Knowledge
ครูผู้สร้างการเรียนรู้ในสถานการณ์แห่งชีวิต
5 years ago 4849เรื่อง: มนาปี คงรักช้าง
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
จาก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และในไทย ดังตัวอย่าง #พาหมูป่ากลับบ้าน เราต่างเห็นทักษะชีวิตของเด็กๆ และโค้ชทั้ง 13 คน ในการรับมือกับสถานการณ์แห่งชีวิตเมื่อต้องติดอยู่ในถ้ำ สะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี
ซึ่งไม่ใช่แค่เด็กๆ เหล่านั้นจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์นี้ แต่เราทุกคนก็ได้ประสบการณ์ที่จะนำไปสู่การสร้างการเรียนรู้เช่นกัน
จากบทเรียนดังกล่าว นำไปสู่คำถามว่า “ครูจะสามารถจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างความพร้อมในการรับมือในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือส่งผลต่อความปลอดภัยของชีวิตได้อย่างไร”
เพราะทุกประสบการณ์คือการเรียนรู้ นี่คือบทสรุปจากการเรียนรู้กรณีศึกษาต่างๆ รอบโลกเพื่อให้เห็นแนวทางในการที่ครูเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้เพื่อรับมือกับสถานการณ์แห่งชีวิต
สร้างความตระหนักรู้ต่อภัยพิบัติและความเสี่ยงอันตราย
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 ณ หาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต ด.ญ.ทิลลี่ สมิธ นักเรียนเกรด 6 (เทียบกับระบบการศึกษาเมืองไทย ประถม 6) จากประเทศอังกฤษมาพักผ่อนยังประเทศไทยกับครอบครัวของเธอ ขณะที่กำลังเล่นอยู่บนชายหาด เธอสังเกตเห็นว่าน้ำทะเลค่อยๆ เพิ่มสูงขึึ้น เธอเห็นยอดคลื่นเป็นโฟมขาวแตกฟอง รูปร่างหมุนวน แล้วยกตัวสูงขึ้นเป็นคลื่นขนาดใหญ่ เธอกรีดร้องเรียกให้ครอบครัวขึ้นจากหาด เพราะสิ่งที่เธอเห็นนั้นเหมือนกับบทเรียนเรื่อง “สึนามิ” ที่เธอได้เรียนมาจากวิชาภูมิศาสตร์ของคุณครูแอนดรูย์ เคิร์นนี่
ครูเคิร์นนี่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “มันเป็นความท้าทายของครูที่จะทำให้นักเรียนรับรู้ว่าบทเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และสนใจในบทเรียน เพราะถ้ายังจัดการเรียนรู้ตามเนื้อหาในบทเรียนเก่าๆ แล้วถามตอบซ้ำไปมาในคำถามเดิมๆ ก็คงจะไม่สร้างการเรียนรู้ได้มากเท่านี้” หากไม่ได้การเรียนรู้เพื่อสร้างความตระหนักต่อภัยพิบัติของคุณครูเคิร์นนี่ ทิลลี่ก็คงไม่มีโอกาสที่จะรอดชีวิต และนำเรื่องราวดังกล่าวมาเล่าต่อเพื่อสร้างความตระหนักให้ผู้อื่นได้ต่อไปเช่นกัน
ฝึกฝนให้นักเรียนสามารถใช้ทักษะชีวิตได้อย่างเชี่ยวชาญในเวลาที่เหมาะสม
รายวิชาลูกเสือ เนตรนารี หรือผู้บำเพ็ญประโยชน์ เป็นรายวิชากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งมักถูกแทนที่ด้วยกิจกรรมอื่นๆ ได้ตลอดช่วงปีการศึกษา แต่แท้ที่จริงแล้วหัวใจของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนนั้น คือโอกาสที่ครูจะสามารถฝึกฝนให้นักเรียนใช้ทักษะชีวิตต่างๆ เช่น การเอาตัวรอด การปฐมพยาบาล การอ่านแผนที่ การผูกเงื่อนเพื่อใช้ให้เหมาะสมในสถานการ์เฉพาะหน้าต่างๆ
นี่จึงเป็นตัวอย่างของนักเรียนลูกเสือที่ได้รับการฝึกฝน และสามารถใช้ทักษะชีวิตได้อย่างเชี่ยวชาญในเวลาที่เหมาะสม ย้อนกลับไปในเดือนสิงหาคมปี 2560 ในส่วนหนึ่งของรัฐชิคาโก ประเทศสหรัญอเมริกา ได้เกิดอุบัติเหตุทางถนนอย่างรุนแรงบนทางแยกหหนึ่งใกล้กับบ้านของ เท็ด วิสเชิล สมาชิกของกองร้อยลูกเสือสามัญ
