Knowledge

ถอดบทเรียนจากสิงคโปร์ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของครูใหญ่ ความสำเร็จที่เกิดจากการออกแบบที่ดี ตอน 2

ถอดบทเรียนจากสิงคโปร์ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของครูใหญ่ ความสำเร็จที่เกิดจากการออกแบบที่ดี ตอน 2

 4 years ago 3361

แปล: พิศวัสน์ สุวรรณมรรคา 
เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์ 
ภาพ: นัชชา ชัยจิตรเฉลา

          ความสำเร็จของระบบการศึกษาของสิงคโปร์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเกิดจากการวางแผน และออกแบบที่ดีจากหลายภาคส่วน หนึ่งในสิ่งที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญคือ กระบวนการพัฒนาครูใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และมีศักยภาพสูงจะนำพาครูและนักเรียนไปสู่การศึกษาที่มีคุณภาพได้ หลังจากที่เราได้รู้จักกับระบบการคัดกรอง และคัดเลือกครูใหญ่ในสิงคโปร์ รวมถึงโปรแกรมการฝึกอบรมในการเตรียมความพร้อมก่อนจะเป็นครูใหญ่แล้ว เรามาดูกันต่อว่า สิงค์โปร์มีกระบวนการในการประเมินครูใหญ่อย่างไร รวมถึงยุทธวิธีที่ใช้สร้างครูใหญ่ที่มีคุณภาพให้สอดรับกับเป้าหมายการศึกษาของประเทศ

การประเมินครูใหญ่อย่างสม่ำเสมอ คือส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
          ครูใหญ่ในสิงคโปร์จะได้รับการประเมินทุกปีผ่านเครื่องมือการประเมินคุณค่าและการพัฒนาแบบองค์รวมที่มีชื่อว่า Enhanced Performance Management System (EPMS) การประเมินนี้เกิดขึ้น 3 ระยะคือ
1. การแสดงความสามารถในการวางแผน
2. การแสดงความสามารถในการชี้แนะ หรือการโค้ช
3. การแสดงความสามารถในการประเมินคุณค่า
          ในช่วงของการวางแผน ครูใหญ่จะทำงานร่วมกับผู้นิเทศก์ ซึ่งโดยทั่วไปคือผู้กำกับการของกลุ่มโรงเรียน เพื่อกำหนดเป้าหมายการฝึกอบรม แผนการพัฒนาโรงเรียนและตนเอง การชี้แนะจะเกิดขึ้นเป็นประจำตลอดทั้งปีโดยมีผู้กำกับการเป็นผู้ให้คำแนะนำและการสนับสนุนที่เป็นประโยชน์ ซึ่งผู้กำกับการกลุ่มโรงเรียนนี้เองก็เคยเป็นครูใหญ่อาวุโสที่มีประสิทธิภาพมาก่อน ในช่วงปลายปีครูใหญ่จะพบกับผู้กำกับการกลุ่มโรงเรียน เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับผลลัพธ์ และการประเมินคุณค่าของพวกเขา การประเมินนี้จะมีทั้งการประเมินของตนเองของครูใหญ่ การประเมินคุณค่าของผู้กำกับการกลุ่มโรงเรียน และข้อมูลของรองผู้อำนวยการที่ให้การแนะนำแก่ผู้กำกับการกลุ่มโรงเรียน กระบวนการนี้ตอบสนองจุดมุ่งหมายอย่างหลากหลาย รวมถึงการสนับสนุนให้ครูใหญ่เติบโตและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ครูใหญ่ได้รับการฝึกอบรมและการสนับสนุนที่ดี เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเลื่อนตำแหน่งตามบันไดอาชีพของนักการศึกษา
          การชี้แนะ การให้คำปรึกษา และการทำงานเป็นเครือข่ายคือ หัวใจของกระบวนการพัฒนาครูใหญ่ในสิงคโปร์ กลยุทธ์เหล่านี้ยังใช้สร้างชุมชนแห่งการปฏิบัติที่ถ่ายโอนความรู้ และความเชี่ยวชาญไปทั่วทั้งระบบการศึกษา ครูใหญ่ทุกคนมีโค้ช และที่ปรึกษาของตัวเอง ขณะเดียวกันครูใหญ่ก็ยังทำหน้าที่เป็นโค้ช และที่ปรึกษาให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญน้อยกว่า หรือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าในอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายคอยให้ความช่วยเหลือ ประกอบไปด้วยผู้นำครูในโรงเรียนของพวกเขา ครูใหญ่ในโรงเรียนต่างๆ และผู้นำการศึกษาภายในกระทรวง สถาบันการศึกษาแห่งชาติ และสมาคมครูใหญ่

