Knowledge
เวลากับหน้าจอ และทักษะการเข้าสังคม
4 years ago 2237เขียนและเรียบเรียง: สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ Content Developer Cohort 2 Alumni Teach For Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
ถ้าเรามองย้อนกลับไปในบรรยากาศของยุคก่อนการเว้นระยะห่างทางสังคม คุณรู้สึกอย่างไรกับภาพของครอบครัวที่พาลูกไปทานข้าวนอกบ้าน และปล่อยลูกไว้กับหน้าจอโทรศัพท์ หรือแม้แต่ภาพที่ทุกคนในครอบครัวล้วนใช้เวลาอยู่เครื่องมือสื่อสารของตัวเองโดยไม่ได้มีการสนทนา หรือปฏิสัมพันธ์กับคนที่อยู่ตรงหน้า “ความเป็นห่วง” ต่อการเสื่อมถอยของทักษะการเข้าสังคม หรือความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อาจเป็นสิ่งที่วิ่งเข้ามาในใจเราเมื่อเห็นภาพดังกล่าว และยิ่งในช่วงเวลานี้ที่เด็กๆ ดูจะต้องใช้เวลากับหน้าจอมากขึ้น เราอาจเริ่มตั้งคำถามว่า เรากำลังจะเผชิญกับวิกฤตของเด็กๆ ที่จะโตมาโดยขาดทักษะการเข้าสังคมหรือเปล่า
และแม้ว่าจะมีงานวิจัยจากหลายแหล่งที่ชี้ว่าการใช้เวลากับกิจกรรมบางประเภทในหน้าจอนานเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ และอาจนำไปสู่โรคต่างๆ ได้ แต่งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ถูกตีพิมพ์ใน American Journal of Sociology เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ว่าด้วยคำถามที่ว่า “การสื่อสารแบบต่อหน้าของเด็กอเมริกันสมัยนี้กำลังเสื่อมถอยลงหรือไม่” โดยงานวิจัยชิ้นได้ติดตามกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือเด็ก ๆ จำนวนราว 19,000 คน ที่เริ่มเข้าเรียนชั้นอนุบาลในปี 1998 หรือ 6 ปีก่อนที่โลกใบนี้จะได้รู้จัก Facebook เทียบกับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนประมาณ 13,400 คนที่เริ่มเข้าเรียนชั้นอนุบาลในปี 2010 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปิดตัว iPad รุ่นแรก และเนื่องจากความท้าทายที่ว่าปัจจุบันยังไม่ได้มีแบบทดสอบ “ทักษะการเข้าสังคม” ที่สามารถชี้ขาดถึงผลลัพธ์ได้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ทำให้ทีมผู้วิจัยได้ทำการเลือกใช้แบบประเมินสำหรับครู และผู้ปกครอง เพื่อสังเกต และบันทึกพฤติกรรมของเด็กในกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่ม และนำผลที่ได้จากการประเมินมาเทียบกัน
ทีมผู้วิจัยพบว่า คุณครูและผู้ปกครองที่ได้รับมอบหมายให้ประเมินพฤติกรรมของเด็กๆ ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ไม่ได้ประเมินทักษะของเด็กกลุ่มที่เข้าเรียนชั้นอนุบาลในปี 2010 ว่าการมีปฏิสัมพันธ์ต่อคนตรงหน้าต่ำกว่าเด็กๆ อีกกลุ่มหนึ่ง และที่ยิ่งไปกว่านั้น การวิจัยเดียวกันยังพบว่าเด็กๆ กลุ่มที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเป็นระยะเวลานาน มีพัฒนาการของทักษะการเข้าสังคมที่อยู่ในระดับเดียวกันกับกลุ่มที่มักไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ ยกเว้นเฉพาะกลุ่มที่ใช้เวลาดังกล่าวไปกับการเล่น social media และเกมส์ออนไลน์วันละหลายๆ ครั้ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่งานวิจัยพบว่ามีทักษะการเข้าสังคมน้อยลงอย่างอย่างชัดเจน
ผู้วิจัยกล่าวสรุปในงานแถลงข่าวว่า “ในภาพรวมแล้ว เราเจอหลักฐานน้อยมากๆ ที่บ่งชี้ว่าการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอกำลังทำร้ายทักษะการเข้าสังคมของลูกหลานของพวกเรา อีกทั้งตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ผู้คนควรรู้จักการสื่อสารผ่านอีเมล์ และ social media ต่างๆ เช่นเดียวกันกับการสื่อสารเมื่อเรายืนอยู่ตรงหน้ากันและกัน ซึ่งในงานวิจัยนี้เราเพียงแค่สำรวจทักษะการเข้าสังคมแบบเจอกันต่อหน้าเท่านั้น และงานวิจัยในอนาคตควรจะต้องสำรวจถึงทักษะการเข้าสังคมผ่านช่องทางดิจิทัลด้วย”
และแม้ว่าจะยังไม่มีงานวิจัยในหัวข้อดังกล่าวที่ถูกทำขึ้นในบริบทของประเทศไทย แต่ก็งานวิจัยชิ้นนี้ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้ตั้งคำถามกับความเชื่อที่ว่า “การจ้องหน้าจอทุกชนิด” กำลังทำให้ทักษะการเข้าสังคมของเราลดลงว่าจริงเท็จแค่ไหน และหาวิธีการใช้เวลากับหน้าจอแบบไหนบ้างที่อาจช่วยให้บุตรหลานของเราเติบโตได้ ทั้งทางร่างกาย สุขภาวะ และทักษะการมีตัวตนอยู่เคียงข้างมนุษย์อีกคนหนึ่ง ไม่ว่ามนุษย์คนนั้นจะอยู่ข้าง ๆ เขาด้วยร่างกาย หรืออยู่ในรูปแบบของสัญญาณดิจิทัลก็ตาม
อ้างอิง
Escalante, D. (2020, April 16). Does Screen Time Actually Hurt Kids' Social Skills? Retrieved April 21, 2020, from https://www.psychologytoday.com/us/blog/shouldstorm/202004/does-screen-time-actually-hurt-kids-social-skills
American Journal of Sociology. (n.d.). Retrieved April 21, 2020, from https://www.journals.uchicago.edu/doi/full/10.1086/707985
Screen time and children's mental health: what does the evidence say? (2020, January 16). Retrieved April 21, 2020, from https://www.mentalhealth.org.uk/blog/screen-time-and-childrens-mental-health-what-does-evidence-say
แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพจิต
กรมสุขภาพจิต https://dmh.go.th/
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย https://www.thaipediatrics.org/
สมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย https://thaipsychological.com/
Rehab 4 Addiction https://www.rehab4addiction.co.uk
NHS - Every Mind Matters https://www.nhs.uk/every-mind-matters/