Knowledge

เพราะไม่มีเด็กคนไหนที่เหมือนกัน  4 วิธีที่ครูทำได้ ปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับความแตกต่างหลากหลาย  (Differentiated Instruction)

เพราะไม่มีเด็กคนไหนที่เหมือนกัน 4 วิธีที่ครูทำได้ ปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับความแตกต่างหลากหลาย (Differentiated Instruction)

 4 years ago 16399

ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          เมื่อห้องเรียนของเรามีนักเรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย บางคนเรียนรู้ได้เร็ว ครูชี้แนะเพียงนิดเดียว เด็กก็เข้าใจสามารถไปต่อเองได้ แต่บางคนกลับเรียนรู้ช้ากว่าเพื่อน (Slow learner) เช่น เด็กอาจจะไม่สนใจการเรียนเอง, เด็กมีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD), เด็กที่บกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งแม้ครูจะจัดการเรียนรู้แบบที่เด็กส่วนใหญ่เข้าใจแล้ว แต่ก็ไม่สามารถทำให้เด็กเหล่านี้เข้าใจบทเรียนได้

          คำว่า One size fits all สำหรับคนเป็นครูจึงไม่มีจริง เพราะไม่มีวิธีการสอนแบบไหน ที่เหมาะกับเด็กทุกคน งานของครูจึงต้องปรับการจัดการเรียนรู้ให้เข้ากับความแตกต่างหลากหลายของเด็กๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น โดยครูสามารถปรับ 4 เรื่องเหล่านี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในห้องเรียน

  1. เนื้อหา ครูต้องกลับมาดูเนื้อหาที่สอนว่า ต้องการให้เด็กรู้อะไรในชั่วโมงนี้ เรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง อาจตัดออกไปก่อน เช่น เรียนประวัติศาสตร์ ที่เด็กของเราเรียนช้าอาจเป็นเพราะอ่านหนังสือไม่คล่อง วิธีที่ครูช่วยเหลือเขาได้คือ ปรับคำศัพท์ที่ยากเกินไป ให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่เรียนรู้ช้าทุกคนจะมีข้อมูลอยู่ในหัว แต่ข้อมูลจะไม่ได้ถูกจัดเรียงเป็นระเบียบ เป็นเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ ยิ่งหากเด็กคนนั้นมีรูปแบบการเรียนรู้ด้านเดียว เช่น เด็กที่เรียนรู้ด้วยการมองเห็น (Visual learner) จะจดจำได้ดีกว่าเมื่อเห็นเป็นภาพ กรณีนี้ครูสามารถใช้ Graphic organizer, Mind map, Timeline, Venn diagram มาช่วยในการจัดลำดับความคิด ลำดับช่วงเวลาได้ เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยจัดระเบียบความคิดพวกเขา ซึ่งไม่เพียงใช้กับการปรับเนื้อหาเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้กับการปรับกระบวนการเรียนรู้ และผลงานของเด็กได้อีกด้วย
  2. กระบวนการ ในบางวิชา เช่น ประวัติศาสตร์ ครูอาจเปลี่ยนรูปแบบการสอนมาให้เด็กแสดงบทบาทสมมติ (Role play) หรือใช้หนัง วิดีโอ มาเป็นสื่อการสอนเแทนการบรรยายอย่างเดียว ที่อาจทำให้เด็กเบื่อและหลับไปก่อนได้ ในวิชาภาษาอังกฤษสำหรับเด็กเล็กที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก อาจลองใช้เทคนิคเชื่อมโยงตัวอักษรเข้ากับเสียงและท่าทาง เช่น A- Alligator B-Bear C-Cat เมื่อไรก็ตามที่เด็กติดขัดตรงตัวอักษรไหน ให้ครูช่วยไกด์ เด็กจะจดจำเสียงและท่าทางที่เชื่อมโยงกับตัวอักษรเหล่านั้นได้ เป็นการเพิ่มช่องทางในการเรียนรู้ หรือบางวิชา ครูจะเตรียมไฟล์เสียง ส่งให้เด็กฟังล่วงหน้าก่อนเข้าเรียนก็ได้ เด็กจะเข้าใจได้ดีขึ้น ถึงแม้จะยังอ่านในห้องเรียนไม่ทันเพื่อนก็ตาม
  3. ผลงาน ถ้าวัตถุประสงค์ของชิ้นงานคือ การถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เด็กมีออกมา จึงอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่เด็กทุกคนต้องส่งชิ้นงานในรูปแบบเดียวกัน เด็กบางคนขี้อายแม้ว่าเขาจะมีความรู้มากมาย แต่เมื่อใดที่เขาต้องออกมาพูดหน้าชั้น เด็กจะกังวลกับสิ่งที่ต้องพูด และสื่อสารออกมาได้ไม่ได้ จนบางครั้งทำให้ครูเข้าใจว่าเขายังไม่มีความรู้ และอาจส่งผลถึงการประเมินที่ทำให้ได้คะแนนน้อยลง เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ครูอาจให้เด็กส่งผลงานด้วยวิธีที่เขาถนัดมากกว่าแทน ให้เขาใช้ความสนใจส่วนตัวมาเป็นชิ้นงาน เช่น อัดวิดีโอตัวเอง แต่งเพลง แต่งกลอน แทนการเขียนยาวๆ เพื่อแสดงความรู้ ความเข้าใจในบทเรียนนั้นๆ
  4. สิ่งแวดล้อม จะเป็นพื้นที่จริงๆ ที่ใช้ในการเรียนรู้ พื้นที่ในเชิงกายภาพ หรือหมายถึง Mood & Tone ของห้องเรียนก็ได้
             • ถ้าเรารู้ว่าเด็กสมาธิสั้น ไม่ควรให้เขานั่งข้างประตู หน้าต่าง เพราะสิ่งแวดล้อมข้างนอกจะดึงความสนใจเด็กได้มากกว่าในชั้นเรียน
             •อนุญาตให้เด็กยืนเรียนได้ เดินได้ ขยับเขยื้อนไปมาบ้าง เด็กบางคนชอบนั่งเขย่าขา เพราะตื่นเต้นหรือเบื่อ
             • ลองปรับรูปแบบการจัดโต๊ะ ไม่ต้องนั่งเรียงเป็นแถวอย่างเดียว เรียงโต๊ะเป็นตัว U บ้าง ให้ครูเข้าถึงเด็กได้ทุกคน เอาโต๊ะออกบ้าง หรือจะจัดโต๊ะเป็นกลุ่ม 4 คน ที่สามารถปรับเป็นฐานกิจกรรมได้ด้วย
             • เพิ่มมุมสงบเล็กๆ ในห้องเรียน ซึ่งห้องเรียนไทยเราไม่ค่อยพบเท่าไร แต่พบได้มากในห้องเรียนต่างประเทศ