          สิงคโปร์เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และต้องการช่วยครูใหญ่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ครูใหญ่จึงมีสิทธิ์ได้รับทุนการพัฒนาวิชาชีพจากกระทรวงศึกษาธิการ การประชุมวิชาการ การประชุมเชิงปฏิบัติการและการสัมมนา ตลอดจนโอกาสในการศึกษาระดับนานาชาติ สามารถเลือกหลักสูตร และโปรแกรมต่างๆ โดยต้องให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอาชีพของพวกเขาผ่านสถาบันการศึกษาแห่งชาติ ดังนั้น ครูใหญ่จึงได้รับการฝึกฝนให้ประยุกต์ใช้การเรียนรู้ และปรับใช้ให้เหมาะกับระบบการศึกษาที่มีการเปลี่ยนผ่านอยู่ตลอดเวลา และยังได้รับการหมุนเวียนให้เข้ามาทำงานในกระทรวงเป็นประจำ และกลับเข้าไปในโรงเรียน เพื่อให้พวกเขามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับระบบที่ใหญ่ขึ้นและเป้าหมายระดับชาติ

แรงจูงใจของครูใหญ่ในโรงเรียนร้อยรัดกับเป้าหมายต่างๆ ทั่วทั้งระบบในสิงคโปร์
          สิ่งจูงใจสำหรับครูใหญ่เป็นไปเพื่อสนับสนุนเป้าหมายโดยรวมของระบบการศึกษา มีการปรับค่าตอบแทน รวมถึงโอกาสในการเลื่อนขั้น และตำแหน่ง เพื่อทำให้อาชีพนี้น่าสนใจสำหรับนักการศึกษาที่มีศักยภาพ เช่น มีแพ็คเกจการจ่ายเงินและอาชีพ GROW และ GROW 2.0 เช่น สมรรถนะของครูใหญ่ใน Enhanced Performance Management System (EPMS) คือการบริหารจัดการบุคลากร การเป็นผู้นำ การสร้างแรงบันดาลใจ วิสัยทัศน์สำหรับอนาคต และการรู้จักตนเองและผู้อื่น สิงคโปร์ให้ความโปร่งใสกับสิ่งที่ผู้บริหารต้องรู้ และต้องสามารถทำได้ และได้จัดเรียงลำดับทักษะเหล่านั้นกับเป้าหมายโดยรวมของระบบการศึกษา ผู้ที่บรรลุเป้าหมายเหล่านี้จะได้รับการยอมรับ และได้รับรางวัลทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่เงินที่เรียกว่า เกรด ส่งผลให้ครูใหญ่ต้องได้รับการเลื่อนขั้นหลายครั้งเพื่อให้ถึงระดับครูใหญ่ที่อาวุโสสุด ก่อนที่จะได้รับการพิจารณาให้เลื่อนระดับเป็นผู้กำกับการกลุ่มโรงเรียน การเลื่อนขั้นขึ้นอยู่กับศักยภาพโดยประมาณในปัจจุบันของครูใหญ่ ผลงานความสามารถประจำปี ความรู้และประสบการณ์ ความซื่อสัตย์ และลักษณะนิสัย ความพร้อมที่จะดำเนินการในระดับที่สูงขึ้นต่อไป การรับรองจากผู้นิเทศก์ และเพื่อนร่วมงาน การสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการ และความต้องการในการจ้างงานของระบบ

          เช่นเดียวกับประเทศไทย ครูใหญ่ในสิงคโปร์ก็ต้องมีการย้ายให้ไปทำงานยังโรงเรียนใหม่ทุก 5-7 ปี เป็นการเปิดโอกาสให้ครูใหญ่ที่มีประสบการณ์น้อยได้เรียนรู้บริบทต่างๆ ในโรงเรียนที่หลากหลาย และสร้างโอกาสให้ครูใหญ่ที่เชี่ยวชาญได้แบ่งปันความรู้ และทักษะต่างๆ แก่โรงเรียนที่มีสมรรถนะต่ำกว่า กลยุทธ์นี้ช่วยกระจายความเป็นเลิศ และความเสมอภาคไปยังโรงเรียนทุกแห่งในสิงคโปร์

          กระบวนการทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนของความตั้งใจจริงของสิงคโปร์ที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพของครูใหญ่ นอกจากประสิทธิผลของครูผู้สอนในโรงเรียนแล้ว การมีภาวะผู้นำถือเป็นปัจจัยภายในที่สำคัญที่สุดในโรงเรียน ที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน ความสำเร็จของระบบการศึกษาของสิงคโปร์ที่ก้าวกระโดดจากระดับทัดเทียมประเทศกำลังพัฒนา ขึ้นมาติดหนึ่งในประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดของโลกในระยะเวลาไม่นานนัก คือเครื่องพิสูจน์อย่างชัดเจนว่ามาจากการออกแบบที่ดี

อ้างอิง
CIEB. (2016, February 29). Shaping Strong Principals in Singapore: Success by Design. Retrieved September 10, 2020, from https://ncee.org/2016/02/shaping-strong-principals-in-singapore-success-by-design/


TAG: #การจัดการโรงเรียน #ครูใหญ่ #สิงคโปร์