Knowledge

บทบาทของมหาวิทยาลัย กับการร่วมพัฒนาการศึกษาระดับพื้นที่ภาคใต้

บทบาทของมหาวิทยาลัย กับการร่วมพัฒนาการศึกษาระดับพื้นที่ภาคใต้

 1 year ago 872

บันทึกโดย นางสาวนัสรีน สาดอาหลี
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

        จากการบรรยายและร่วมสนทนาของคณะวิทยากร 4 ท่าน ได้แก่ รศ. ดร.รุ่งชัชดาพร เวหะชาติ, ผศ. ดร.มณฑนา พิพัฒน์เพ็ญ, อาจารย์ ดร. สุธาสินี บุญญาพิทักษ์ และ อาจารย์ ดร. เกษม เปรมประยูร จาก คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ในงาน EDUCA Roadshow 2023 ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

ฐานคิดและประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ความรู้ผ่านกระบวนการวิจัย

        ในปัจจุบันความรู้สำเร็จรูปถูกนำเข้าจากภายนอก แต่มิอาจนำพาให้โรงเรียน ครู นักเรียน และผู้ปกครอง/ชุมชน พึ่งพาตนเองทางความรู้ได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่ครู นักเรียน ผู้ปกครอง/ชุมชน ลุกขึ้นมากำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ สร้างสรรค์ความรู้ ตามความต้องการในบริบทชีวิตของพวกเขาร่วมกัน ความรู้นั้นย่อมมีคุณค่า มีความหมาย และเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มคนผู้สร้างสรรค์ความรู้นั้น ศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในฐานะของผู้สร้าง ผู้ร่วมสร้างสรรค์ ความรู้จึงเกิดขึ้น
        ดังนั้นการศึกษาและความรู้ จึงเป็นสำนึกร่วมของทุกคนที่จะสร้างสรรค์ ปรับประยุกต์ และใช้ประโยชน์ ในการสร้างคุณค่า และคุณภาพของการดำรงชีวิต และการวิจัยจึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้ครู นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน ได้เป็นเจ้าของความรู้ การศึกษา และการเรียนรู้ ผ่านการร่วมคิด ออกแบบ พัฒนา สร้างสรรค์ความรู้ที่มาจากฐานทุนชีวิต โดยมีนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยร่วมคิด ร่วมพัฒนา และหนุนเสริมเติมพลัง ในฐานะส่วนหนึ่งของการสร้างพื้นที่เรียนรู้และการศึกษาใหม่ ที่ช่วยให้เกิดการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่คนพึ่งตนเองทางความรู้ได้อย่างแท้จริง

การศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (TLSOA)

        จากหลากหลายเงื่อนไขในการดำรงชีวิตในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งอาชีพที่ไม่มั่นคง ธรรมชาติของงานที่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนงานที่มีอยู่ในปัจจุบันจะหายไป อีกทั้งองค์ความรู้ที่ได้เรียนในระบบการศึกษาปัจจุบันจะกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยหรือมีสิ่งใหม่ ๆ มาทดแทนเมื่อจบการศึกษาออกไป ฉะนั้นการตระเตรียมเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการเรียนรู้ให้พร้อม ผ่านการพัฒนาวิชาชีพของครูผู้สอน และการพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียนจึงเป็นสิ่งจำเป็น
        หนึ่งในคำตอบที่น่าสนใจ คือ การใช้พื้นที่โรงเรียนและห้องเรียนมาเป็นพื้นที่ในการพัฒนาผ่าน กระบวนการทฤษฎี พร้อม ๆ กับการพัฒนาความคิดของนักเรียน ผ่านการแก้ปัญหา ผ่านการสะท้อนคิด (Reflection) เพื่อให้นักเรียนพัฒนาทักษะความคิด จะทำให้นักเรียนรู้สึกว่าห้องเรียนมีความปลอดภัย ห้องเรียนที่นักเรียนสามารถแสดงความคิดของตนเองได้

การวิจัยสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา

        กระบวนการที่ผู้บริหารทำวิจัยนั้น เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับครู นักเรียน ชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ผ่านการสำรวจบริบทของโรงเรียนสังเกตอาการของสถานศึกษา จะต้องรักษาอย่างไร ต้องวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน และอุปสรรค ส่วนที่ควรให้ความสนใจนั้น อาจเริ่มได้จากการทำแผนปฏิบัติการประจำปี วางแผนตั้งแต่ต้นปี อะไรที่เป็นจุดอ่อนที่ควรพัฒนาให้มีการเดินหน้าในปีถัดไป จากข้อมูลดังกล่าวจะนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์การบริหารของผู้บริหาร ครูต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารก็เช่นกันต้องมีการเปลี่ยนแปลง ศึกษาปัญหาและแก้ไขให้ถูกจุด ขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน

การออกแบบวัดและประเมินผลตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ

        “ต้นทางของการวัดและประเมินผลที่ดี คือ Mindset ของครูที่มองเห็นว่า… การเรียนรู้ที่แท้จริงของนักเรียน เกิดขึ้นได้อย่างไร?” เป็นสิ่งที่ อาจารย์ ดร. สุธาสินี บุญญาพิทักษ์ ได้นำเสนอไว้ เพราะคุณครูเป็นนักสร้างความเปลี่ยนแปลง ไฉนเลยคุณครูเป็นนักออกแบบเรียนรู้และการประเมินผลบนนิเวศการเรียนไม่ได้ ทำสิ่งเล็ก ๆ ให้ยิ่งใหญ่และทำสิ่งนั้นให้ขยายใหญ่ขึ้น สร้างการเปลี่ยนแปลง mindset ที่มีต่อการทำงาน

ข้อสังเกตเรื่องการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสังคม

  • ครูนวัตกรที่สามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับนักเรียนทำได้ตอบโจทย์ชีวิตจริง ครูที่มีมุมมองในการจัดศึกษาฐานสมรรถนะ และออกแบบการประเมินตามหลักสูตรที่มุ่งเน้นสมรรถนะผู้เรียน
  • ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการจัดการศึกษา พัฒนาคุณภาพคนและชุมชน
  • การเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมและวัฒนธรรมการวัดและประเมินฐานสมรรถนะ

ท่านสามารถติดตามไลฟ์เต็ม ๆ ได้ทาง Facebook EDUCA ที่ https://fb.watch/m9HzsMhckY


TAG: #การวิจัยพัฒนาการจัดการเรียนรู้ #การวิจัย #กระบวนการวิจัย #TLSOA #การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ #การศึกษาเชิงพื้นที่ #ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา #ลดความเหลื่อมล้ำ