Knowledge
โรงเรียนกับการสร้างเยาวชนพลเมืองดี
4 years ago 22071ผู้เขียน: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ ครูจากโครงการ Teach for Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
“พลเมืองดี” … เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ เคารพความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น ปฏิบัติตนตามกฎหมาย และปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม... ทุกสังคมล้วนปรารถนาให้ประชาชนเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพ ทำแต่สิ่งที่ดี และมีประโยชน์ต่อสังคมด้วยกันทั้งสิ้น แต่การจะทำให้ทุกคนเป็นพลเมืองที่ดีได้นั้นล้วนต้องอาศัยกระบวนการอบรมบ่มเพาะที่เหมาะสมตั้งแต่แรกเริ่มจากครอบครัวและที่สำคัญไม่แพ้กันซึ่งก็คือ โรงเรียน
“เพราะโรงเรียนเป็นมากกว่าสถานที่ให้ความรู้”
โรงเรียนเป็นสถานที่อบรมบ่มเพาะเยาวชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ นอกจากความรู้เรื่องวิชาการแล้ว ยังรวมถึงทักษะ ทัศนคติ ความเข้าใจต่อการแสดงออกที่เหมาะสมในการอยู่ร่วมกันภายในสังคม โรงเรียนจึงเปรียบเสมือนสถานที่จำลองสังคมขนาดเล็กให้แก่เด็กได้เรียนรู้และปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมภายนอกบริเวณบ้าน และครอบครัวของตนเอง ช่วยหล่อหลอมให้เด็ก และเยาวชนได้เรียนรู้หน้าที่ บทบาทในสังคมของตนเองอย่างเหมาะสมและสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับธรรมเนียมของสังคมที่ตนอาศัยอยู่อีกด้วย
“สร้างห้องเรียนประชาธิปไตย สร้างพลเมืองดีของสังคม”
ความเป็นประชาธิปไตยเกี่ยวข้องอย่างไรกับการสร้างพลเมืองดีในโรงเรียน คำถามที่ดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกันเสียทีเดียวแต่กลับมีความเกี่ยวข้องกันอย่างน่าสนใจ ห้องเรียนประชาธิปไตย... การสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้อย่างมีอิสระบนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกันร่วมกันในห้องเรียน...เปรียบห้องเรียนเสมือนพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดรูปแบบ เปิดกว้างต่อความแตกต่าง และเปิดรับต่อการมีส่วนร่วมที่หลากหลายของนักเรียน
จากงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาการบริหารระบบการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย” พบผลการศึกษาว่าการสร้างเยาวชนหรือนักเรียนในโรงเรียนให้มีลักษณะของความเป็นพลเมืองดีได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ควรเริ่มต้นจากบทบาทครู และห้องเรียน รวมทั้งวิธีการอบรมสั่งสอนของครูที่มีต่อนักเรียนหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นวิธีการทางตรงหรือการสร้างอิทธิพลทางอ้อมก็ตาม การนำแนวทางประชาธิปไตยมาประยุกต์ใช้กับรูปแบบการอบรมนั้นก็เพื่อปรับเปลี่ยน และสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง เปิดโอกาสให้นักเรียนและครูได้เรียนรู้ที่จะรับฟังซึ่งเหตุผลและความคิดเห็นที่หลากหลายในประเด็นต่างๆ ที่ตนเองมีส่วนเกี่ยวข้อง อีกทั้งตระหนักถึงบทบาทและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขพัฒนาปัญหาที่เขาได้พบเจอมากยิ่งขึ้น ซึ่งการเรียนรู้ และการตระหนักถึงบทบาทของตนเองนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากปราศจากครู และบรรยากาศห้องเรียนที่เปิดกว้าง พื้นที่ที่รับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันอย่างเคารพและเปิด
“เด็กทุกคนเป็นพลเมืองดีได้”
บทบาทครอบครัว โรงเรียนและครูล้วนต่างมีส่วนในการอบรมสั่งสอน ชี้แนะแนวทางที่เหมาะสมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ด้วยความเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนสามารถเป็นคนดีได้ เป้าหมายของการอบรมสั่งสอนจึงไม่เพียงแต่มุ่งหวังให้นักเรียนมีความรู้ แต่ยังมุ่งหวังให้นักเรียนเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมอีกด้วย ไม่ว่าจะครูผู้สอนจะใช้รูปแบบการเรียนการสอน และวิธีการอบรมบ่มเพาะเช่นไร ห้องเรียนประชาธิปไตยสามารถนำไปประยุกต์เข้ากับการจัดการเรียนรู้จึงเป็นอีกทางเลือกสำคัญในการปรับหรือดัดแปลงกระบวนการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ๆ อีกทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้อแก่การบ่มเพาะนักเรียนสู่การเป็นพลเมืองดี โดยเริ่มต้นจากห้องเรียนเล็กๆ ที่ครูและนักเรียนร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น
ในปัจจุบันโรงเรียนมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการสร้าง และบ่มเพาะพลเมืองดีสู่สังคม เมื่อนักเรียนเข้ามาในโรงเรียน ก็เปรียบเสมือนนักเรียนได้เรียนรู้การปรับตัว และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมที่กว้างกว่าครอบครัวของตน สิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้ และซึมซับจากสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต ดังนั้น บทบาทของครูและโรงเรียนจึงมีส่วนสำคัญในการจัดบรรยากาศของโรงเรียน ห้องเรียน รวมทั้งรูปแบบการเรียนรู้ที่เอื้อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการสร้างนักเรียน และเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่ดี ผ่านกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย รับฟังและเคารพเสียงของทุกคนมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันบนพื้นฐานของความเคารพ และมีเหตุมีผล หากโรงเรียน ห้องเรียน และครูสามารถปลูกฝังสิ่งที่เป็นพื้นฐานของการเป็นพลเมืองดีเหล่านี้ให้แก่นักเรียนได้อย่างสม่ำเสมอแล้วนั้น เด็กนักเรียนและเยาวชนทุกคนจะมีรากฐานของการเป็นพลเมืองที่ดี และสามารถปรับตัวที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอันกว้างใหญ่ขึ้นได้อย่างแน่นอน
ที่มา
สมฤดี พละวุฑิโฒทัย. (2561). การพัฒนาการบริหารระบบการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย. วารสารการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 9(1)4-6.