Knowledge

โรงเรียนจะช่วยครูพัฒนาวิชาชีพครูได้อย่างไร

โรงเรียนจะช่วยครูพัฒนาวิชาชีพครูได้อย่างไร

 4 years ago 7363

แปล: ธนิสรา สุทธานันต์
เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          นักเรียนแต่ละคนจะเรียนรู้ได้ดีแค่ไหน ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ครู” ผู้ออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้เด็กๆ คือคนสำคัญที่สุด ถ้าการพัฒนาครูคือการพัฒนาไปสู่คุณภาพทางการศึกษาของประเทศ เราจะมีวิธีพัฒนาวิชาชีพครูโดยแปลงทฤษฎีสู่การปฎิบัติจริงอย่างไรให้เห็นผลชัดเจน มีรูปแบบที่มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือครูเองก็มีความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมด้วย

          เมื่อไรก็ตามที่จะมีการจัดอบรมให้ครู ควรมีการสำรวจความต้องการของครูก่อนว่าอยากจะพัฒนาในเรื่องใดบ้าง โดยอาจใช้เครื่องมือออนไลน์อย่าง Google Forms เข้าช่วย เปิดโอกาสให้ครูได้เลือกว่าอยากเรียนรู้เรื่องอะไร หรือเรียนรู้ด้วยวิธีไหน โดยจัดเป็นเวิร์กช้อปหรือหลักสูตรที่มีความหลากหลาย มีการแบ่งกลุ่มครูตามระดับชั้นหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้

          เมื่อสำรวจความต้องการของครูแล้ว การกำหนดเป้าหมายหลังการพัฒนาวิชาชีพครูก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะจะช่วยให้ครูสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้มาใช้ในชั้นเรียนได้ง่ายขึ้น

          แม้ว่าทุกโรงเรียนจะมีความต้องการหลายอย่าง และอยากจะแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้ในทีเดียว แต่กุญแจสำคัญของการสร้างความเปลี่ยนแปลงระยะยาวคือ การระบุความเร่งด่วนของความต้องการแต่ละอย่าง และการจัดลําดับความสําคัญของงานที่ต้องทำ ส่วนทิศทางในการดำเนินงานต้องเริ่มจากการมองภาพรวมส่วนวิสัยทัศน์ หรือสิ่งที่โรงเรียนให้ความสำคัญในการเรียนการสอน

          หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนามีประสิทธิภาพคือ การเรียนการสอนที่มีต้นแบบ ถ้าโรงเรียนคาดหวังให้ครูสุ่มเรียกชื่อนักเรียนเมื่อทำกิจกรรมในชั้นเรียน เพื่อสร้างโอกาสให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วม ในการพัฒนาครู เช่น การอบรม ฝึกปฏิบัติการต่างๆ สำหรับครู ผู้จัดก็ควรจะใช้การสุ่มเรียกชื่อครูด้วย เพื่อให้ครูรู้สึกคุ้นเคย และมองเห็นแนวทางในการนำมาปรับใช้ในชั้นเรียน

          ครูแต่ละคนอาจจะมีทักษะเฉพาะบางอย่างที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพ ลองจัดเวทีให้ครูเหล่านี้ได้แบ่งปันทักษะกับเพื่อนครูคนอื่นดู อีกเรื่องหนึ่งที่ว่ากันว่าเป็นความท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งของการพัฒนาทางวิชาชีพคือ การนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นอกห้องเรียนมาใช้ในการเรียนการสอนจริง หลายครั้งเราพบว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความตั้งใจ หรือทักษะของครูที่จะเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน แต่กลับอยู่ที่นิสัย และความเคยชินเดิมๆ จริงอยู่ว่าเราสามารถเปลี่ยนความเคยชินในพฤติกรรมการสอนของเราได้ แต่การทำเช่นนี้ไม่ใช่ว่า แค่เปลี่ยนแนวคิดก็สามารถทำได้เลย แต่ต้องอาศัยเครื่องมือที่หลากหลายในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ด้วย

          เมื่อไรก็ตามที่ครูขาดความมั่นใจ หรือมีคำถามที่ครูยังไม่มีคำตอบให้ตัวเอง สิ่งเหล่านี้มักจะหยุดครูจากการทดลองใช้เทคนิคใหม่ๆ ในชั้นเรียน สิ่งที่ดีที่สุดที่โรงเรียนทำได้คือ การสนับสนุนครูให้มากที่สุดในช่วงที่ครูกำลังพัฒนารูปแบบการสอน

          การพัฒนาทางวิชาชีพที่ประสบความสำเร็จนั้น เราต้องไม่ลืมติดตามผลอย่างสม่ำเสมอด้วย หลังจากการพัฒนา เช่น การอบรมต่างๆ โรงเรียนอาจลองหาวิธีในการสอนงานครูผ่านการ Coaching ตามที่ครูต้องการ ใช้ประโยชน์จากการสร้างปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว เข้าร่วมชั้นเรียนต่างๆ เพื่อสังเกตการณ์ และจำลองรูปแบบการเรียนการสอนตามการอบรมนั้นๆ ด้วย

          มีงานวิจัยเกี่ยวกับองค์กรต่างๆ บอกไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้จริงใน 3-5 ปี การพัฒนาทางวิชาชีพที่มีความหมายจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องใช้เวลาเช่นเดียวกัน EDUCA ขอเป็นกำลังใจให้ครูทุกคนร่วมกันสร้างพลังชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่แข็งแกร่ง แม้จะอาจจะเหนื่อย และยากอยู่บ้างในช่วงแรก แต่ผลลัพธ์อันน่าชื่นใจก็คือคุณภาพการศึกษาไทย และอนาคตที่สดใสของลูกศิษย์ทุกคน

อ้างอิง:
Plotinsky, M. (2020, April 27). How to Create Meaningful PD. Retrieved April 30, 2020, from https://www.edutopia.org/article/how-create-meaningful-pd

Kampen, M. (2019, April 24). 5 Ways To Make Teacher Professional Development Effective [With Examples]. Retrieved June 1, 2020, from https://www.prodigygame.com/blog/teacher-professional-development


TAG: #การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ #การพัฒนาวิชาชีพครู #การวิจัยพัฒนาการจัดการเรียนรู้