Knowledge

ลาก่อน VUCA มาแล้ว BANI : ชวน ผอ. ปรับตัวและโรงเรียนให้ทันการเปลี่ยนแปลง

ลาก่อน VUCA มาแล้ว BANI : ชวน ผอ. ปรับตัวและโรงเรียนให้ทันการเปลี่ยนแปลง

 2 years ago 8702

จิราเจต วิเศษดอนหวาย

          ความเปลี่ยนแปลงที่ไร้ทิศทาง จะนำสู่การปรับตัวได้อย่างเหมาะสมได้ ก็ด้วย ผอ. ที่รู้เท่าทันกระแสธารของโลก เครื่องมือสำคัญในการช่วยให้ผู้บริหารสามารถทำงานคือแนวคิดหรือโมเดลที่จะใช้อธิบายคุณสมบัติของโลกเพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โมเดลแนวคิดที่ได้รับความนิยมใช้งานในวงการบริหาร ธุรกิจ ทหาร หรือแม้แต่การศึกษามาตั้งแต่ยุค 1980s ได้แก่ VUCA World แต่เมื่อเกิดวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปี 2019 หลายองค์กรค้นพบว่าแนวคิด VUCA ไม่เพียงพอในการอธิบายและรับมือกับปรากฏารณ์โลกที่เกิดขึ้นอีกต่อไป บทความนี้ EDUCA ชวนผู้บริหารมาทบทวนโลกเดิมแบบ VUCA และทำความรู้จักกับโลกใหม่ที่เรียกว่า BANI เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ท้าทายวงการศึกษาในยุคปัจจุบัน

ย้อนทบทวน VUCA World คืออะไร
          ในปี 1985 นักเศรษฐศาสตร์ชื่อ Warren Bennis และ Burton Nanus นำเสนอโมเดลแนวคิด VUCA ในหนังสือ Leaders: The Strategies For Taking Charge ซึ่งตัวอักษรย่อของ VUCA แต่ละตัวอักษรแทนคุณสมบัติของโลกได้แก่ โลกที่ผันผวน (Volatility) ไม่แน่นอน (Uncertainty) ซับซ้อน (Complexity) และคลุมเครือ (Ambiguity) แต่เมื่อทุกวงการได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค Covid-19 ไม่เว้นแม้แต่วงการการศึกษา เช่น เกิดสภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัย ธุรกิจเทคโนโลยีการเรียนรู้ออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงสภาวะทางจิตใจของนักเรียนและบุคลาการทางการศึกษายุคหลังโควิดที่เปราะบางและเต็มไปด้วยความหดหู่ เครียด วิตกกังวล คุณสมบัติโลกแบบ VUCA ไม่สามารถอธิบายหรือพยากรณ์สิ่งที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไป นักคิด นักบริหารจากหลายวงการจึงนำแนวคิด BANI มาใช้อธิบายโลกยุคหลังโควิด

ทำไมเราต้องการแนวคิด BANI World มาช่วยรับมือกับโลกในอนาคต
          โลกแบบ BANI หรือ BANI World เป็นแนวคิดของ Jamais Cascio นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกาที่ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ โลกแบบ BANI จึงเป็นมากกว่าการอธิบายโลกทางกายภาพแบบ VUCA แต่ช่วยให้เรามองเห็นโลกที่กระทบต่ออารมณ์ของผู้คนด้วย เช่น ความหดหู่ ความเครียด ความกังวล ความสับสน ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริการมองเห็นภาพรวมในการจัดการอย่างรอบด้านโลกแบบ BANI ประกอบไปด้วย
1. โลกที่เปราะบาง (B - Brittle) สิ่งต่าง ๆ ในโลกแบบ BANI ในวงการการศึกษาไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร โครงการ แผนงานจะมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวอยู่ตลอดเวลาอันเนื่องมาจากความผันผวนของโลกรอบด้าน แผนระยะยาวหรือแผนที่ไม่มีความยืดหยุ่นจึงอาจถูก Disrupt ได้ตลอดเวลา
2. โลกที่เต็มไปด้วยความกังวล (A - Anxious) เนื่องจากอะไรก็เกิดขึ้นได้ในโลกแบบ BANI จึงนำไปสู่ความลังเลไม่กล้าตัดสินใจ หากเกิดความผิดพลาดในการดำเนินงานบ่อยหรือประสบกับปัญหาซับซ้อนเกินกว่าจะรับมืออาจนำไปสู่สภาวะความสิ้นหวังของบุคลกรและนำองค์กรไปสู่สถานการณ์วิกฤต
3. โลกที่คาดเดายาก (N - Nonlinear) การคาดเดายากในโลกแบบ BANI เกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นเส้นตรง หมายถึง สาเหตุและผลลัพธ์ไม่สัมพันธ์กันและไม่สามารถคาดเดาแนวโน้มได้ สาเหตุเล็ก ๆ อาจจะนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่เกินคาดเดาและ
4. โลกที่เข้าใจยาก (I - Incomprehensible) การคาดการณ์อย่างทะลุปรุโปร่งหรือการวางแผนควบคุมให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นตามต้องการอาจจะทำได้ยากในโลกแบบ BANI เพราะมีความผันผวน พลิกผันอยู่ตลอดเวลา

