Video
EDUCA Cafe Podcast:แนวทางการจัดการเรียนรู้ครูอเมริกา-แคนาดาสู้ COVID-19
4 years ago 4547EDUCA Podcast ตอนแรก เรารู้แล้วว่าครูที่ประเทศจีนจัดการเรียนการสอนสู้ โควิด-19 อย่างไร ในตอนนี้ EDUCA พาข้ามไปอีกฝั่งของโลก ครูที่สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมในการสอนที่กำลังจะเกิดขึ้น กันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ สื่อออนไลน์ผ่านห้องสมุดออนไลน์ หรือการใช้สถานีท้องถิ่น ให้ถ่ายทอดรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับเนื้อหาสาระในการเรียนรู้ ในตอน EDUCA Cafe ตอน 2 แนวทางการจัดการเรียนรู้ครูอเมริกา-แคนาดาสู้ COVID-19
Script
สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับครูผู้ฟังทุกท่านนะคะ เข้าสู่ EDUCA CAFÉ PODCAST คุยกันตามภาษา COOL...ครู กับดิฉัน นิภาพร กุลสมบูรณ์ หรือครูนินะคะ คราวที่แล้วคุณครูมาพูดคุยกันเรื่องการปรับตัวของเรื่องการเรียนการสอนของครูที่จีนในเมืองใหญ่ ๆ อย่าง ปักกิ่ง ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ ครั้งนี้นะคะเราจะข้ามฝั่งมากันที่ฝั่งอเมริกากันบ้าง ว่าที่สหรัฐอเมริกาเขามีการปรับตัวกันอย่างไร เรามีตัวอย่างเมืองที่น่าสนใจอย่างเมืองแรก คือ ลอสแอนเจลิส ที่สหรัฐอเมริกา เมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิส มีการทำความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น PBS และร่วมมือกับโรงเรียนของรัฐบาลทุกแห่งภายในเขตการศึกษา เขาจัดโปรเจกต์ที่ชื่อว่า Los Angeles Unified ซึ่งเป็นการริเริ่มเชื่อมโยงโทรทัศน์ทางไกลเข้ากับรายการโทรทัศน์ โดยให้นักเรียน โดยเฉพาะมัธยมต้นนะคะ สามารถเรียนรู้ผ่านสารคดีทางโทรทัศน์ที่ชื่อว่ารายการ NOVA และรายการนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เรื่องราวของนักวิจัย ซึ่งเนื้อหาก็สอดคล้องกับมาตรฐานหลักสูตรของรัฐ และก็มีการจัดสื่อการสอนต่าง ๆ และพัสดุที่เกี่ยวกับเอกสารการสอนต่าง ๆ ส่งไปให้นักเรียนตามบ้านด้วยค่ะ ก็เป็นวิธีการที่อาจจะไม่ต้องพึ่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการที่สะดวกในการเรียนรู้นะคะ
ถ้าเกิดสหรัฐอเมริกากันแล้ว เราข้ามฝั่งมาที่แคนาดากันบ้าง แคนาดานะคะ หลายๆ รัฐในแคนาดาก็มีการปรับตัวเพื่อที่จะเตรียมความพร้อมในการสอนเพื่อที่จะสู้กับโควิด ไม่ว่าจะเป็นการสอนแบบออนไลน์ หรือว่าการสอนแบบทางไกล ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม และต้นเดือนเมษายนนี้ค่ะ นิอยากจะยก 2 รัฐใหญ่ๆ ก็คือ แอลเบอร์ต้า (Alberta) กับ ออนแทริโอ (Ontario) ที่แอลเบอร์ต้านี่สิ่งที่สำคัญ และประเด็นสำคัญคือเขามีการสร้างเว็บไซต์ที่รวบรวมประเด็นสำคัญเรื่องหลักสูตร แล้วก็งานที่ควรจะมอบหมาย และเนื้อหาต่างๆ ให้กับนักเรียนแต่ละระดับชั้น และวางแผนไว้ชัดเจนเลยค่ะว่างานเหล่านี้ควรให้เด็กๆ ทำ โดยใช้เวลาเท่าไหร่ และคุณครูควรจะ feedback หรือให้ข้อมูลอะไรกับเด็กๆ บ้าง นอกจากเรื่องเว็บไซต์ที่รวบรวมเกี่ยวกับหลักสูตร เนื้อหา และ assignment ที่ให้กับเด็กแล้ว ที่รัฐนี้ยังมีการ update ข้อมูลของห้องสมุดออนไลน์ของรัฐทั้งหมดมารวบรวมไว้ในแหล่งเดียวกัน มีวิดีโอบทเรียน ข้อมูลอ้างอิงต่างๆ มากกว่า 4 หมื่นรายการ สำหรับนักเรียนในทุกระดับ และคุณครูในทุกระดับ และกลุ่มสาระวิชาด้วยค่ะ ถือว่าเป็นการเตรียมเรื่องสื่อการเรียนการสอนที่พร้อมมาก และเขาก็มีการ update สื่อเหล่านี้อยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งอันนี้ก็เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะสอดคล้องและช่วยคุณครูในการเรียนรู้แบบออนไลน์ หรือว่าการจัดการเรียนรู้แบบทางไกลด้วยนะคะ
และที่ ออนแทริโอ (Ontario) ก็ใช้วิธีการที่คล้ายคลึงกัน คือ การเปิดตัวเว็บไซต์ e-Learning ซึ่งตรงนี้เขาบอกว่าเหมาะกับเด็กมัธยมนะคะ ก็มีการรวบรวมสื่อการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ และก็ทางคณิตศาสตร์ เรียกได้ว่ามีคุณภาพสูง และได้รับการรับรองจากรัฐ นอกจากนั้นที่ออนแทริโอยังมีการเปิดเว็บไซต์ที่ชื่อว่า TVO Modified เด็กๆ สามารถเข้าไปเรียนรู้เนื้อหาของคณิตศาสตร์ได้ตลอดทั้งวันตามรายวิชา หรือเนื้อหาที่วางไว้ และคุณครูก็จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือได้แบบตัวต่อตัวเลยนะคะ ถ้าเกิดเด็กๆ มีความสงสัยในเรื่องต่างๆ สามารถไปทิ้งข้อความ หรือติดต่อโดยตรงกับคุณครูได้ ก็ถือว่าเป็นทั้งเว็บไซต์ที่น่าสนใจสำหรับการเรียนรู้ของเด็กๆ ด้วยนะคะ
นอกจากนั้นก็ยังมีการใช้โทรทัศน์หรือเราเรียกว่า Television Ontario TVO ในการจัดทำโปรแกรมที่จะสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ที่เล็กกว่ามัธยมก็คือในช่วงปฐมวัย หรือประถมศึกษานะคะ ซึ่งบทเรียนเหล่านี้จะเหมาะสำหรับชั้นอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 และก็ TVO ยังรวบรวมช่องทาง YouTube เพราะว่าเดี๋ยวนี้โทรทัศน์หลายๆ ที่ก็เป็น Smart TV แล้วใช่ไหมคะ ก็รวบรวมช่องทาง YouTube ไว้ในตัวโปรแกรมด้วย ให้ผู้ปกครองสามารถเข้าไป search หาแล้วก็สอนลูกหลานของตนผ่านสื่อเหล่านี้นะคะ ก็จะมีทั้งเรื่องคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับ STEM ค่ะ อันนี้เป็น movement ที่น่าสนใจและก็การปรับตัวจากฝั่งสหรัฐอเมริกาและก็แคนาดาทั้ง 2 รัฐนะคะ
สิ่งที่นิคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ และเป็น key takeaway ที่คุณครูจะจับไปได้ 4 เรื่องสำคัญก็คือ เขาร่วมมือกับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ หรือว่าผู้ที่จัดทำสารคดีเพื่อสร้างเรื่องราวที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ สอง เขารวมแหล่งเรียนรู้ทั้งหมด จากห้องสมุด สื่อออนไลน์ Youtube ต่างๆ ที่สอดคล้องกับกระทรวงมาจัดเตรียมไว้ให้คุณครูและนักเรียนของเขา รวมทั้งเขายัง update แหล่งเรียนรู้เหล่านี้ที่มีความทันสมัยอย่างต่อเนื่องมาตลอด และสำคัญที่สุด เขาสื่อสารกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคุณครู เอง นักเรียน ผู้บริหาร หรือผู้ปกครองเพื่อที่จะสามารถช่วยทุกคนให้สามารถผ่านวิกฤตการณ์นี้ และจัดการเรียนรู้ที่ดีที่สุดให้กับเด็กๆ ได้ โดยไม่ว่าจะเป็นการใช้เว็บไซต์ การใช้เอกสาร การใช้โทรทัศน์ การใช้แหล่งเรียนรู้อื่นๆ ทุกเส้นทางนะคะ อันนี้คือ movement ฝั่งสหรัฐอเมริกาและแคนาดานะคะ
ตอนหน้าค่ะ เราจะข้ามฝั่งมาที่นิวซีแลนด์และสิงคโปร์ 2 ประเทศนี้ปรับตัวกันอย่างไร สู้วิกฤตโควิด ติดตามให้ได้นะคะ