Knowledge
ผู้บริหารโรงเรียนยุคใหม่ บริหารอย่างไรให้เข้าถึงใจครูและนักเรียน
1 year ago 8551อาทิตยา ไสยพร
ผู้อำนวยการโรงเรียนมีหน้าที่หลักของการบริหารกิจการของสถานศึกษาทั้งการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ พัฒนาสถานศึกษาให้ผ่านเกณฑ์การประเมินต่าง ๆ แต่ผลการบริหารจะสำเร็จและออกมามีประสิทธิภาพได้ต้องผ่านการวางแผนการบริหารที่ถูกต้อง ซึ่งจะบริหารอย่างไรให้ครูและนักเรียนพัฒนาและบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ครูต้องการอะไร และนักเรียนต้องการอะไร ผู้อำนวยการต้องทำอย่างไร
ความต้องการของครู ประเมินสำเร็จแต่ไม่เพิ่มภาระ
นอกจากคุณครูจะต้องเตรียมการสอนไม่ว่าจะเป็นการเขียนแผน การเตรียมสื่อการสอน จนกระทั่งการมอบหมายงานนักเรียนเพื่อประเมินผลการเรียนรู้แล้ว การวางนโยบายการประเมินโรงเรียนในด้านต่าง ๆ จากภายนอก ก็สร้างภาระเพิ่มให้คุณครูไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสีเขียว โรงเรียนต้นแบบ โรงเรียนคุณธรรม ที่ล้วนมาจากการรับนโยบายของผู้บริหารสถานศึกษาซึ่งโครงการโรงเรียนเหล่านี้สร้างภาระครูที่เกินความจำเป็นอยู่หรือไม่
นอกจากนี้ โรงเรียนยังต้องสร้างผลงานทางวิชาการต่าง ๆ มากมาย ผ่านการหาโอกาสให้นักเรียนได้เข้าร่วมการแข่งขันด้านวิชาการ เช่น การแข่งขันศิลปหัตถกรรมที่คุณครูจะต้องสละเวลาเพื่อเตรียมนักเรียนเข้าสู่การแข่งขัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ล้วนเป็นภาระที่ครูต้องทำเพิ่มเพื่อผลประโยชน์ต่อโรงเรียน เนื่องมาจากผู้บริหารรับนโยบายมาโดยขาดการตรวจสอบความพร้อมและบริบทโรงเรียน
ให้ความสำคัญของการเรียนรู้ของผู้เรียน...โดยไม่เน้นคะแนน O-net
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณภาพของโรงเรียนมักชี้วัดด้วยคะแนนผลการสอบระดับชาติหรือ O-net ทางโรงเรียนจำนวนไม่น้อยจึงจริงจังและพยายามเคี่ยวเข็ญ สร้างแรงจูงใจให้นักเรียนสอบให้ได้คะแนนดีที่สุด เพื่อคะแนนเฉลี่ยของโรงเรียนจะได้สูงตามไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น บางโรงเรียนเน้นจัดติวให้นักเรียนนอกเวลาเพิ่มเติมโดยเฉพาะ ปรากฏการณ์นี้มีมาต่อเนื่องยาวนานเสียจนลืมพิจารณาว่าผู้เรียนต้องการจริงหรือไม่ และเป้าหมายของการศึกษาคืออะไร จุดนี้ชี้ให้เห็นว่าคะแนน O-net ที่วัดและประเมินอยู่เป็นการวัดความสำเร็จของโรงเรียน นอกจากจะไม่เป็นตัวแทนที่ดีของความสำเร็จทางการเรียนรู้ของนักเรียนแล้ว ยังยิ่งทำให้นักเรียนมีอุปสรรคขัดขวางการเรียนรู้เพิ่มขึ้นไปอีกด้วย
ผู้อำนวยการจะวางแผนนโยบายโรงเรียนอย่างไร ให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน
เริ่มต้นคือเข้าใจจุดแข็งของโรงเรียน
