Knowledge
สร้างบทเรียนการเรียนรู้บนฐานชุมชน (Community-based Learning) ด้วยเทคโนโลยี
1 year ago 1803บันทึกโดย นายวีรภัทร ดากลาง
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภายใต้การนำเสนอของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้รับรางวัลการสอนในหัวข้อ “การพัฒนาสหกรณ์ไทยโดยใช้ชุมชนเป็นฐานเพื่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในศตวรรษที่ 21” จากสหกรณ์ซือบือของนักเรียนชนชาติพันธุ์ลีซู โรงเรียน ตชด.บ้านหนองแขม จ.เชียงใหม่ ผมเกิดคำถามว่า “ทำไมต้องจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน”
คณะวิทยากรเริ่มต้นด้วยการทำกิจกรรม “สะท้อนหลักการ ผ่านเรื่องเล่า” จากวิดีโอ เพื่อทบทวนหลักการ 7 ประการอันได้แก่
1) การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง – เปิดรับบุคคลทั่วไปที่สามารถใช้บริการสหกรณ์ได้และเต็มใจรับผิดชอบในฐานะสมาชิก
2) การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย – สมาชิกมีสิทธิในการออกเสียงเท่าเทียมกัน
3) การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก - สมาชิกมีส่วนร่วมในการลงทุน(ซื้อหุ้น) และร่วมกันควบคุมเงินทุนตามแนวทางประชาธิปไตย
4) การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ – พึ่งพาตนเองและธำรงไว้ซึ่งอำนาจ
5) การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ - พึงให้การศึกษาแก่สมาชิก
6) การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ – เพื่อสร้างความเข้มแข็งควรร่วมมือกันในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ภูมิภาค และนานาชาติ
7) การเอื้ออาทรต่อชุมชน – ดำเนินกิจการเพื่อพัฒนาชุมชนให้มีความยั่งยืน
หลักการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สหกรณ์เป็นหน่วยเศรษฐกิจของคนที่สนใจประเด็นหรือปัญหาเดียวกันมารวมตัวกัน สร้างระบบและการแก้ปัญหา ทำให้มีอำนาจในการต่อรองทางเศรษฐกิจและความรู้โดยสร้างการเรียนรู้ผ่านสหกรณ์จริง จากนั้นทำกิจกรรม “หย่อนบัตรสกัดปัญหา” จากคณะนำเสนอบทบาทสมมติให้ ดังนี้ โรงเรียนตชด.หนองแขมทำสหกรณ์ซือบือขึ้นมาจากกลุ่มนักเรียน เมื่อเริ่มมีสมาชิกมากขึ้นก็มีคนอื่นๆสนใจอยากเข้าร่วม แต่ไม่รู้ว่าต้องไปติดต่อที่ใดเพราะไม่มีข้อมูล บัญชีการเงินก็ตรวจสอบไม่ได้ จะทำซือบือเองก็ไม่ได้ต้องรอปราชญ์ชาวบ้านมาช่วย และมีข่าวว่าสหกรณ์นี้เกิดการโกงอีก
สถานการณ์นี้สะท้อนปัญหา ขาดการเข้าถึงข้อมูล ขาดความรู้ทางวิชาการ และการทุจริตฉ้อโกง ปัญหาที่พวกเราสกัดมาและคิดว่าเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนคือ การทุจริตฉ้อโกงในสหกรณ์ แล้วร่วมกันอภิปรายถึงผลกระทบและสาเหตุจากปัญหาการทุจริตฉ้อโกง เช่น ไม่เกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินกิจการซึ่งเกิดจากการขาดการตรวจสอบ ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น จัดประชุมแสดงข้อมูลการเงินอย่างเปิดเผยและปลอดภัย กระบวนการที่ทำตั้งแต่ต้นเราเรียกว่า Design Thinking Process ซึ่งมีขั้นตอนคือ
1) Empathize - เข้าใจปัญหา
2) Define - กำหนดปัญหาให้ชัดเจน
3) Ideate - ระดมความคิด
4) Prototype - สร้างต้นแบบที่เลือก
5) Test – ทดสอบ เมื่อใช้กระบวนการดังกล่าวจะช่วยให้เราแก้ปัญหาได้ตรงจุดและมีทิศทาง
สุดท้ายเป็นกิจกรรม “ประยุกต์ความรู้สู่ชั้นเรียน” ที่มอบโจทย์บริบทสถานศึกษา แล้วให้ออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการเนื้อหากับบริบทชุมชนและเทคโนโลยี ทำให้เห็นว่าแม้เราจะไม่ใช่คนในพื้นที่ก็ตามแต่ยังสังเกตเห็นความโดดเด่นบางอย่างของชุมชนนั้น ถ้าเป็นนักเรียนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้นจริงๆและได้บูรณาการความรู้ผ่านการปฏิบัติจากฐานชุมชนและเทคโนโลยี คงจะได้ทั้งทักษะและกระบวนการเรียนรู้ที่มีความหมาย สุดท้ายกลับมาตอบคำถามที่ว่า “ทำไมต้องจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน” เพราะชุมชนเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ใกล้ตัวเด็ก การตระหนักในปัญหาหรือมีความสนใจประเด็นบางอย่างของชุมชน จะพัฒนาให้พวกเขาตระหนักถึงอัตลักษณ์ชุมชนตนเอง รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สร้างความเป็น Active citizen และพัฒนากระบวนการเรียนรู้ผ่านการบูรณาการกับชุมชนอย่างยั่งยืน