Knowledge
เมื่อเจอครูหมดไฟ ครูใหญ่ทำอะไรได้บ้าง
1 year ago 2758อาทิตยา ไสยพร
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่แน่นอนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ครูต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อที่จะสามารถทำการสอนต่อไปได้ นอกเหนือจากงานสอนยังมีภาระงานอื่นที่ครูต้องรับผิดชอบร่วมด้วย ภาระงานที่มากมายทำให้ครูหลายท่านประสบกับกับความเครียดส่งผลต่อปัญหาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนและสุขภาวะของครูโดยรวมได้ แล้วครูใหญ่ในฐานะผู้บริหารจะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือคุณครูในโรงเรียนของตนได้บ้าง
เข้าใจปัญหาอาการหมดไฟ
ก่อนที่จะไปจัดการปัญหาที่เกิดจากอาการหมดไฟ ครูใหญ่จำเป็นต้องค้นหาและวิเคราะห์ให้แน่ใจเสียก่อนว่าเกิดจากเหตุใดกันแน่ เพราะมีปัจจัยมากมายที่ส่งผลให้ครูหมดไฟในการสอนแม้การสอนจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ยกตัวอย่างเช่น
1. ตารางงานที่ควบคุมไม่ได้ ส่งผลต่อตารางชีวิตที่จัดสรรเวลาได้ยาก นอกจากนั้นยังไม่นับภาระนอกเหนือจากการสอน และการดูแลนักเรียนที่ไม่สามารถจัดการได้อย่างใจ เหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาวะของครูได้ทั้งหมด หรือที่เรียกว่าการขาดความสมดุลชีวิตและการทำงาน (work-life balance)
2. ความคาดหวังในงานที่ทำอยู่ เมื่องานที่ทำเต็มไปด้วยความคาดหวัง ไม่ว่าจะเกิดจากตนเองผู้บริหาร นักเรียน หรือผู้ปกครอง แรงกดดันจากสิ่งเหล่านี้ก่อเกิดเป็นความเครียดในการทำงานได้
3. การขาดการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานนั้นมีอิทธิพลต่อการทำงานไม่มากก็น้อย กลายเป็นความรู้สึกแปลกแยกหรือโดดเดี่ยวจากเพื่อนร่วมงาน เช่น ความรู้สึกไม่สบายใจในทำงานกับเพื่อนครู หรือเมื่อทำงานสำเร็จมักถูกมองข้าม ไม่ได้รับคำชม
4. การดูแลบุคลากรอย่างไม่เท่าเทียม การบริหารจัดการคนในโรงเรียนที่มีบุคลากรหลากหลายว่ายากแล้ว การดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมนั้นยากกว่าหลายเท่า เพราะเมื่อครูมีความรู้สึกว่าตนได้รับการดูแลหรือใส่ใจน้อยกว่าเพื่อนครูคนอื่น ๆ แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อกำลังใจในการทำงาน ทำให้ขาดแรงจูงใจจนเกิดภาวะหมดไฟในที่สุด
เมื่อเข้าใจถึงสาเหตุจากการพูดสอบถาม กระบวนการที่สำคัญคือแก้ไขปัญหาภาวะหมดไฟการสอนให้คุณครู
ครูใหญ่ (และเพื่อนครู) จะสามารถช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง
1. การพูดคุยกับครูให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยแบบเจอหน้า โทรศัพท์ หรือออนไลน์ก็ใช้ได้ การพูดคุยไม่เพียงเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา แต่ยังเป็นพื้นที่ให้ระบายความรู้สึกที่คั่งค้างในใจและทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในการทำงาน
2. การสร้างกิจกรรมที่ทำให้ครูได้ทำสิ่งอื่นนอกเหนือจากงาน หากิจกรรมช่วยให้ครูได้ใช้เวลาร่วมกัน เช่น การจับกลุ่มทำงานอดิเรกด้วยกัน การออกกำลังกาย หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย
3. การให้อิสระให้ครูได้ลองรูปแบบการสอนใหม่ ๆ หากครูรู้สึกว่าตนเองไม่มีแรงบันดาลใจในการสอนหรือหมดไฟกับสิ่งเดิม ๆ ให้ลองปรับการสอนโดยกลวิธีใหม่ ๆ มาใช้ในการสอนรายวิชาของตน เมื่อเจอกับเป้าหมายใหม่ในการสอนอาจช่วยเติมไฟในการสอนของครูได้อีกครั้ง
4. ดูแลสภาพจิตใจของครูและอยู่เคียงข้างในยามต้องการความช่วยเหลือ สิ่งที่ควรจัดสรรให้มีในโรงเรียนคือการมีนักจิตวิทยาประจำภายในโรงเรียน เพื่อให้ทั้งครูและนักเรียนได้มีที่ปรึกษาทางด้านจิตใจ หรืออาจใช้ตัวเลือกอื่นที่ได้ผล เช่น การประเมินสุขภาพจิตผ่านเครื่องมือต่าง ๆ หรือการเปิดพื้นที่ให้ครูสามารถบอกเล่าและขอความช่วยเหลือได้โดยการเข้าหาครูใหญ่ได้โดยตรง
เมื่อไฟนั้นมอดไป การรอเฉย ๆ ให้ไฟนั้นขึ้นมาเองคงยาก ผู้บริหารจึงเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถเติมไฟของครูให้ลุกโชนขึ้นมาได้อีกครั้ง ผ่านการช่วยเหลือและดูแลเท่าที่สามารถจะทำได้ ไม่เพียงครูที่กำลังอยู่ในภาวะหมดไฟ ครูที่ยังไฟแรงก็ต้องดูแลไม่ให้ไฟนั้นมอดลง คอยอยู่เคียงข้างสนับสนุนและช่วยเหลือเป็นกำลังใจเพื่อให้ครูทำงานในโรงเรียนได้อย่างมีความสุข
แหล่งอ้างอิง
เอกปวีร์ สีฟ้า. (ม.ป.ป.). ความเครียดของคนเป็นครู ส่งผลต่อเด็ก มาพร้อมวิธีลดความเครียด. EDUCA. https://www.educathai.com/knowledge/articles/594
Mayo Clinic Staff. (2021, June 5). Job burnout: How to spot it and take action. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/in-depth/burnout/art-20046642
Prodigy. (2020, May 5). 8 proven ways to overcome teacher burnout and love teaching again. https://www.prodigygame.com/main-en/blog/teacher-burnout/