Knowledge
เจาะลึก/เรียนรู้เครื่องมือสร้างสรรค์ห้องเรียนนวัตกรรม ของครู CDI' ปล่อยของ (ตอนที่ 3)
4 years ago 2196มาถึงตอนที่ 3 ที่ EDUCA ได้นำผลงาน สื่อการเรียนการสอนนวัตกรรม จากโครงการ CDI’ Lab มาให้ชมกัน คุณครูลองศึกษารายละเอียดที่แต่ละทีมสร้างสรรค์กันดูแล้ว คิดเห็นอย่างไร บอกกันมาได้นะ แต่บอกไว้เลยว่ากว่าจะฝ่าด่านจนได้มา แสดงผลงานในงาน CDI’ ปล่อยของนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ก็เป็นการเรียนรู้กับทีม STEAM4INNOVATOR ของ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่เฝ้าฟูมฟักกันมาหลายเดือน รับรองว่าครูนวัตกรทั้ง 10 ทีม ต้องรู้สึกว่าคุ้มค่ามาก มาติดตามรายละเอียดของผลงานของ 3 ทีมสุดท้าย ผู้สร้างสรรค์ สื่อการเรียนการสอนนวัตกรรมกัน
ทีมที่ 8 Chiang Rai Business Model Canvas
สร้างสรรค์โดย
• ครูเอก - นิติศักดิ์ เจริญรูป
• ครูนุ่น - วรีวรรณ เจริญรูป
จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย
ลักษณะของเครื่องมือ: Board Game
👨👧👧ผู้เล่น 10 คน
⏰ระยะเวลาในการเล่น 150 นาที
สื่อการเรียนการสอนนวัตกรรมชิ้นนี้ อยู่ในกระบวนการสร้างนวัตกรรม STEAM4INNOVATOR: Stage 3 Business Model การออกแบบแนวคิด และแผนการบริหารจัดการ
สาระความรู้ที่ผู้เล่นได้รับ:
เพื่อให้ผู้เล่นเข้าใจ และเรียนรู้กระบวนการวิเคราะห์ธุรกิจ (Business Model Canvas) ผ่านกระบวนการซื้อขายสินค้าทางธุรกิจเบื้องต้น
วิธีการ:
โดยในเกมส์ผู้เล่นจะได้รับโฉนดที่ดิน (โฉนดได้อิงจากพื้นที่ตั้งจริง ของอำเภอต่างๆใน จ.เชียงราย) ร้านค้า กลุ่มลูกค้า ไทล์สัญลักษณ์ผู้เล่น เงินเริ่มเกมส์ เพื่อใช้ในการลงทุน ระหว่างการเล่นผู้เล่นจะต้องวางแผนการลงทุน วิเคราะห์ว่าทำเลไหน ควรวางขายสินค้าชนิดใด การเปิดร้านค้าในทำเลต่างๆ การศึกษาร้านค้าโดยรอบว่าขายสินค้าชนิดใด จะคุ้มกับการลงทุนหรือไม่ ระหว่างการเล่นก็จะมีการบันทึกรายรับ/รายจ่าย ตามกิจการต่างๆ ของผู้เล่น ซึ่งจะสามารถมาวิเคราะห์กันในตอนจบเกมว่า ผู้ชนะ ชนะเพราะร้านค้าใดของผู้ชนะทำเงินมากที่สุด ร้านนั้นขายสินค้าใด ผู้แพ้ ขาดทุนจากกิจการส่วนไหน เป็นต้น โดยการบันทึกการเล่นเป็นการเสริมความรู้ ให้ตระหนักถึงความสำคัญว่าในการทำธุรกิจนั้น การบันทึกบัญชีเป็นสิ่งจำเป็น เจ้าของกิจการต้องรู้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของกิจการตนเอง เป็นการเล่นเกมหนึ่งเกม ที่พัฒนาทักษะหลากหลายด้านไปพร้อมๆกันได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนทางการตลาด การเลือกลงทุนตามทำเล การศึกษาคู่แข่ง ธุรกิจโดยรอบ การทำบัญชี
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมของกระบวนการสร้างนวัตกรรม STEAM4INNOVATOR https://facebook.com/STEAM4INNOVATOR
ทีมที่ 9 สืบเสาะเจาะลึก ข้าวเหนียว
สร้างสรรค์โดย
• ครูตุ๊กตา - พรรณี ฤาชากูล
จาก โรงเรียนบ้านข่าพิทยาคม
ลักษณะของเครื่องมือ: Board Game
👨👧👧ผู้เล่น 24 คน
⏰ระยะเวลาในการเล่น 60 นาที
สื่อการเรียนการสอนนวัตกรรมชิ้นนี้ อยู่ใน กระบวนการสร้างนวัตกรรม STEAM4INNOVATOR : Stage 1 Insight รู้ลึกรู้จริง
สาระความรู้ที่ผู้เล่นได้รับ:
เพื่อค้นหาข้อมูล ขั้นตอนเริ่มต้นกระบวนการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมด้วยการรับรู้ มองหาปัญหาที่แท้จริง เข้าถึงมุมมองใหม่ จนสามารถสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความอยากที่จะคิดไอเดียสุดเจ๋งมาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นธุรกิจที่สร้างคุณค่า พร้อมทำกิจกรรมสนุกสนานไปพร้อมๆ กับเพื่อน แล้วยังได้ฝึกทักษะการสังเกต การตั้งคำถาม การสัมภาษณ์ เพื่อหาปัญหาหรือโอกาสที่จะช่วยคิดหาแนวทางในการแก้ปัญหา สู่การพัฒนาเป็นชิ้นงานอย่างมีคุณค่า
วิธีการ:
