Knowledge

เทคนิคสร้างเสริมพฤติกรรมที่ดี สำหรับนักเรียนที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ

เทคนิคสร้างเสริมพฤติกรรมที่ดี สำหรับนักเรียนที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ

 3 years ago 7756

เรียบเรียง: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: พิพัฒน์ ยุติธรรม

          ผู้เชี่ยวชาญด้านความต้องการทางการศึกษาแบบพิเศษ ได้เสนอตัวอย่างพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคของกระบวนการจัดการเรียนรู้ และการพัฒนาศักยภาพนักเรียน โดยแนะแนวทางที่สร้างสรรค์ในการปรับกระบวนการดูแล และสนับสนุนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แทนที่จะมุ่งหาวิธีการที่ดีที่สุดหรือวิธีการที่เหมาะสมวิธีการเดียวในการจัดการเรียนรู้ และดูแลนักเรียนทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครูผู้สอนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ และความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนในชั้นเรียนด้วยวิธีการที่หลากหลายโดยยึดอยู่บนพื้นฐานความต้องการ และความถนัดของนักเรียนแต่ละคนเป็นหลัก

          แม้ว่าโครงสร้างหลักสูตรการจัดการเรียนรู้จะผ่านการคิด และวางแผนมาเป็นอย่างดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าหากไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ และตอบสนองต่อความต้องการของเด็กแต่ละกลุ่มที่อยู่ในระบบการศึกษาได้ การจัดการความรู้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นก็ไม่อาจประสบสำเร็จดังที่คาดหวังไว้ได้ ดังนั้น การจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่มีความต้องการในการดูแลเป็นพิเศษ จึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างครูผู้สอน และผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ หรือที่เรียกว่า “SENCO” (the special educational needs co-ordinator) ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลของนักเรียนเพื่อออกแบบวิธีการจัดการชั้นเรียน วิธีการถ่ายทอดความรู้ และวิธีการรับมือกับพฤติกรรมที่ไม่แน่นอนของนักเรียนได้อย่างเหมาะสม สร้างสรรค์ จะช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้เนื้อหาบทเรียนได้อย่างสอดคล้องตามหลักสูตรที่ควรรู้ด้วยวิธีการแปลกใหม่ และหลากหลาย

“3 พฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของนักเรียนที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ”
          การจัดการพฤติกรรมที่มีลักษณะพิเศษนั้น ล้วนแต่ต้องอาศัยแนวทางใหม่ๆ ในการดูแลพัฒนานักเรียนที่มีความต้องการแตกต่างกันไปอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ จากการศึกษา และการสังเกตพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ซึ่งพบมากในกลุ่มนักเรียนนั้น สามารถสรุปพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงออกเป็น 3 ข้อหลัก ดังนี้
1. นักเรียนมีพฤติกรรมต่อต้าน และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว (Continually disruptive behavior) เนื่องจากรู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับสมาชิกคนอื่นๆ ของห้องเรียน ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจบุคคลรอบข้าง เมื่อตนเองรู้สึกไม่พอใจก็เลือกที่จะแสดงพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมต่อผู้อื่นในทันทีทันใด เพื่อหยุดการกระทำที่ตนไม่พึงพอใจนั้น หรือในบางครั้งก็เพื่อที่จะได้รับความสนใจจากผู้อื่น ทั้งนี้ แม้แต่วิธีการควบคุม ตักเตือนหรือกักบริเวณก็ไม่อาจแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าวให้ดีขึ้นได้
2. นักเรียนมีสมาธิสั้น หรือ มีความสามารถในการจดจ่อกับการกระทำหนึ่ง ๆ ในระยะสั้น (Lack of concentration or focus) ไม่สามารถทำหลายๆ การกระทำพร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน เช่น การฟังพร้อมกับเขียน การฟังพร้อมกับการอ่านตัวหนังสือ การอ่านพร้อมกับการคิด เป็นต้น อันเนื่องมาจากปัญหาด้านพัฒนาการเองก็ดี จากการเลี้ยงดูก็ดี ส่งผลให้เด็กนักเรียนเกิดความรู้สึกกดดัน และอึดอัดกับการเรียนรู้ในชั้นเรียนจนไม่สามารถจดจำ เชื่อมโยง และทำความเข้าใจเนื้อหาสาระของบทเรียน ไม่สามารถทำงานส่งตรงตามเวลา รวมทั้งมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชั้นเรียนได้เท่าที่ควร นักเรียนจึงคิดว่าตนเองมีปัญหาด้านการเรียนรู้ ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมต่อต้านการมาโรงเรียน มีสถิติขาดลามาสายบ่อยครั้งโดยที่ผู้ปกครองเองก็ไม่สามารถให้เหตุผลต่อการกระทำดังกล่าวของนักเรียนได้
3. นักเรียนมีปัญหาด้านพัฒนาการการเรียนรู้ หรือ มีระดับทักษะการอ่านเขียนในเกณฑ์ที่ควรปรับปรุง (Lack of written work) บางกรณีนักเรียนสามารถพูดหรือออกเสียงคำต่างๆ ได้อย่างชัดเจน แต่ไม่สามารถบอกหรืออธิบายความหมายของคำเหล่านั้นจากความคิดความเข้าใจของตนเองผ่านการเขียนอย่างถูกต้องได้ ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุจากปัญหาด้านพัฒนาการ ปัญหาสุขภาพหรือมีโรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ เช่น เรียนรู้และเข้าใจบทเรียนช้ากว่าเพื่อน ไม่มีสมาธิในการเรียน ไม่สามารถจับใจความสิ่งที่อ่านและเขียน เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้นักเรียนรู้สึกอึดอัดไม่มีความสุขในการเรียน กลายเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ในระยะยาว

