเรียนของเขาให้เติบโตขึ้นด้วยอาหารประเภทใด
ในปัจจุบันมีงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า คุณภาพของอาหารมีความสัมพันธ์ต่อคุณภาพของการศึกษา
นอกจากการจัดหาอาหารในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของนักเรียนแล้ว โรงเรียนหลายแห่งในสหรัฐอเมริกายังให้ความสำคัญต่อการกำหนดหมวดหมู่ของอาหารให้แก่นักเรียนของพวกเขามากขึ้น ด้วยความเชื่อที่ว่า อาหารที่มีประโยชน์จำทำให้นักเรียนเหนื่อยกับการเรียนน้อยลง มีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้น ทั้งยังเพิ่มความสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น
บางโรงเรียนในสหรัฐฯ ใช้วิธีการจัดหาอาหารเช้ามาให้นักเรียน ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ จำนวนของนักเรียนที่มาโรงเรียนมีเพิ่มขึ้น พฤติกรรมทางการเรียนได้รับการพัฒนาในแง่บวก และยังพบว่านักเรียนมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น
โภชนาการของอาหารแต่ละมื้อส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ โดยอาจแบ่งคร่าวๆ ออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่
1. พัฒนาการทางกาย เช่น อาหารบางประเภทมีคุณสมบัติที่ช่วยในการบำรุงสายตา
2. กระบวนการเรียนรู้ เช่น การได้รับอาหารในปริมาณที่พอเหมาะทำให้มีสมาธิในการเรียน และส่งผลดีต่อระบบความจำ
3. พฤติกรรมในการเรียน เช่น การมีพลังและตื่นตัวในการเรียนรู้
แนวคิดเบื้องหลังอาหารกลางวัน
‘อาหารแต่ละมื้อคือบทเรียนของนักเรียน’
โรงเรียนในญี่ปุ่น
ในฐานะที่เป็นประเทศซึ่งขึ้นชื่อว่าเสิร์ฟอาหารที่ดีต่อสุขภาพแล้ว อาหารกลางวันในโรงเรียนญี่ปุ่นยังขึ้นชื่อว่าเป็นมื้อที่คุณภาพที่ดีที่สุดในโลกอีกด้วย นอกจากนี้อาหารแต่ละมื้อของเด็กๆ ยังช่วยฝึกให้พวกเขาได้เรียนรู้ในเรื่องของการช่วยตัวเองและการร่วมมือกับผู้อื่น โดยในแต่ละวัน นักเรียนจะได้รับมอบหมายให้ผลัดเวรกันตักอาหารแก่เพื่อนๆ
โดยปกติอาหารแต่ละมื้อของโรงเรียนในญี่ปุ่นมักจะประกอบด้วย ข้าวสวย ซุป เนื้อสัตว์ประเภทเนื้อวัวหรือปลา เครื่องเคียงต่างๆ รวมทั้งนม
‘การเลือกกินอาหารคือเรื่องใหญ่’
โรงเรียนในเกาหลีใต้
คุณภาพของอาหารกลางวันของโรงเรียนในเกาหลีใต้สามารถเทียบเคียงได้กับการรับประทานอาหารในร้านอาหารที่มักจะมาพร้อมเครื่องเคียงให้เราเลือกกินหลากหลายชนิด โดยในแต่ละมื้ออาหารของนักเรียนจะต้องประกอบด้วย ข้าว เนื้อสัตว์ สลัด กิมจิ และซุป
นอกจากนี้คุณค่าทางโภชนาการของอาหารแต่ละมื้อยังถือเป็นเรื่องใหญ่ที่โรงเรียนในเกาหลีใต้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ถึงกับมีแคมเปญรณรงค์ให้นักเรียนงดบริโภคอาหารขยะ ที่สามารถส่งผลกระทบต่อไปถึงสหรัฐฯ เลยด้วย
‘เปลี่ยนจังก์ฟู้ดให้กลายเป็นอาหารเปี่ยมด้วยวิตามิน’
โรงเรียนในสหรัฐอเมริกา
ก่อนหน้านี้โรงเรียนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ นิยมเสิร์ฟเบอร์เกอร์และมันฝรั่งให้แก่เด็กๆ แต่อย่างที่รู้กันดีว่า สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องภาวะทางโภชนาการของประชากร เช่นโรคอ้วน เบาหวาน ความดันสูง ฯลฯ