ทันทีที่เท็ดได้ยินเสียงรถชนกันอย่างรุนแรง เขาหยิบกระเป๋าที่ใส่อุปกรณ์ช่วยชีวิต และวิ่งออกไปยังจุดเกิดเหตุทันที ทักษะจากการฝึกฝนของเขาไม่เพียงแต่สามารถช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นทั้ง การหยุดเลือด การดามกระดูกหัก ทักษะการจัดการกับกระจกรถยนต์ที่แตกละเอียดกระจัดกระจาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือการมีทักษะในการประคองสติผู้ประสบเหตุก่อนที่หน่วยแพทย์กู้ภัยจะมาถึง ความหมายของ “จงเตรียมพร้อม” จึงไม่ใช่แค่การสอนทักษะ แต่เป็นการฝึกฝนให้นักเรียนสามารถใช้ทักษะนั้นอย่างเชี่ยวชาญ และมีความสามารถในการจัดการสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ด และเหมาะสมด้วยเช่นกัน
สร้างความร่วมมือในการเตรียมตัวรับความเสี่ยงอย่างเหมาะสมกับนักเรียนแต่ละช่วงวัย
ช่วงระหว่างเหตุอุบัติภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และสึนามิในภูมิภาคตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 11 มีนาคม 2554 มีผู้เสียชีวิตกว่า 15,800 คน และผู้สูญหายนับ 2,660 คน ท่ามกลางความสูญเสียนั้นก็มีความหวังอันเป็นผลมาจากการจัดการเรียนรู้และเตรียมตัวรับความเสี่ยงปรากฏขึ้น
ณ เมืองคาไมชิ จังหวัดอิวะเตะ ทันที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 แมกนิจูด นักเรียนโรงเรียนมัธยม Kamaishi East Junior High School ต่างพากันวิ่งออกจากโรงเรียนสู่ที่สูง รวมทั้งร่วมมือกับคุณครูโรงเรียน Unosumai Elementary School ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง นำนักเรียนประถม และชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงอพยพสู่พื้นที่ปลอดภัยได้ก่อนที่สึนามิสูงเกิน 10 เมตร จะโถมเข้าสู่ชุมชน และโรงเรียนได้ทันเวลา การอพยพดังกล่าวได้ช่วยนักเรียนประถมและนักเรียนมัธยมราว 3,000 คน ให้รอดชีวิตอย่างไม่น่าเชื่อ
“ปาฏิหาริย์แห่งคาไมชิ” ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโชคช่วย แต่เป็นผลมากจาก “โครงการการศึกษาเพื่อป้องกันอุบัติภัยสึนามิ” ภายใต้การร่วมมือของโรงเรียนในเมืองคาไมชิ ร่วมกับอาจารย์โทชิทากะ ทาคาดะ จากสาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยกุนมะ
โครงการนี้อาจารย์ทาคาดะ ร่วมสนับสนุนกับคุณครูให้วางแผนชั้นเรียน และจัดกิจกรรมเกี่ยวกับสึนามิ และความสำคัญของการอพยพ ภายใต้กรอบแนวคิดสำคัญคือจะสร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆ รักษาตัวรอดได้ โดยมุ่งเน้นที่การให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติภัยต่างๆ และพัฒนาแนวคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรับมือกับความเสี่ยง และภัยธรรมชาติอย่างถูกต้อง คือ การจัดการเรียนรู้ที่ยั่งยืนในการจัดการ อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างระมัดระวัง และปลอดภัย การสร้างความร่วมมือในการจัดการเรียนรู้เพื่อเตรียมตัวนักเรียนให้พร้อมรับความเสี่ยงนี้ จึงส่งผลให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการวางแผนที่ดี จากที่นักเรียนเหล่านี้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เมื่อวันหนึ่งเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีทักษะการอพยพเอาตัวรอด และสามารถส่งต่อชุดความรู้ให้คนอื่นๆ และคนรุ่นต่อไปสามารถปฏิบัติได้เช่นกัน
เยียวยาและสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจหลังนักเรียนเผชิญสถานการณ์แห่งชีวิต
หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศเนปาลในวันที่ 25 เมษายน 2558 ที่ทำให้ “พูจา” นักเรียนหญิงชาวเนปาลที่ประสบภัยจนต้องเข้ารับการผ่านตัดทางสมองจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น
แม้ว่าพูจาจะเป็นคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่กลับต้องประสบกับความกลัวในการกลับเข้าสู่ห้องเรียนอีกครั้ง ทั้งกลัวสายตาเพื่อนๆที่จะมองกับภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปจากการผ่าตัด ความกลัวต่อคำถามที่จะตอกย้ำเธอในเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ และความกลัวต่อการเผชิญหน้าสถานการณ์แผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นอีก
การรอดชีวิตจึงหมายถึงการรอดของโลกภายในด้วยเช่นกัน
สุมิตรา ดาคาล นักเคลื่อนไหวทางสังคมในกิจกรรม Room to Read เข้าไปพูดคุยกับครู และเพื่อนนักเรียนของพูจาในการช่วยเยียวยาพูจาจากเหตุการณ์ดังกล่าว กิจกรรมดังกล่าวเป็นกระบวนการทางจิตวิทยาสังคมในการให้บริการปรึกษาทางจิตวิทยาแบบกลุ่ม และการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะชีวิต เพื่อสนับสนุนให้พวกเธอมีความกล้าต่อการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ร้ายแรง และสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ
การเยียวยา และสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้กับนักเรียนหลังต้องเผชิญกับสถานการณ์แห่งชีวิต ช่วยให้นักเรียนสามารถก้าวผ่านความท้าทายทางจิตใจของตนเอง เพื่อให้นักเรียนสามารถถ่ายทอดความต้องการเพื่อใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุข เห็นคุณค่าของชีวิตและการเรียนรู้ รวมทั้งมีเป้าหมายที่จะทำความฝันของตนเองได้
เปิดพื้นที่โรงเรียนเพื่อเยียวยาชุมชน
หลังเหตุการณ์เฮอร์ริเคน ฮาร์วี่ย์ เข้าถล่มเมืองฮิวสตันท์ รัฐเท็กซัส เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา แม้ว่าโรงเรียนหลายแห่งจะหยุดการเรียนการสอน แต่โรงเรียนก็เปิดพื้นที่เป็นศูนย์พักพิงให้กับผู้คนในชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วม และฝนตกหนักจากผลของเฮอร์ริเคน
ผู้อำนวยการของโรงเรียนที่เปิดตัวเป็นศูนย์พักพิง “ผู้คนรอบๆ บริเวณโรงเรียนต่างต้องการที่หลบภัย อาหารอุ่นๆ และการต้อนรับที่ดีจากโรงเรียน เราจึงต้องการความมั่นใจว่าแต่ละครอบครัว และนักเรียนอยู่พร้อมหน้ากันเป็นชุมชนเดียวกันกับโรงเรียนของเรา เพื่อรับมือต่อสภาพอากาศ พายุ และผลพวงจากเหตุการณ์นี้”
สถานการณ์ศึกษาจึงเป็นพื้นที่ที่จะสามารถเยียวยาชุมชนจากอุบัติภัยต่างๆ รวมทั้งช่วยสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจของชุมชน ในการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ อย่างที่เคยเกิดขึ้นในสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ของประเทศไทย ที่เราก็เห็นศักยภาพ และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ภายใต้การเปิดพื้นที่ของสถานศึกษาในพื้นที่ต่างๆ เช่นกัน
สร้างการเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันนักเรียนต่อสถานการณ์เสี่ยงอันตราย
จากเหตุการณ์น้ำท่วมในบางส่วนของประเทศมาเลเซีย ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา นอกจากจะเปิดพื้นที่ให้ชุมชนใช้เป็นศูนย์พักพิงแล้ว โรงเรียนยังจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน และเด็กๆ อีกด้วย การจัดการของโรงเรียนในมาเลเซียได้แบ่งทีมงานเป็น 2 ส่วน คือ
1) ทีมสนับสนุนวิชาการ ที่จัดการเรียนการสอนในรายวิชาทั่วไป เพื่อให้นักเรียนในพื้นที่ดังกล่าวสามารถติดตามบทเรียนได้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น