ใน BANI world ผู้บริหารจะนำพาองค์กรไปรอดได้อย่างไร
          ในโลกแบบ BANI การจะฝ่าฟันวิกฤตจำเป็นต้องเรียนรู้แนวทางใหม่ ๆ เพื่อใช้รับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลักคิดที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่ออยู่กับโลกที่เปราะบาง (B) อยู่ตลอดเวลาคือการมีโครงสร้างการทำงานที่เข้มแข็งและการมีทักษะฟื้นคืนกลับสู่ความปกติเมื่อล้มเหลว (capacity and resilience) เช่น การกระจายอำนาจในโครงสร้างองค์กรในโรงเรียนให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง สำหรับการรับมือกับความกังวล (A) คือการมีความเข้าอกเข้าใจและการมีสติเมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ (empathy and mindfulness) ผู้บริหารอาจส่งเสริมการดูแลสุขภาพใจของครู นักเรียนและบุคลากรให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ จนสามารถคลายความกังวลลงไปได้
          อีกความท้าทายหนึ่งในโลก BANI คือ การคาดเดาไม่ได้ (N) ผู้บริหารจึงต้องประเมินบริบทพร้อมปรับตัว (context and adaptability) ให้สามารถก้าวผ่านและเดินหน้าต่อไปได้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้บริหารมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการประเมินบริบทคือการรับฟังเสียงของผู้ปฏิบัติงาน ผ่านกิจกรรม PLC หรือ เข้าร่วมวงการศึกษาบทเรียน (Lesson Study) และความท้าทายสุดท้ายคือความเข้าใจยาก (I) ของสถานการณ์โลกจำเป็นต้องใช้ความโปร่งใสในการดำเนินงานและการใช้สัญชาตญาณ (transparency and intuition) ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แนวทางที่จะทำให้เกิดการเสนอทางออกอย่างหลากหลาย และการตัดสินใจแก้ปัญหาร่วม คือ การแบ่งปันข้อมูลอย่างโปร่งใสให้กับทีมผู้ปฏิบัติงานจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการดำเนินงานท่ามกลางความโกลาหลของโลกที่เราไม่สามารถควบคุมและเข้าใจได้ทั้งหมด
          ไม่ว่าโลกแบบ VUCA หรือ BANI เป็นแนวคิดที่ช่วยอธิบายความเป็นไปของโลกให้ผู้บริหารเข้าใจ ตระหนัก และเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่การเตรียมพร้อมและทักษะการปรับตัวก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ผู้บริหารรวมถึงบุคลากรที่มีความสนใจที่จะเรียนรู้ทักษะการปรับตัวของผู้นำแห่งอนาคต (Adaptive Leadership) สามารถรับชมสาระดี ๆ ย้อนหลังจากงาน The Principal Forum ครั้งที่ 4/2565 “นำหน้าฝ่าความโกลาหล : พลิกแพลงการนำท่ามกลางสถานการณ์พลิกผัน” (Leading through Chaos: Challenges of Adaptive Leadership) ได้ที่ Facebook และ YouTube ของ EDUCA

รายการอ้างอิง
วรากรณ์ สามโกเศศ. (2565, 17 พฤษภาคม). กรอบคิดจาก VUCA สู่ BANI. กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/columnist/1004689

Kraaijenbrink, J. (2022, June 22). What BANI really means (and how it corrects your world view). Forbes. https://www.forbes.com/sites/jeroenkraaijenbrink/2022/06/22/what-bani-really-means-and-how-it-corrects-your-world-view/?sh=24c8d44311bb

Mitzkus, S. (2022, March 8). BANI world: What is it and why we need it?. Digital Leadership. https://digitalleadership.com/blog/bani-world/


TAG: #VUCA #BANI #ภาวะวิกฤต #ความไม่แน่นอน #ความผันผวน #ทักษะการปรับตัว #ภาวะผู้นำ #Adaptive Leadership #BANI คืออะไร #BANI ย่อมาจากอะไร