อาหารโรงเรียนในยุคหลังจึงได้รับการปรับปรุงให้มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น เช่น
โรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในรัฐโคโลราโด ได้สร้างบทเรียนให้เด็กด้วยการสอนให้พวกเขาปลูกผักด้วยตัวเองในสวนของโรงเรียน และรู้จักที่จะนำมาหั่นเพื่อทำอาหารกลางวัน อย่างเช่น เมนูทาโก้
‘อาหารของแม่ดีที่สุด’
โรงเรียนในอินเดีย
เด็กๆ ในอินเดียนิยมห่ออาหารจากบ้านไปโรงเรียน จนกระทั่งก่อเกิดเป็นธุรกิจของการรับส่งอาหารที่สดใหม่ รสชาติที่คุ้นเคยจากบ้านของนักเรียนเพื่อไปส่งถึงมือพวกเขาที่โรงเรียน
สำหรับเมนูอาหารย่อมเป็นเมนูประจำบ้านของอินเดีย อย่างแกงดาลซึ่งทำมาจากถั่ว กินคู่กับแป้งโรตีและผัก หรือเป็นเมนูประเภทแกงต่างๆ ที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ
‘อาหารส่งผลต่อความสุขในการเรียน’
โรงเรียนในฟินแลนด์
ฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีการศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดเรื่องอาหารกลางวันของเด็กๆ โดยมีความตั้งใจว่า นักเรียนในโรงเรียนจะต้องได้กินอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ สะอาด และดีต่อสุขภาพ นับตั้งแต่ปี 1984 ฟินแลนด์เป็นประเทศแรกของโลกที่เสิร์ฟอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนฟรี
ภายใต้ความเชื่อที่ว่า หากนักเรียนได้กินอาหารที่ดี สุขภาพของพวกเขาก็จะดี และสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข โดยมื้อปกติของโรงเรียนในฟินแลนด์มักจะประกอบด้วย อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตจำนวนครึ่งหนึ่ง เนื้อสัตว์หรือซุปที่มีส่วนประกอบของโปรตีน ขนมปัง และผลไม้ประเภทเบอร์รี่ และผลไม้ตามฤดูกาล
จากมื้ออาหารสู่สถานที่
ขณะที่บางประเทศยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพของอาหารกลางวันนักเรียน หรือการสร้างเกณฑ์ทางโภชนาการ แต่ในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมีการคำนึงต่อไปถึงเรื่องของการจัดสถานที่ในการรับประทานอาหารของนักเรียน
นักเรียนบางคนอาจไม่ได้มีความชื่นชอบในการกินอาหารร่วมกับเพื่อนๆ ในโรงอาหารขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยเสียงการพูดคุยกัน ทางโรงเรียนในประเทศเหล่านี้ก็ได้มีการจัดหาพื้นที่ที่สงบ สะอาด ปลอดภัย เพื่อตอบสนองการกินอาหารอย่างมีความสุขให้กับนักเรียนผู้รักสันโดษเหล่านี้
*** หมายเหตุ
อย่างไรก็ตาม มื้ออาหารของแต่ละโรงเรียนไม่ได้เป็นภาพแทนของทุกโรงเรียนทั้งประเทศ ยังมีอีกหลายโรงเรียนที่ยังประสบปัญหาทั้งเรื่องคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการของอาหารเช่นเดียวกัน อย่างน้อยที่สุด การที่เราได้รับรู้ถึงแนวคิดเบื้องหลังมื้ออาหารของโรงเรียนเหล่านี้ได้ชักชวนให้เรากลับมาทบทวนและตั้งคำถามต่ออาหารแต่ละมื้อที่โรงเรียนของเราเลือกสรรให้นักเรียน รวมทั้งสามารถนำข้อคิดมาปรับปรุงและพัฒนาต่อไปในอนาคต
อ้างอิงข้อมูล:
blog.tripbase.com/whats-best-for-our-kids-11-school-lunches-from-around-the-world
www.nytimes.com/2017/06/05/well/feeding-young-minds-the-importance-of-school-lunches.html