Knowledge
SLC Researcher Diary – Log #02 รู้จักแนวคิด slow pedagogy – แค่สอนก็ไม่ทันอยู่แล้ว จะรอให้นักเรียนตอบได้อย่างไร
11 months ago 2382วรเชษฐ แซ่เจีย
เรื่องกวนใจครูในช่วงกลางไปจนถึงปลายเทอม ก็คือวิกฤตสอนไม่ทัน ครูหลายคนจึงมักจะมองหากลยุทธ์การสอน การจัดกิจกรรม หรือการเตรียมใบความรู้สำเร็จรูป เพื่อให้กลับไปสู่เส้นทางการเรียนรู้ที่ครูวางเอาไว้ อย่างไรก็ตาม แม้จะกลับไปเป็นตามแผนเดิม แต่ก็ใช่ว่าจะรับรองว่านักเรียนทุกคนจะได้เรียนรู้จริง ๆ และถึงจะรู้อยู่แก่ใจเช่นนั้น ครูก็มักต้องจำใจทำ เพื่อให้นักเรียนพอจะมีความรู้ติดตัวไว้ใช้สอบบ้าง
ทำความรู้จัก Slow Pedagogy
ประเด็นนี้ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงการนำเสนอหัวข้อและตัวอย่างการนำหลักการ Slow Pedagogy ของนักวิชาการหลายท่าน ที่นำเสนอในการประชุมนานาชาติโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ ครั้งที่ 10 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นที่ผ่านมาแนวคิดดังกล่าว หมายถึง รูปแบบของหลักสูตรการเรียนรู้ที่ไม่เร่งรีบเร่งเร้าให้นักเรียนรับข้อมูลแบบพร้อมใช้แต่ไม่ได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ นำเสนอโดย อาจารย์คิโยมิ อากิตะ (Kiyomi Akita) จากมหาวิทยาลัยกักคุชูอิน ประเทศญี่ปุ่น
การใช้คำว่า Slow หรือเนิบช้า เป็นเพราะผู้คิดค้นนั้น ได้เปรียบการศึกษาเหมือนการทำอาหารที่มักใช้เวลาในการเตรียมการมาก อีกทั้งยังอาศัยการรอคอยเวลาเพื่อให้อาหารสุกได้ที่ ตามแต่กระบวนการปรุงที่เลือกใช้ ในทางตรงกันข้าม การเลือกสั่งอาหารจานด่วน (fast food) ที่มักจะอร่อยและอิ่มท้องแต่ก็อาจไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพและร่างกายของคนที่ทานเข้าไปนัก หากเปรียบเป็นความรู้ ก็คงเป็นความรู้ที่ถูกจัดสรรและออกแบบมาเพื่อประโยชน์เชิงการตลาดที่เน้นความรวดเร็ว นำไปใช้ได้ทันที แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนในระยะยาวเพียงใด
แนวคิดดังกล่าวนั้นขับเน้นให้ การรอคอยของครู เป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ ไม่เพียงแต่รอคอยอย่างใจเย็นเพื่อให้นักเรียนแต่ละคนมีกระบวนการทำความเข้าใจเนื้อหาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนากิจกรรมที่ใช้เวลาเอื้อมากพอให้นักเรียนได้คิดด้วยเช่นกัน เช่น เมื่อครูกำลังจะสอนวิชาคณิตศาสตร์เนื้อหาใหม่ สิ่งที่ควรทำลำดับต่อไป คือการให้ฝึกฝนคอนเซปต์ใหม่นั้นผ่านกิจกรรมการเรียนรู้และใบงานที่ชวนให้นักเรียนได้มีเวลาคิดและลองปรับประยุกต์ความรู้ใหม่นั้นอย่างเต็มที่ นอกจากปรับที่ตัวนักเรียนแล้ว ครูเองก็ยังได้เข้าใจนักเรียนผ่านการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของพวกเขาผ่านการดูและฟัง เพื่อให้ติดตามความก้าวหน้าและช่วยเหลือสนับสนุนการเรียนรู้ต่อไป
ตัวอย่างบทเรียนจากห้องเรียนจริง
อาจารย์ชุน อี้ หลิน (Chun Yi Lin) จากมหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน ได้รู้จักกับประเด็นนี้เมื่อการประชุมฯ ครั้งที่ผ่านมา และในปีนี้ท่านก็ได้นำเสนอตัวอย่างการนำแนวคิด Slow Pedagogy ที่ได้มีโอกาสไปใช้จริงกับห้องเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งในเครือข่ายความร่วมมือ โดยเป็นชั้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ม.2 เรื่องรากที่สองและทฤษฎีบทพีทาโกรัส โดยมีทีมคุณครูและเจ้าหน้าที่ทำงานร่วมกันถึง 11 คน ด้วยความเชื่อที่ว่า จะเสริมพลังและแรงจูงใจของนักเรียนให้ได้คิดและกล้าที่จะเสนอไอเดีย และสามารถทำงานไปด้วยกันกับเพื่อนนักเรียน