2) ทีมสนับสนุนเฉพาะหน้า (Smart Support Team) ที่จัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดการตนเองเมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วม รวมทั้งจัดกิจกรรมการปรึกษาเพื่อปรับสภาพจิตใจของนักเรียนในภาวะภัยพิบัติ
การจัดกิจกรรมมีทั้ง การระบายสี เล่นเกมต่างๆ หรือถามตอบปริศนา รวมทั้งพื้นฐานการคำนวณ แต่สิ่งสำคัญ คือ นี่เป็นโอกาสในการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาวะ และความปลอดภัย ที่นักเรียนควรปฏิบัติในสภาวะน้ำท่วม เพื่อแก้ไขปัญหา และป้องกันนักเรียนต่อสถานการณ์เสี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
เพราะการศึกษารอไม่ได้ #educationcannotwait
จากกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงผลของการเรียนรู้ต่อชีวิต คุณค่าของครู จึงเกิดขึ้นในฐานะนักเคลื่อนไหวให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเขา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ การฝึกฝนทักษะ การสร้างความร่วมมือในการเตรียมตัวรับความเสี่ยง การเยียวยานักเรียนหลังประสบภัย การสร้างการเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหา และป้องกันนักเรียนต่อสถานการณ์เสี่ยงอันตราย รวมทั้งการสนับสนุนจากผู้บริหารการศึกษาในการทำกิจกรรมต่างๆ และการเปิดพื้นที่เพื่อเยียวยาชุมชนด้วย
การจัดการเรียนรู้จึงไม่เพียงแต่ให้ความรู้ในสถานการณ์แห่งชีวิต ทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ปรับปรุงสุขภาวะ และสนับสนุนนักเรียนให้ประสบความสำเร็จ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดการเรียนรู้จะช่วยให้นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง และรักษาชีวิตได้
เมื่อมองในระยะสั้นการสร้างการเรียนรู้ในสถานการณ์แห่งชีวิต จะถูกมองเป็นการลดความเสี่ยง ช่วยรักษาชีวิต และปกป้องนักเรียนในช่วงสถานการณ์เฉพาะหน้า
หากพิจารณาถึงระยะยาว การสร้างการเรียนรู้ในสถานการณ์แห่งชีวิต ไม่เพียงแต่เพื่อรักษาชีวิต แต่ยังช่วยพัฒนาสังคมในด้านอารมณ์ของบุคคล และความอยู่ดีของเสถียรภาพในสังคมเมื่อต้องเผิญกับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้นร่วมกันได้
ครูและโรงเรียนจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอนาคต ไม่เพียงแต่ตัวนักเรียน ทั้งยังชุมชน และสังคมโดยรวมอีกด้วย อาจไม่ต้องรอให้เกิดสถานการณ์ที่สำคัญแห่งชีวิตเสียก่อน แต่ครูสามารถเป็นผู้สร้างการเรียนรู้ในสถานการณ์แห่งชีวิตได้นับจากนี้
ด้วยเหตุนี้ …การศึกษาจึงรอไม่ได้
อ้างอิง
news.nationalgeographic.com/news/2005/01/0118_050118_tsunami_geography_lesson.html
www.journal-topics.com/articles/scout-ted-wyshel-saves-lives-by-being-prepared/
www.japanfs.org/en/news/archives/news_id034287.html
www.globalcitizen.org/en/content/a-year-after-the-nepal-earthquake-a-survivor-finds/
www.the74million.org/article/closed-houston-schools-open-as-shelters-for-families-flooded-out-of-their-homes-by-hurricane-harvey/
www.nst.com.my/news/nation/2018/01/323707/special-classes-flood-evacuees-children-school-cum-relief-shelter-pekan
www.globalcitizen.org/en/content/education-change-save-lives/
www.globalcitizen.org/en/content/importance-education-in-emergencies/
www.freepik.com