Knowledge

เทคนิคเพื่อการสื่อสารทางไกล ที่มีประสิทธิภาพ

เทคนิคเพื่อการสื่อสารทางไกล ที่มีประสิทธิภาพ

 4 years ago 2843

แปลและเรียบเรียง: สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ
Content Developer, Cohort 2 Alumni Teach For Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          ในปัจจุบันการปฏิสัมพันธ์ส่วนมากของผู้คน ได้ย้ายจากการพบปะเจอหน้าในสถานที่แห่งเดียวกัน ไปสู่การพบเห็นหน้ากันผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องมือสื่อสารส่วนตัว แต่ระยะห่างที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้ความสำคัญในการสื่อสารนั้นมีน้ำหนักน้อยลง และแน่นอนว่าการเป็นคนที่สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านอุปกรณ์ของเรา จากกล้องนำไปสู่น้ำเสียง และภาพเคลื่อนไหวที่จะปรากฏต่อสายตาของผู้คนที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งจึงกลายเป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นสำหรับหลายคนในปัจจุบัน และวันนี้เราจะมาสำรวจองค์ประกอบต่างๆ ของทักษะดังกล่าว

- การใช้เวลาสักพักอยู่กับตัวเองก่อนที่จะกดเปิดกล้อง และปรากฏตัวในห้องประชุม หรือห้องเรียนออนไลน์ เพื่อสะท้อนความคิดว่าการก้าวเข้าไปในห้อง ๆ นั้น เราต้องการจะทำอะไรให้สำเร็จ เพราะอะไรมันถึงสำคัญกับผู้เข้าร่วม เพราะอะไรเราถึงได้ทุ่มเทเวลา และพลังงานส่วนหนึ่งให้กับสิ่งที่คุณกำลังจะเข้าไปสื่อสาร ซึ่งความชัดเจนในความคิดดังกล่าว จะช่วยให้ภาษากาย และสีหน้าของคุณมีความสอดคล้องกับเนื้อหาของสารที่คุณกำลังจะสื่อออกไป

- เลือกชุดแต่งกายให้เป็นมิตรกับผู้ใช้งานท่านอื่น โดยการหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่มีลายซับซ้อน และกระจุกตัวกัน เพราะกล้องจะประมวลผลลายดังกล่าวเป็นภาพที่ไม่นิ่ง และอาจรบกวนการรับสารของผู้ฟังได้ เสื้อผ้าสีเดียวเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการออกกล้องในบริบทดังกล่าว และสามารถใส่เสื้อผ้าที่มีความผ่อนคลาย เช่นเสื้อยืดได้ ตราบเท่าที่ชุดเสื้อผ้าดังกล่าวยังคงสอดคล้อง และสนับสนุนบทบาท และหน้าที่ของคุณ ณ ขณะนั้น

- รู้เท่าทันการเคลื่อนไหวของร่างกายตัวเอง แม้ว่าในหลายๆ ครั้งเราอาจไม่ได้มีเจตนา แต่ผู้รับสารอาจตีความการเคลื่อนไหวในบางลักษณะของร่างกายเรา โดยเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวเหล่านั้นไปกับความรู้สึกในเชิงลบได้ ดังนั้นจึงควรรู้เท่าทันร่างกายตัวเอง และหลีกเลี่ยงการกอดอกซึ่งอาจสื่อถึงการต่อต้าน การห่อตัวซึ่งอาจสื่อถึงความไม่มั่นใจ การถูมือเข้าด้วยกัน หรือเล่นกับเครื่องประดับที่สวมใส่อยู่ ซึ่งอาจะซ่อนถึงความรู้สึกประหม่า
          หลายคนอาจมีสไตล์ในการพูดที่เรามักจะขยับมือไปด้วย ซึ่งเราสามารถทำได้ ตราบเท่าที่เราไม่เคลื่อนไหวเร็วเกินไป และส่วนของร่างกายที่เราขยับไม่หลุดออกจากมุมกล้อง และจะเป็นคะแนนบวกถ้าเราผายมือ หรือเผยฝ่ามือเข้าหากล้อง ซึ่งส่งสารว่า “เราไม่ได้กำลังปิดบังอะไร” รวมทั้งถ้าเรารักษาแนวข้อศอกของเราให้ขนาดกับหัวไหล่อยู่เสมอจะช่วยจำกัดการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น และจะสื่อออกไปถึงความรู้สึกที่มั่นคงมากขึ้น

- ในช่วงเวลาที่อาจมีความกังวล หรือความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในระหว่างการพูดคุยกัน หนึ่งในสิ่งที่เราทำได้เพื่อดูแลสถานการณ์ดังกล่าวคือ การส่งสารว่าเรากำลังอยู่ตรงนั้นกับพวกเขาร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยในการสนทนาปกตินั้นเราจะเริ่มด้วยการสบตา แต่ในการสนทนาผ่านหน้าจอนั้น เรายังคงสามารถทำได้ด้วยการเตือนให้ตัวเองมองเข้าไปที่กล้องอย่างสม่ำเสมอ โน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย และพยักหน้าเบาๆ ตามจังหวะจบประโยคของผู้พูด เพื่อสื่อสารว่าเรากำลังรับฟังอยู่อย่างตั้งใจ

- เพราะการรับสารผ่านหน้าจอนั้นเป็นมิตรต่อการประมวลผลของสมองมนุษย์น้อยกว่าการสื่อสารแบบต่อหน้ากัน และเพื่อลดโอกาสในการสร้างความเหนื่อยล้าให้กับผู้รับสาร หนึ่งในสิ่งที่ผู้สื่อสารสามารถทำได้ คือการเว้นช่องว่างหลังจากจบแต่ละประโยคให้นานขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้ผู้รับสารได้มีเวลาประมวลผลอย่างเต็มที่ ก่อนที่เราจะสื่อสารต่อไป

          และหากเราจะกำลังต้องก้าวเข้าไปในหน้าจอของอีกฝั่งหนึ่งในบริบทใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์งาน การสอนออนไลน์ การจัดกิจกรรม การประชุม หรือการจัดงานสังสรรค์ หนึ่งในสิ่งที่เราสามารถทำได้คือการเตรียมพร้อมที่จะก้าวเข้าไปพร้อมกับคุณค่าที่เราเชื่อถือ และตัวตนที่ดีที่สุด และจริงแท้ที่สุดในแบบของเราเอง ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เราสามารถสื่อสารได้อย่างมั่นใจ และมีประสิทธิภาพ คือการรู้จัก และเชื่อในคุณค่าของตัวเอง รับฟังความรู้สึกของเราเอง และตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ด้วยความเป็นมิตร และด้วยความรักในแบบที่เป็นธรรมชาติกับเรา

อ้างอิง
Body Language Hack to Project Leadership Presence on Zoom retrieved from https://www.forbes.com/sites/carolkinseygoman/2020/05/03/body-language-hacks-to-project-leadership-presence-on-zoom/#4a438a0d4833, 08/05/2020


TAG: #ทักษะในศควรรษที่21 #ทักษะการสื่อสาร #ทักษะเพื่อการสื่อสารทางไกล