Knowledge

แนะ 9 วิธีการประเมินความเข้าใจของนักเรียน ระหว่างคาบเรียน

แนะ 9 วิธีการประเมินความเข้าใจของนักเรียน ระหว่างคาบเรียน

 4 years ago 6609

ผู้เขียน: ครูฐาปนีย์ ดวงฉายจรัสไชย ครูจากโครงการ Teach for Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          นักเรียนนั่งฟังคุณครูสอน ทำแบบฝึกหัดในคาบ คุณครูให้สอบเก็บคะแนน นักเรียนนั่งฟังคุณครูสอนเนื้อหาถัดไป มีการทำกิจกรรมในคาบ และคุณครูก็ให้สอบเก็บคะแนน นักเรียนทำกระบวนการแบบนี้วนไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่นักเรียนต้องสอบกลางภาคหรือสอบปลายภาค และผลลัพธ์ของการสอบคือ นักเรียนสอบไม่ผ่าน หรือได้คะแนนน้อย จนทำให้นักเรียนท้อใจ หรือหมดความสนใจในการเรียน
          เหตุการณ์นี้คงคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่นักเรียนของคุณครูหลายท่านสอนอยู่ อาจจะไม่ทั้งหมด แต่เชื่อว่า คุณครูทุกคนคงเจอปัญหาที่ว่านักเรียนหลายคนที่สอน ทำข้อสอบไม่ได้ และสอบไม่ผ่าน

ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะอะไร

คุณครูควรทำสิ่งใดเพื่อจะทำให้ปัญหานี้ลดน้อยลงหรือหมดไป

          จากเหตุการณ์สมมติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าหากคุณครูเพิ่มกระบวนการ การประเมินความเข้าใจของนักเรียน (Check for Understanding หรือ CFU) ในช่วงเวลาที่สอนในแต่ละคาบเข้าไปด้วย จะทำให้การเรียนรู้และความเข้าใจของนักเรียนเพิ่มสูงขึ้น และลดปัญหานักเรียนทำข้อสอบไม่ได้ หรือทำข้อสอบไม่ผ่านลง
          ในบทความนี้ EDUCA จะมาแนะนำวิธีการประเมินความเข้าใจของนักเรียนให้คุณครูได้ลองนำไปปรับใช้ในห้องเรียนของคุณครูดู

  • หลีกเลี่ยงการใช้คำถาม ‘ใช่/ไม่ใช่’ (Yes/No Questions) หากคุณครูใช้คำถามที่นักเรียนตอบได้แค่ ใช่ หรือ ไม่ใช่ เช่น ‘เข้าใจมั้ย’ ‘ถูกต้องรึเปล่า’ แน่นอนว่าส่วนใหญ่คุณครูจะได้ยินคำตอบว่า เข้าใจค่ะ/ครับ หรือ ถูกค่ะ/ครับ ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยว่านักเรียนจะหลุดไปจากเนื้อหาที่คุณครูได้สอนไป ดังนั้น การที่จะทำให้คุณครูแน่ใจจริงๆ ว่านักเรียนเข้าใจแน่แล้วหรือยัง คุณครูควรใช้คำถามแบบเปิดให้นักเรียนได้ใช้ความคิดไตร่ตรองถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ไป
  • ให้เวลานักเรียนได้สะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ ในช่วง 5-10 นาทีก่อนหมดคาบ คุณครูสามารถให้นักเรียนเขียนทบทวนถึงสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้ในคาบ และถามเพิ่มเติมว่านักเรียนจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ไปประยุกต์ใช้อย่างไร
  • ให้นักเรียนทำข้อสอบย่อย (quiz) ท้ายคาบ
  • ให้นักเรียนสรุปเนื้อหา ให้นักเรียนสรุปเนื้อหาหรือประเด็นสำคัญที่ได้เรียนรู้ ซึ่งจะให้นักเรียนพูดตอบ วาดตอบ หรือในวิธีใด ๆ ก็ได้
  • สัญญาณมือ คุณครูสามารถให้นักเรียนโชว์มือเพื่อแสดงถึงความเข้าใจของพวกเขา ณ ขณะนี้ ห้านิ้วคือพวกเขาเข้าใจเป็นอย่างดี และ ศูนย์นิ้วคือพวกเขาไม่เข้าใจเลย
  • การ์ดตอบรับ คุณครูมีแผ่นการ์ดให้กับนักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ในการตอบคำถามของคุณครู
  • 4 มุม คุณครูสามารถใช้กระบวนการที่ให้นักเรียนได้เคลื่อนไหวร่างกายของตัวเองไปในมุมทั้ง 4 มุมของห้องเรียนเพื่อตอบสนองต่อคำถามบางอย่างที่คุณครูถามขึ้น เช่น ในแต่ละมุมอาจจะแบ่งเป็น ฉันเห็นด้วยเป็นอย่างมาก ฉันเห็นด้วย ฉันพอจะเห็นด้วย และ ฉันไม่มั่นใจ
  • Think-Pair-Share เป็นกิจกรรมสั้นๆ ที่ให้นักเรียนนำตามกระบวนการ ดังนี้
    • ใช้เวลาสักครู่คิดไตร่ตรองกับตัวเองถึงคำถามที่คุณครูถาม
    • แชร์คำตอบของตัวเองให้กับคู่ของตัวเอง
    • แชร์คำตอบให้กับเพื่อนๆ ทั้งห้อง
  • 3-2-1 ให้นักเรียนได้ไตร่ตรองถึงสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้ในคาบนั้น ผ่านการตอบคำถามเหล่านี้ท้ายคาบ
    • (3) สิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้
    • (2) สิ่งที่อยากรู้เพิ่มเติม
    • (1) คำถามที่อยากถามคุณครู
  • Exit Ticket คุณครูให้นักเรียนได้เขียนตอบคำถามลงในกระดาษเล็ก ๆ แผ่นนึง และกระดาษแผ่นนี้จะเป็นเหมือนบัตรผ่านเพื่อให้นักเรียนได้ออกจากห้องเรียนนั่นเอง

          จากวิธีการทั้งหมดที่คุณครูหรือผู้อ่านได้อ่านมาข้างบนนั้น แน่นอนว่ายังมีวิธีการประเมินความเข้าใจนักเรียนที่สามารถทำได้ระหว่างการสอนได้อีกมากมาย และพวกเราเชื่อว่าคุณครูหรือผู้อ่านก็มีวิธีที่เคยใช้มา และประสบความสำเร็จ และอยากนำมาแชร์ให้กับคนอื่นๆ ด้วยเช่นเดียวกัน วิธีนั้นมีกระบวนการและประสบความสำเร็จอย่างไรบ้างหรอคะ นำมาเล่าและแชร์ให้กันและกันดู

อ้างอิง
Briggs, S. (2017, March 24). 21 Ways to Check for Student Understanding. Retrieved May 12, 2020, from https://www.opencolleges.edu.au/informed/features/21-ways-to-check-for-student-understanding


TAG: #การวัดและประเมินผลการเรียนรู้