Knowledge

พูดคุยกับป้าแหวว รศ. ดร.สิริพันธุ์ :  SLC กับการเรียนรู้จากห้องเรียนของตนเองหลังโควิด

พูดคุยกับป้าแหวว รศ. ดร.สิริพันธุ์ : SLC กับการเรียนรู้จากห้องเรียนของตนเองหลังโควิด

 1 year ago 1004

เรียบเรียงโดย วรเชษฐ แซ่เจีย

        หลังจากที่คุณครูและนักเรียนได้กลับมาเรียนรู้ร่วมกันในห้องเรียนจริง หลังจากที่เจอกันผ่านหน้าจอบ้าง หรือเรียนรู้จากจอทีวีบ้างมากว่า 1 ปี ปีการศึกษา 2565 ที่ผ่านมาจึงมีบทเรียนสำคัญที่คุณครูสามารถหยิบฉวยขึ้นมา เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้นไปได้ กลบช่องว่างการเรียนรู้ที่ถ่างออกในช่วงที่ผ่านมา และเกิดเป็นแนวทางการทำงานในระดับโรงเรียนที่ยืดหยุ่นแต่เข้มแข็ง

ระบบการทำงานแบบ SLC เป็นแบบใด
        School as Learning Community (SLC) หรือแนวคิดโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ เป็นรูปแบบการทำงานอย่างร่วมมือรวมพลังของครู บนฐานวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่ทิ้งครู-นักเรียน-ผู้ปกครองไว้ข้างหลัง ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่เปิดแห่งการเรียนรู้ และมีโอกาสเป็นผู้เรียนรู้อยู่เสมอ
        รศ. ดร.สิริพันธุ์ สุวรรณมรรคา ข้าราชการบำนาญ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวถึงหลักปรัชญา SLC ทั้ง 3 ประการที่ต้องปฏิบัติ เพื่อสร้างวัฒนธรรมดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้ ประกอบด้วย
        1. ปรัชญาว่าด้วยความเป็นสาธารณะ (Public Philosophy) คือ การมองทุกที่ในโรงเรียนว่าเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของทุกคน
        2. ปรัชญาว่าด้วยประชาธิปไตย (Democracy Philosophy) คือ การให้คุณค่าในทุกเสียงจากทุกคน หรือที่นักวิชาการเรียกว่า การสร้างความสัมพันธ์อันดีผ่านการรับฟังซึ่งกันและกัน
        3. ปรัชญาว่าด้วยความเป็นเลิศ (Excellence Philosophy) ที่ให้คุณค่ากับสิทธิของนักเรียนที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอให้เต็มตามศักยภาพของตน

 

“โรงเรียนคือพื้นที่ที่สร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับทุกคน เพื่อให้ทุกคนได้รู้ตัวว่า เรานั้นมีความสำคัญ และเราทุกคนสามารถพัฒนาตัวเราสู่ความเป็นเลิศ [ไม่ว่าจะเป็น] นักเรียนทุกคน คุณครูทุกคน ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และที่สำคัญก็คือชุมชนทุกคนด้วย”

ตลกผลึกความคิด 1 ปีหลังโควิด…เตรียมตัวสำหรับปีการศึกษาใหม่
        รศ. ดร.สิริพันธุ์ ยังได้กล่าวถึงกิจกรรมการประชุมนานาชาติ SLC ครั้งที่ 10 นี้ว่าเป็น ช่วงเวลาแห่งการทบทวนเพื่อวางแผนงานสำหรับปีการศึกษาต่อไป กิจกรรมดังกล่าวมีนักการศึกษาจากหลากหลายประเทศจะมาร่วมแลกเปลี่ยนเชิงทฤษฎีและปฏิบัติให้ผู้ฟังได้ร่วมขบคิด และปรับปรุงตนเองตลอด 3 วัน โดยเฉพาะช่วง Keynote Speakers หรือวิทยากรหลักในวันที่ 2 ซึ่งน่าติดตามเป็นอย่างมาก โดยส่วนตัว รศ. ดร.สิริพันธุ์ จะได้นำเสนอในหัวข้อ Awakening wisdom of self-reliance and collaborative inquiry for blooming along together: Thai journey ด้วยเช่นกัน โดยได้เกริ่นเล็กน้อยว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา แม้จะไม่ได้ลงพื้นที่ด้วยตนเองมากนัก แต่จากการสังเกตและติดตามการทำงานของคณะทำงาน สพฐ. ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจนจบโครงการ ก็พบว่าโรงเรียนสามารถพึ่งพาและนำตนเอง จนเติบโตไปด้วยกันในการทำงานเชิงสืบสอบแบบร่วมมือจากห้องเรียนของตนเองได้
        ซึ่งในช่วงท้ายของการสนทนา รศ. ดร.สิริพันธุ์ ก็กล่าวเชิญชวนให้ผู้ฟังลงทะเบียนร่วมกิจกรรม เพื่อให้ได้เครื่องไม้เครื่องมือมาปรับประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในปีการศึกษาใหม่ต่อไป

 

“เราทุกคนต้องการเห็นคุณภาพการจัดการศึกษาของไทยเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วก็ชัด ลัด สั้น ตรง...เราจะสามารถได้ทั้งกำลังใจ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม เทคนิควิธีการต่าง ๆ รวมทั้งเครือข่ายกลับมาที่จะทำงานของเราที่ดีอยู่แล้วให้เป็นเลิศ”

ติดตามการสนทนาฉบับเต็มหัวข้อ "ขับเคลื่อนโรงเรียนในยุค Post-COVID บนฐานคิด SLC" กับป้าแหวว แนวคิด SLC ทุกคนสามารถเรียนรู้และเติบโต
Facebook : https://fb.watch/iROVqwOnwY
YouTube : https://www.youtube.com/watch?v=K5RINuWMURA


TAG: #SLC #School as Learning Community #โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ #ช่องว่างการเรียนรู้ #ร่วมมือรวมพลังของครู #Collaborative inquiry #SchoolasLearningCommunity