          การดูแล และจัดการพฤติกรรมดังกล่าวต้องเผชิญกับความท้าทายซึ่งจะต้องอาศัยทักษะ ความสามารถ ความใส่ใจ รวมทั้งใช้เวลาในการศึกษาหรือทำความเข้าใจพฤติกรรมนักเรียนอย่างละเอียดในเชิงลึก เพื่อจะนำข้อมูลที่ได้มาสร้างแรงจูงใจหรือเงื่อนไขให้นักเรียนกลับมาสนใจ และตั้งใจจดจ่อกับกิจกรรมในชั้นเรียนมากยิ่งขึ้น การปรึกษา และขอคำแนะนำจากนักจิตวิทยาด้านการศึกษาหรือจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในวิธีการจัดการดูแลพฤติกรรมของนักเรียนอย่างถูกต้องเหมาะสมนั้น จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนให้มีพัฒนาการด้านอารมณ์ และการเรียนรู้ในชั้นเรียนที่ดียิ่งขึ้น

“เทคนิคหรือข้อเสนอแนะเบื้องต้นที่เหมาะสมในการพัฒนานักเรียนที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ”
          สำหรับนักเรียนที่มีพฤติกรรมต่อต้าน และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างรวดเร็วนั้น ควรใช้วิธีการสนับสนุนพฤติกรรมโดยการใช้แรงจูงใจเชิงบวก การขัดเกลาทางสังคม แรงสนับสนุนทางสังคม และความเข้าใจจากกลุ่มเพื่อนในการช่วยเหลือ และส่งเสริมให้นักเรียนที่มีความต้องการเฉพาะด้านนั้นเป็นอย่างมาก ประกอบกับการดูแลและขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงจะช่วยให้นักเรียนจะสามารถเรียนรู้ปรับตัวและซึมซับพฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสมเวลาอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
          สำหรับนักเรียนที่นักเรียนมีสมาธิสั้น หรือ มีความสามารถในการจดจ่อกับการกระทำหนึ่งๆ ในระยะสั้น ผู้เชี่ยวชาญต่างให้คำแนะนำว่า ควรลดจำนวนนักเรียนในชั้นเรียน ลดปริมาณการบ้านให้น้อยลงแต่มุ่งให้คุณค่ากับการฝึกสมาธิ และการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจนสำเร็จ เพื่อที่ครูผู้สอนสามารถเข้าถึง และใช้เวลาในการอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนแต่ละคนได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งใช้การกำหนดเวลาเป็นตัวชี้วัด และใช้เฝ้าติดตาม ประเมินพัฒนาการของการมีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมในห้องเรียน
          ในขณะเดียวกัน สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาด้านพัฒนาการการเรียนรู้ หรือ มีระดับทักษะการอ่านเขียนในเกณฑ์ที่ควรปรับปรุง แนวทางที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำในการพัฒนาศักยภาพทางการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น เปลี่ยนวิธีสอนให้ง่าย สั้น กระชับ ได้แก่ การใช้สี และการเรียนรู้จากภาพเป็นตัวช่วยเรื่องการฝึกจดจำ สะกด และออกเสียงคำ อีกทั้งช่วยลดโอกาสที่นักเรียนจะสับสนระหว่างตัวสะกดได้เป็นอย่างดี การสรุปย่อหลักการ โครงสร้าง และตัวอย่างในการใช้ภาษาที่ถูกต้องให้สั้นกระชับชัดเจน เข้าใจ และนำไปฝึกใช้ได้ง่าย การใช้วิธีการสื่อสารอธิบายตัวต่อตัวประกอบกับการให้กำลังใจจากเพื่อนเป็นแรงเสริมเชิงบวก การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การเรียนรู้สนุก และสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น 

          ดังนั้น ปัญหาด้านพฤติกรรมจะสามารถปรับแก้ไขให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยความเข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมและเข้าใจลักษณะเฉพาะตัวของนักเรียน อีกทั้งการจำแนกกลุ่มของพฤติกรรมที่เป็นปัญหานั้น ควรทำการจำแนกตามความเป็นจริงโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่ครูผู้ซึ่งทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจะสามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมและส่งเสริมพัฒนาการ ปรับแก้ปัญหาพฤติกรรมของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ บทบาทของครูก็จะไม่ใช่เพียงการทำหน้าที่รับมือ และแก้ปัญหากับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ครูยังมีบทบาทในการสร้างทางเลือก และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาตนเองของนักเรียน ส่งผลให้นักเรียนเข้าใจตนเอง รู้สึกเห็นคุณค่าของตนเอง และเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ รวมทั้งการปฏิบัติตนที่เหมาะสมเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้เช่นเดียวกัน

ที่มา
Daniel Sobel and Wendy Knott. (2014). Differentiation for SEN students: tips for boosting attainment. เข้าถึงแหล่งข้อมูลวันที่ 5 กันยายน 2563 จาก https://www.theguardian.com/teacher-network/teacher-blog/2014/apr/09/special-educational-needs-tips-boosting-attainment


TAG: #เด็กพิเศษ #การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กพิเศษ #Special Needs #Special educational needs #SEN