ในการประชุมครั้งนี้ อาจารย์ชุนได้กล่าวว่า ทีมคุณครูได้ออกแบบอย่างละเอียด ตั้งแต่อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการเรียนรู้ คือแผ่นกระดานหมุดและเชือกไหมพรม เพื่อทำความเข้าใจการสร้างรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก และโจทย์ปัญหาที่อิงกับสถานการณ์จริง คือ การออกแบบทางลาดสำหรับเข็นจักรยานขึ้นบันไดและหลอดดูดน้ำที่ยาวพอที่จะดูดของเหลวจากกล่องขนาดที่กำหนด ด้วยโจทย์ที่ซับซ้อนนี้แน่นอนว่าย่อมต้องใช้เวลามากเป็นธรรมดา และครูก็ต้องใส่ใจถามคำถามกระตุ้นความคิดและอดทนไม่รีบบอกคำตอบและวิธีทำ ท้ายที่สุดนักเรียนเองก็รู้สึกประหลาดใจและสร้างแรงจูงใจในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ได้ เพราะเห็นแล้วว่า เรื่องที่เรียนนั้นเป็นพื้นฐานของการทำงานและเกิดประโยชน์ได้ในชีวิตจริง
“ไม่มีเวลาแล้ว” แล้วจะใช้ Slow Pedagogy ได้อย่างไร
หลังจากการนำเสนอ คำถามที่ว่า จะทำอย่างให้เกิดขึ้นจริง จึงกลับมาสู่เวทีสนทนา ส่วนหนึ่งอาจารย์ชุนตอบว่า ครูผู้สอนมักกังวลเช่นกัน เพราะเนื้อหาที่ต้องสอนนั้นไม่ได้มีแค่ 2-3 เรื่องต่อเทอมให้ใช้เวลาอย่างเหลือเฟือ จะให้มารอคอยให้นักเรียนคิดทีละคนคงจะไม่ทันเวลา อาจารย์ชุนจึงชวนคิดว่า ในเนื้อหาบทเรียนเหล่านั้น หากถอยหลังออกมาก้าวหนึ่ง ครูจะเห็นว่ามีเนื้อหาหรือทักษะหลักบางอย่างร่วมกัน หากออกแบบบทเรียนหรือวิชาให้ครอบคลุมเนื้อหาแกนเหล่านั้น แล้วร่วมกันออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้น่าสนใจ ก็จะตอบโจทย์ตรงนี้ได้
จากข้อความดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนมองย้อนกลับมาถึงเส้นทางการสร้างหลักสูตรฐานสมรรถนะของไทยที่ในปัจจุบันหยุดชะงักไป รวมถึงความพยายามของนักการศึกษาหลายกลุ่มที่เสนอให้ปรับบทเรียนที่มีเนื้อหาตามหลักสูตรแกนกลางปัจจุบันให้สอดคล้องกับการเสริมสร้างสมรรถนะให้นักเรียนได้ เมื่อนำแนวคิด Slow Pedagogy เข้ามาประกอบคงจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย ทั้งต่อการออกแบบหลักสูตรสถานศึกษาให้มีเป้าหมายที่ตัวผู้เรียนอย่างแท้จริง เนื้อหาหลักสูตรกระชับ มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้จริง ๆ มีร่องรอยการเรียนรู้ที่วัดและประเมินได้ และนำไปสู่ผลลัพธ์คือคุณภาพผู้เรียนที่ถึงพร้อมด้วยความสามารถและสุขภาวะ
อ่านบทความตอนที่ 1 SLC Researcher Diary – Log #01 ว่าด้วย inquiry : ครูเป็นผู้นำการสืบสอบหรือผู้ออกแบบให้สืบสอบ
แหล่งข้อมูลประกอบการเขียน
Carlsen, K., & Clark, A. (2022). Potentialities of pedagogical documentation as an intertwined research process with children and teachers in slow pedagogies. European Early Childhood Education Research Journal, 30(2), 200-212. https://doi.org/10.1080/1350293X.2022.2046838
Jukić, T. (2022). “Slow Pedagogy and Contemporary Teaching Strategies“. In Angeloska Galevska, N., Tomevska-Ilievska, E., Janevska, M., Bugariska, B. (eds.). Educational Challenges and Future Prospects: Conference Proceedings. International Scientific Conference “75th Anniversary of the Institute of Pedagogy – Educational Challenges and Future Prospects”, Ohrid, 16-18 May 2022. Skopje: Institute of Pedagogy Faculty of Philosophy, Ss. Cyril and Methodius University in Skopje, pp. 23-30. http://hdl.handle.net/20.500.12188/24972
Love, R. (2018). Taking it slow: enhancing Wellbeing through Philosophy for Children. In Parecidos de familia. Propuestas actuales en Filosofía para Niños. Family Resemblances. Current Trends in Philosophy for Children. (pp. 105-117).
ภาพจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย