Knowledge
เทคนิคสำหรับการสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนและโรงเรียน โดยไม่หลงลืมนักเรียน
4 years ago 5690เรียบเรียง: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: นัชชา ชัยจิตรเฉลา
การสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างกลุ่มหรือหน่วยงานที่มีความต้องการหลากหลายให้ประสบความสำเร็จด้วยดีนั้น ต้องอาศัยการมีส่วนร่วม และความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งการจะสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นได้นั้นล้วนแล้วแต่มีเทคนิควิธีการที่สามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนาความสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
ประการแรก “การสื่อสาร” คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และทำให้ผู้อื่นอยากมีส่วนร่วมอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้นอีกด้วย การสื่อสารที่ดีอย่างต่อเนื่องในพื้นที่นั้นจะช่วยสร้างความเข้าใจ และชี้ให้เห็นประโยชน์ของการร่วมมือ ซึ่งจะทำให้สมาชิกในชุมชน และบุคคลที่สนใจตระหนักถึงบทบาทของตนเอง และอยากมีส่วนร่วมด้วยความตั้งใจของตนเองมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นการสื่อสารที่มีคุณภาพยังควรสื่อให้เห็นถึงบทบาทความสำคัญของชุมชนในการขับเคลื่อน และสร้างการพัฒนาชุมชนให้เป็นไปตามความต้องการอย่างแท้จริงของชุมชนเอง
ประการที่สอง “การตั้งเป้าหมายและสิ่งที่คาดหวังให้ชัดเจน” การทำงานโดยมีเป้าหมายร่วมที่สอดคล้องกันจะช่วยให้แนวทางการปฏิบัติงานนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีการกำหนดบทบาทการทำหน้าที่ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายได้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น เช่น มีการจัดตั้งคณะกรรมการทำงานที่ประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ช่วยสะท้อนความต้องการที่มีอยู่ภายในชุมชน สร้างความเชื่อมั่น สื่อสารและสร้างความเข้าใจต่อประเด็นเป้าหมายที่คาดหวังให้เกิดขึ้นภายในชุมชน ทั้งนี้การตั้งเป้าหมายและการสื่อสารควรมีลักษณะที่สั้น กระชับ ตรงไปตรงมาเข้าใจง่ายและเคารพซึ่งกันและกัน สามารถทำงานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้
ประการที่สาม “การรู้ศักยภาพ ความถนัดและความสามารถเฉพาะตัว”ของผู้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานภายในชุมชน การรู้จักจุดแข็งหรือสิ่งที่ดีที่ในกลุ่มมีอยู่นั้นจะช่วยให้รู้ว่าควรผลักดัน สร้างคุณค่าให้จุดแข็งเหล่านั้นให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร ในขณะเดียวกันก็สำรวจจุดอ่อนจุดด้อยที่ยังต้องพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนใด รวมทั้งสรรหาผู้ปฏิบัติงานในส่วนที่ขาดเพิ่มเติมอีกได้เช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น การรู้ศักยภาพหรือจุดเด่น จุดแข็งของตนเองจะช่วยให้สามารถค้นหาผู้สนับสนุน สมาชิกใหม่ผู้ที่เหมาะสมกับแนวทางการทำงานและเป้าหมายของกลุ่มชุมชน-โรงเรียนได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย การค้นหาหรือสำรวจหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชุมชนเป็นทุนเดิมหรือหน่วยงานที่มีโอกาสจะได้ร่วมงานกันตามแผนงานที่ได้วางไว้ แม้ว่าจะไม่ได้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษาก็ตาม แต่ถ้าหากจัดทำโครงการที่เชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานเข้ากับชุมชน และโรงเรียนขึ้นได้แล้วนั้น แนวโน้มที่ความร่วมมือในการจัดการโครงงานพัฒนาต่างๆ จะประสบความสำเร็จ อีกทั้งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน
ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานจะต้องคำนึงอยู่เสมอว่าความสัมพันธ์ที่ดีจะเป็นพลังช่วยสร้างชุมชนแห่งความร่วมมือให้เข้มแข็ง ผู้มีส่วนร่วมกับโครงการ เช่น ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครองและสมาชิกในชุมชนจึงควรรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวจะต้องมีการประสานงานให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง มีการทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอยู่เสมอ การสร้างความเชื่อมั่นและการรู้จักเคารพผู้ร่วมงานถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างความสัมพันธ์ให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว และความสัมพันธ์ในการทำงานที่ดีในระยะยาวนั้นจะช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเรียนรู้ และปรับแนวทางที่เหมาะสมในการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต
“บทบาทนักเรียนในฐานะส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์การพัฒนาระหว่างชุมชนและโรงเรียน”
นักเรียนในฐานะที่เป็นสมาชิกของโรงเรียนและเป็นสมาชิกที่อาศัยอยู่ในชุมชน การที่นักเรียนในโรงเรียนเกิดความตระหนักในการพัฒนาการศึกษาและชุมชนของตนเอง โดยต้องการที่จะมีส่วนร่วมในกลุ่มความร่วมมือต่าง ๆ ของชุมชนและโรงเรียนนั้น ถือเป็นพลังและกำลังสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินการของกลุ่มความร่วมมือให้ประสบความสำเร็จในระยะยาวอีกด้วย
ดังนั้น นักเรียนจึงมีบทบาทตัวประสานที่สำคัญ และถือเป็นพลังเชิงบวกที่ขับเคลื่อนกลุ่มความร่วมมือซึ่งไม่อาจมองข้ามได้ ครูและผู้นำ ผู้บริหารโรงเรียนจึงควรส่งเสริมและปลูกฝังทักษะ และทัศนคติที่เหมาะสมต่อการพัฒนาความร่วมมือให้เกิดขึ้นระหว่างชุมชน และโรงเรียนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การส่งเสริมให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมกับการพัฒนาชุมชนซึ่งสัมพันธ์กับโรงเรียน สามารถทำได้โดยประยุกต์ใช้แนวทาง ดังต่อไปนี้ นักเรียนควรได้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานจริง ได้ลองเสนอความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน นักเรียนได้มีประสบการณ์ร่วมคิด วิเคราะห์ และนำเสนอทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนและสังคมโดยรวมได้ เช่น ความมั่นคงทางด้านอาหาร การทำลายสิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคภายในโรงเรียน ประกอบกับการอบรมทักษะเพิ่มเติมในชั้นเรียนให้แก่นักเรียน ให้นักเรียนได้ฝึกคิดวิเคราะห์สถานการณ์เรื่องราวที่ได้อ่าน ฝึกคิดเป็นระบบผ่านการค้นคว้าและตั้งคำถามอย่างเป็นเหตุเป็นผลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นฝึกฝนที่ดีควรเริ่มจากการฝึกทำโครงงานกลุ่มเล็กๆ ภายในห้องเรียนให้นักเรียนได้ริเริ่มฝึกฝนทักษะการคิด ความกล้าแสดงออกและกระบวนการทำงานในขั้นพื้นฐานก่อนจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการทำงานจริงร่วมกับผู้ใหญ่ในชุมชนและโรงเรียน หากเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เสนอและแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ เป้าหมายของการทำงานร่วมกันในชุมชน การกระจายถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ระหว่างกลุ่มคนในแต่ละช่วงวัยจนกลายเป็นเป้าหมายร่วมกันของคนในชุมชน และโรงเรียนซึ่งจะช่วยให้ความสัมพันธ์ และการทำงานร่วมกันประสบความสำเร็จง่ายยิ่งขึ้น
ท้ายที่สุด ความร่วมมือระหว่างชุมชนและโรงเรียนจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนนั้นต้องอาศัยพลังของโรงเรียน ชุมชน และนักเรียนทำงานร่วมกันอย่างมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกฝน แลกเปลี่ยนและเรียนรู้แนวทางแก้ปัญหา ภูมิปัญญาจากผู้อาวุโส ผู้มีองค์ความรู้ในชุมชน รวมทั้งนักเรียนเองก็มีองค์ความรู้ที่ทันสมัยสามารถถ่ายทอดให้แก่คนในชุมชนได้เช่นเดียวกัน การบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างช่วงวัยผ่านการทำกิจกรรม ทำโครงการพัฒนาต่างๆ จะช่วยให้พัฒนาศักยภาพนักเรียน พัฒนาสมาชิกผู้มีส่วนร่วมในชุมชน เมื่อสมาชิกมีความสัมพันธ์ที่ดี รู้จักเข้าใจปรับตัวในการทำงานและผสานความต้องการที่มีร่วมกันก่อให้เกิดการพัฒนาโรงเรียนและชุมชนอย่างยั่งยืน
ที่มา:
The Corporation for National and Community Service (CNCS). Tips for cultivating community partnerships. วันที่เข้าถึงข้อมูล 17 สิงหาคม 2563 จาก https://www.nationalservice.gov/special-initiatives/days-service/martin-luther-king-jr-day-service/toolkits/other-resources/tips
Rommel Loria. (2018). A How-to Guide for Building School-Community Partnerships. วันที่เข้าถึงข้อมูล 17 สิงหาคม 2563 จาก Education Week: https://www.edweek.org/ew/articles/2018/03/23/a-how-to-guide-for-building-school-community-partnerships.html