ปรับการสอนเพื่อความแตกต่างหลากหลาย

          ไม่ว่าครูจะเลือกปรับด้านไหนก็ตามใน 4 องค์ประกอบนี้ ยังมีอีก 3 องค์ประกอบจากเด็กที่ครูต้องพิจารณาร่วมด้วยคือ

  1. ความพร้อม เด็กแต่ละคนมีความพร้อมไม่เท่ากัน ครูต้องรู้ว่าเด็กของเรามีความพร้อมแค่ไหน ถ้าจะปรับต้องปรับให้เข้ากับความพร้อมของเขา
  2. ความสนใจ เด็กบางคนมีความสนใจพิเศษที่ครูนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น เด็กชอบม้า เมื่อครูสอนบวกลบคูณหาร ก็ใช้ม้าเป็นตัวการ์ตูนได้
  3. ข้อมูลคุณลักษณะเฉพาะ สไตล์การเรียนรู้เขาเป็นอย่างไร ภูมิหลังครอบครัวเขาเป็นอย่างไร

          แม้ครูอาจจะต้องปรับการเรียนการสอนมากสักหน่อย เหนื่อยหน่อยกับความหลากหลายของเด็กๆ แต่ผลลัพธ์มักคุ้มค่าเสมอ ยิ่งครูรู้จักเด็กของตัวเองมากเท่าไร ครูจะยิ่งเห็นโอกาสเล็กๆ มากมายที่ซ่อนอยู่ในการปรับการเรียนการสอนของตน เพื่อตอบสนองต่อความหลากหลายของพวกเขา ผลลัพธ์ที่น่าภูมิใจ คือได้เห็นแววตาและการเรียนรู้ที่มีความสุขของลูกศิษย์เรา ที่สำคัญครูยังสอนเก่งขึ้นทุกๆ คาบเรียนอีกด้วย

เรียบเรียงจาก Live Slow Learner เข้าใจเด็กเรียนช้า สร้างห้องเรียนสำหรับเด็กทุกคน
โดย ผศ.ดร.ธิดา ทับพันธุ์
คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
คลิกชมได้ที่ https://www.facebook.com/educathai/videos/174562460510341/


TAG: #การจัดการเรียนการสอน #หลักสูตร #การจัดการผู้เรียน #เด็กเรียนช้า #การออกแบบการสอน #Differentiated Instruction #DI