เชื่อมั่นว่าผู้อำนวยการผู้บริหารย่อมต้องรู้ระบบการทำงานและศึกษาโรงเรียนของตนมาเป็นอย่างดี ท่านย่อมรู้ว่าจุดแข็งของโรงเรียนของเรานั้นคืออะไร การเข้าใจบริบทโรงเรียนนี่เองจะนำไปสู่การออกแบบและเลือกรับนโยบายอย่างเหมาะสมกับโรงเรียนจะช่วยลดภาระงานและช่วยพัฒนาด้านอื่น ๆ ที่ตรงจุดได้มากขึ้นอีกด้วย
ไม่มองข้ามเสียงของครูและนักเรียน
ในการบริหารคนได้อย่างเข้าใจ วิธีที่ง่ายที่สุดคือการรับฟังความคิดเห็น ชวนคุณครูพูดคุยแลกเปลี่ยน รับฟังเสียงของนักเรียนที่สะท้อนมา ให้คุณครูและนักเรียนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมไม่ใช่เพียงแค่ผู้รับนโยบายจะช่วยให้ลดปัญหา นอกจากนี้ยังควรลดเวลาในการทำโครงการต่าง ๆ ที่มีอยู่ รวมถึงป้องกันการสร้างโครงการ นโยบาย หรือกิจกรรมที่ไม่ตอบโจทย์ต่อคุณครูและนักเรียนได้อีกด้วย
บริหารโรงเรียนอย่างยืดหยุ่นและยั่งยืน
การบริหารโรงเรียนจะมุ่งเน้นเพียงผลสัมฤทธิ์ไม่ได้แต่ต้องมองถึงการแก้ไขและการพัฒนาเป็นหลัก โรงเรียนในไทยเป็นโรงเรียนที่มีความเหลื่อมล้ำและหลากหลาย การกำหนดผลสัมฤทธิ์เหมือนกันทุกโรงเรียนเป็นเรื่องที่ไม่ตอบโจทย์ความเป็นจริง ดังนั้นผู้บริหารจึงควรให้อิสระกับบุคลากรในการพัฒนาตนเองและค่อย ๆ ก้าวไปทีละขั้น หากมีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและดำเนินการอย่างต่อเนื่องผลสัมฤทธิ์ก็จะดีขึ้นตามมา
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนเชื่อเสมอว่า เป้าหมายของการทำงานของผู้บริหารทุกคนคือการพัฒนาโรงเรียนให้ก้าวหน้ากว่าเดิมจากที่เคยเป็นมา แต่ก็ไม่ควรลืมว่าการกำหนดทิศทางการพัฒนาโรงเรียนควรผ่านการวางแผนที่เหมาะสมร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งในและนอกโรงเรียน ที่ต่างประสานมือกันทำงานจนสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นการรู้จักศักยภาพของโรงเรียน บุคลากร และทรัพยากรของโรงเรียน บริหารให้ตรงตามความต้องการโรงเรียนของท่านจะพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องและมีคุณภาพ
อ้างอิง
คมชัดลึก. (2565, 3 กรกฎาคม). ครู ทำอะไรบ้างที่โรงเรียน ถึงเวลาต้องลดภาระงานครูหรือยัง. https://www.komchadluek.net/news/521053
ฐณรินทร์ หวายฤทธิ์ธนกุล. (2566, 5 กรกฎาคม). ให้อิสระโรงเรียนพัฒนาตนเองด้วยแนวทางต่างกัน เพื่อการจัดการศึกษาที่หลากหลาย. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา.https://www.eef.or.th/article-050723/
ทีมงาน EDUCA. (2563). 4 สิ่งที่ผู้บริหารโรงเรียนควรทำ (และไม่ควรทำ)ในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับครูในโรงเรียน. EDUCA. https://www.educathai.com/knowledge/articles/64