โดยด่านแรกผู้เล่นจะได้ทอยลูกเต๋าเพื่อจั่วการ์ดและนำคำที่ได้รับไปสร้างประโยค Challenge ฝึกการคิดเป็นเหตุผล วิเคราะห์จากข้อมูลที่ได้รับ ฝึกการสังเกตุและตั้งคำถาม ไปต่อด่านที่ 2 ในสถานการณ์สมมติที่ผู้เล่นจะไปปลูกข้าวในนา 1 แปลงปลูกได้ 6 ต้น หากปลูกครบ 1 แปลง จะมีสิทธิ์จั่วการ์ด 1 ใบ เมื่อพบการ์ดสื่อ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ บริการ หรือแผนธุรกิจ ผู้เล่นจะต้องเขียนข้อมูลตามความหมายที่จับได้ให้มากที่สุดในเวลาที่กำหนด ผู้เล่นที่ได้คะแนนสูงสุดจากการปลูกข้าวจะเป็นผู้ชนะ เป็นด่านที่ให้ผู้เล่นคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ภายในเวลาที่กำหนด เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่ได้พบเจอ ฝึกการสร้างสรรค์ไอเดีย การคิดต่อยอดจากปัญหาที่พบ การร่วมกันระดมความคิด การเสนอไอเดียต่อผู้อื่น การรับฟังความคิดเห็น สนุก ได้ความรู้ สร้างสามัคคีเกมส์ดีๆแบบนี้
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมของกระบวนการสร้างนวัตกรรม STEAM4INNOVATOR https://facebook.com/STEAM4INNOVATOR
ทีมที่ 10 Emotion to Innovation Card
สร้างสรรค์โดย
• ครูโมเม - ดลฤทัย เจียรกุล
จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
• ครูอิ๊ก - ณฐิณี เจียรกุล
จาก Arcadia Academy
ลักษณะของเครื่องมือ: Card Game
👨👧👧ผู้เล่น 4 คน
⏰ระยะเวลาในการเล่น 45 นาที
สื่อการเรียนการสอนนวัตกรรมชิ้นนี้ อยู่ใน กระบวนการสร้างนวัตกรรม STEAM4INNOVATOR : Stage 1 Insight รู้ลึกรู้จริง
สาระความรู้ที่ผู้เล่นได้รับ:
อารมณ์หรือความรู้สึกเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการสร้างนวัตกรรม อารมณ์หรือความรู้สึกเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ซึ่งสามารถนำไปสู่นวัตกรรมได้ ดังนั้นจึงควรนำอารมณ์หรือความรู้สึกมาผนวกเข้ากับกระบวนการสร้างนวัตกรรมด้วย Emotion to Innovation Card เป็นการนำอารมณ์หรือความรู้สึกมาใช้เป็นตัวนำพาการเรียนรู้กระบวนการ STEAM4INNOVATOR ในขั้นตอนแรก นั่นคือรู้ลึก รู้จริง ผู้ใช้จะได้ฝึกทักษะการคิด การฟัง การตั้งคำถาม การทำความเข้าใจ การสะท้อนอารมณ์ และการยอมรับความแตกต่าง เพื่อให้รู้ลึก รู้จริง และนำไปสู่การสร้างประโยคโจทย์นวัตกรรมได้
วิธีการ:
โดยกิจกรรมจะแบ่งออกเป็นสามขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 การฟัง ทุกคนรับฟังเรื่องราวที่กำหนด โดยไม่อนุญาตให้คุย แสดงความคิดเห็น หรือตั้งคำถาม แต่ละคนเลือกอารมณ์ของผู้อยู่ในเรื่องราว หลังจากนั้นให้เลือกสะท้อนอารมณ์ของตนเอง แบ่งกันสิ่งที่ได้กับกลุ่ม และบันทึกเส้นทางการเรียนรู้ของตนเอง
ขั้นตอนที่ 2 การสัมภาษณ์ ใช้บัตรคำถามช่วยสร้างและตั้งคำถาม จากนั้นกำหนดระยะเวลาในการสัมภาษณ์ เมื่อครบกำหนดแล้วให้แต่ละคน สะท้อนอารมณ์ตามขั้นตอนที่ 1 อีกครั้ง และบันทึกในเส้นทางการเรียนรู้ของตนเอง
ขั้นตอนที่ 3 การสรุป ให้แต่ละคนสรุปกลุ่มเป้าหมาย และสรุปสิ่งที่ได้จากการฟัง การสัมภาษณ์ และการสะท้อนอารมณ์ นำมาตั้งเป็นโจทย์นวัตกรรม
เป็นสื่อการเรียนการสอนที่เล่นสนุก ได้ความรู้ ทุกคนจะได้ฝึกการฟัง เพื่อคิด วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ นำไปต่อยอด ในการสร้างคำถาม สอบถาม สัมภาษณ์ ให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ ท้ายสุดฝึกการสรุปสิ่งที่ได้รับ และเสนอความคิดของตนเองกับผู้อื่น เล่นเพียง 1 กิจกรรมแต่ได้พัฒนาหลากหลายสกิล
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมของกระบวนการสร้างนวัตกรรม STEAM4INNOVATOR https://facebook.com/STEAM4INNOVATOR
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมของ โครงการ CDI' Lab (Creative Design Innovators' Classroom) หรือ โครงการออกแบบห้องเรียนนวัตกร คลิกที่นี่ https://facebook.com/STEAM4INNOVATOR
เจาะลึก/เรียนรู้เครื่องมือสร้างสรรค์ห้องเรียนนวัตกรรม ของครู CDI' ปล่อยของ (ตอนที่ 1)
เจาะลึก/เรียนรู้เครื่องมือสร้างสรรค์ห้องเรียนนวัตกรรม ของครู CDI' ปล่อยของ (ตอนที่ 2)