Knowledge

ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น การอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวสร้างรากฐานการศึกษาที่แข็งแรง

ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น การอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวสร้างรากฐานการศึกษาที่แข็งแรง

 4 years ago 6477

ผู้เขียน นางสาว กนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          เมื่อกล่าวถึงการศึกษาและศักยภาพของเยาวชนไทยในปัจจุบัน นอกจากการศึกษาจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนไทย ผลจากการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญและไม่สามารถมองมองข้ามในบทบาทของการสนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคในการพัฒนาศักยภาพทางการเรียนรู้และทัศนคติของเยาวชนได้ ดังนั้นหากจะกล่าวถึงปัญหาความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทยจึงไม่อาจพิจารณาได้จากประเด็นคุณภาพของการศึกษา หรือคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนของครูเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนสำคัญที่เป็นรากฐานของการรับรู้ตัวตน รับรู้ความสามารถ และมีความเชื่อมั่นในตนเองของเยาวชนซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ นั่นก็คือ บทบาทและความสำคัญของครอบครัว จากงานวิจัยของ กมลวรรณ คารมปราชญ์ คล้ายแก้ว ได้ทำการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของครอบครัวที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนของเยาวชนไทย พบว่า พฤติกรรมการเรียน ความรับผิดชอบและมีวินัยของนักเรียนนักศึกษา ล้วนมีสาเหตุปัจจัยสำคัญจากการถ่ายทอดทางสังคมซึ่งเป็นผลจากครอบครัว วิธีการอบรมเลี้ยงดูด้วยลักษณะของการให้ความรักและการสนับสนุน อบรมเลี้ยงดูบนฐานของความเป็นประชาธิปไตยและใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ รวมทั้งปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันอีกประเด็น คือ การเป็นแบบอย่างที่ดีของครอบครัว ซึ่งส่งผลต่อการแสดงออก วิธีคิดและพฤติกรรมที่เหมาะสมในสังคมของเยาวชนทั้งสิ้น

“การเลี้ยงดูไม่ใช่เลี้ยงแต่ตัว แต่ต้องเลี้ยงที่ใจไปพร้อมกัน”

          บทบาทของครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพและสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างมั่นใจ เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาเยาวชน บทบาทของครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดูจึงไม่ใช่แค่การอบรมเลี้ยงดูทางร่างกายและวัตถุภายนอกหากแต่เป็นการอบรมเลี้ยงดูทางจิตใจและทัศนคติของเยาวชนให้มีความเชื่อมั่นในตนเอง เชื่อในความสามารถและเหตุผลของความพยายามที่เป็นแรงผลักดันนำไปสู่การเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายและมีความฝันถึงความสำเร็จในอนาคต
          งานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องการอบรมเลี้ยงดูที่เหมาะสมซึ่งบทความชิ้นนี้นำเสนอ ลักษณะของการอบรมเลี้ยงดูที่ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยทางจิตวิทยาพฤติกรรมศาสตร์ เช่นงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร. ดวงเดือน พันธุมนาวิน ได้เสนอว่าการอบรมเลี้ยงดูด้วยความรักและสนับสนุนอย่างมีเหตุผล จะส่งเสริมให้เยาวชนมีพื้นฐานทางจิตใจที่เข้มแข็งจากภายใน มีแรงจูงใจและคาดหวังในอนาคตที่จะประสบผลสำเร็จ รวมทั้งมีความเชื่ออำนาจในตนเองเชื่อในผลของการลงมือกระทำสิ่งที่ดีที่เหมาะสม จะส่งผลให้มีความพร้อมต่อการพัฒนาศักยภาพตนเองในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น

ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น การอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวสร้างรากฐานการศึกษาที่แข็งแรง

“การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน”

          เป็นการกระทำของบิดามารดา หรือผู้อบรมเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งคุณครูเองก็สามารถนำหลักการนี้ไปใช้ได้เช่นกัน อันหมายถึงการแสดงออกถึงความรักความใส่ใจ ความห่วงใย ความอ่อนโยน ความใกล้ชิดสนิทสนม ให้คำปรึกษา และการสนับสนุนสิ่งที่เหมาะสมให้แก่เด็ก รวมทั้งการใช้เวลาร่วมกัน การแสดงออกถึง ความรักความใส่ใจและความเข้าใจซึ่งกันและกันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เด็กรู้สึกยินดีและพึงพอใจที่จะเปิดใจเรียนรู้สิ่งดีๆ เนื่องจากเด็กรับรู้ถึงความรักความหวังดีที่มอบให้ กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนจึงเป็นการอบรมเลี้ยงดูที่ยึดโยงสายสัมพันธ์ทางใจเป็นสิ่งสำคัญ

“การอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผล”

          แล้วอะไรคือการใช้เหตุผลที่เหมาะสม การแสดงออกทั้งกายและวาจา เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และรับทราบถึงสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำอย่างมีเหตุและผลในการกระทำเหล่านั้น หมายรวมถึง การให้รางวัลและการลงโทษบนพื้นฐานของความมีเหตุและผล เนื่องจากบางครั้งท่าทีการแสดงออกของคนในครอบครัวก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอารมณ์ส่วนตัว อารมณ์ไม่คงที่จากเหตุการณ์ที่พบเจอ นำมาซึ่งการขาดสติยั้งคิดไม่สามารถแยกแยะการกระทำที่เหมาะสมในการแสดงออกต่อเด็กได้ชั่วขณะ เด็กจึงกลายเป็นที่รองรับอารมณ์ของผู้เลี้ยงดูโดยไม่เข้าใจสาเหตุ ก่อให้เกิดความไม่พอใจ นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้ง ทำให้เด็กเปรียบบิดามารดาผู้เลี้ยงดู หรือครูกลายเป็นศัตรูและพยายามหลีกหนีเอาตัวออกห่างในท้ายที่สุด

ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น การอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวสร้างรากฐานการศึกษาที่แข็งแรง

“การเป็นแบบอย่างที่ดี”

          ตัวอย่างเช่น ครอบครัวที่พร่ำสอนลูกว่าไม่ควรพูดคำหยาบ แต่ผู้สอนกลับใช้คำหยาบเสียเอง เด็กก็จะไม่เห็นว่าคำหยาบเป็นสิ่งที่ผิดแปลก หรือไม่รู้ว่าคำหยาบสมควรใช้หรือไม่ในการเข้าสังคม เป็นต้น แบบอย่างที่ดีจากการลงมือกระทำ เป็นสิ่งที่เด็กและเยาวชนจะเรียนรู้และจดจำการกระทำหรือแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมจากผู้ใกล้ชิด เป็นปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เด็กเกิดการซึมซับ โดยอาจจะไม่ต้องมีการพร่ำสอน การเป็นตัวอย่างที่ดีจะทำให้เด็กเรียนรู้การปฏิบัติตนที่เหมาะสม และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมโดยไม่แปลกแยก มีความประพฤติที่ดีไม่ก่อความเดือดร้อน รวมทั้งไม่มีทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น

“ในความเป็นจริงไม่ใช่เด็กทุกคนจะแข็งแกร่งผ่านคำดูถูกเสมอไป”

          จากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ผ่านการสัมภาษณ์คุณครูในโรงเรียนหลายท่าน ทำให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับปัญหาของการศึกษาและพฤติกรรมการเรียนที่ไม่เหมาะสมของเด็กนักเรียนบางส่วนอันเกิดจากอิทธิพลของการเรียนรู้จากพ่อแม่และครอบครัวอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการเรียนรู้และความประพฤติของเด็ก รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของครูอีกด้วย เช่น การใช้คำพูดดูถูกศักยภาพของเด็กว่าไม่สามารถพัฒนาตัวเอง หรือสามารถจะมีอนาคตที่ดีได้ การมองศักยภาพของเด็กว่าไม่สามารถพัฒนาได้ ส่งผลต่อมุมมองการใช้ชีวิตของเด็กอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่เด็กทุกคนจะเกิดแรงจูงใจและมีกำลังใจจากคำดูถูกเหยียดหยามเสมอไป นอกจากนั้น การใช้อารมณ์และกำลังในการแก้ไขปัญหา ทำให้เด็กคุ้นชินวิธีการดังกล่าวและนำไปปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างขาดวิจารณญาณ และกลายเป็นปัญหาด้านพฤติกรรมความรุนแรงต่่อตนเองและผู้อื่นตามมา ในทางกลับกัน การอบรมเลี้ยงดูที่มีลักษณะของการใช้ความรักและเงินทองมากเกินไป แต่ไร้ซึ่งการใช้เวลาเพื่ออบรมดูแลเด็ก ทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง เพราะการมีพร้อมทุกอย่างอาจทำให้เด็กขาดแรงจูงใจในการเรียนและพัฒนาตนเองเช่นกัน
          “เมื่อมุมมองที่ได้รับการปลูกฝังมาจากครอบครัวที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน เมื่อเข้ามาอยู่ร่วมกันในโรงเรียนก็ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนรู้และการดูแลพฤติกรรมนักเรียนของครูเป็นไปอย่างยากลำบาก ยิ่งไปกว่านั้นหากครอบครัวและผู้ปกครองของเด็กไม่ให้ความร่วมมือในการดูแลปรับพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงของบุตรหลาน โดยเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนควรเป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องจัดการแล้วนั้น ยิ่งเป็นการเพิกเฉยต่อบทบาทและหน้าที่สำคัญของครอบครัวไปโดยปริยาย”

ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น การอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวสร้างรากฐานการศึกษาที่แข็งแรง

“ความร่วมมือระหว่างครอบครัวและโรงเรียน จะทำได้อย่างไร”

          การสนับสนุนบทบาทครอบครัวและผู้ปกครองในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา หรือให้การส่งเสริมเยาวชนในแนวทางเดียวกันกับครู การสื่อสารที่ผลักดันแนวทางการดำเนินการอบรมเลี้ยงดูเด็กเยาวชนอย่างมีคุณภาพระหว่างครูและผู้ปกครองจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และควรสร้างความเข้าใจที่ตรงกันตั้งแต่แรกเริ่ม เช่น การทำข้อตกลงที่ชัดเจนในบทบาทของผู้ปกครองที่จะต้องให้ความร่วมมือกับโรงเรียนในการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลาน มีการเข้าอบรมเรื่องวิธีการอบรมที่เหมาะสม เฝ้าติดตามและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อหาทางช่วยเหลือแก้ปัญหาและการขัดเกลาพฤติกรรมทางสังคมของของบุตรหลานร่วมกับคุณครูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการอบรมเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม อีกทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างครอบครัวและโรงเรียน มีการผลักดันแนวทางดังกล่าวให้เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาจัดตั้ง Head Start Project ในปี ค.ศ. 1965 โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลว่าเป็นโครงการระดับชาติที่ประสบความสำเร็จซึ่งมีการก่อตั้งและดำเนินโครงการมานานกว่า 50 ปี ทำการศึกษาวิจัยและให้การส่งเสริมพัฒนาการทางด้านวิชาการและสุขภาพทางจิตใจของเด็กที่มาจากครอบครัวฐานะยากจน อายุตั้งแต่ 3-5 ขวบ โดยจะมุ่งเน้นการเรียนรู้ด้านวิชาการ ควบคู่ปัจจัยของครอบครัวซึ่งส่งผลต่อการพัฒนามุมมองและศักยภาพของเด็กให้ยั่งยืนต่อไปได้ หลังจากที่เด็กจบออกจากโครงการแล้ว ซึ่งได้มีการจัดอบรมแนวทางและวิธีการเลี้ยงดูบุตรหลานที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังทำการฝึกอาชีพเพื่อที่ผู้ปกครองจะสร้างงานที่มั่นคงและสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้การดำเนินการทั้งหมดจะอาศัยบทบาทของคุณครูในการประสานและขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองให้เกิดขึ้น การเรียนการสอนที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับการพัฒนามุมมองและทัศนคติของผู้ปกครองในการส่งเสริมเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพ ผลการประเมินโครงการ Head Start Project ตลอดหลาย 10 ปีก็พบว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง โดยผลการวิจัยพบว่าเด็กและผู้ปกครองที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี มีพัฒนาการด้านวิชาการและพฤติกรรมโดยเฉลี่ยที่ดียิ่งขึ้น เด็กเมื่อเติบโตขึ้นสามารถเข้าศึกษาในระดับชั้นมหาวิทยาลัยรวมทั้งมีการประกอบอาชีพที่ดีและมั่นคงมากกว่าพ่อแม่ของตน
          จากผลการดำเนินการของโครงการยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า บทบาทการอบรมเลี้ยงดูและการถ่ายทอดทางสังคมจากครอบครัวก็เป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน ในการจะพัฒนาส่งเสริมวิชาการหรือการศึกษาให้มีคุณภาพ รวมทั้งศักยภาพในตัวเด็ก จากผลการศึกษางานวิจัยและตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จข้างต้น แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งของครอบครัว รวมทั้งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของเด็กและเยาวชนมากที่สุด หากเราต้องการจะพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น เราควรพัฒนาทั้งทักษะความรู้ควบคู่ทัศนคติและจิตใจที่ใฝ่ดี ผ่านการส่งเสริมและพัฒนาสภาพแวดล้อมที่สำคัญของเด็กอย่างเช่น ครอบครัว ควบคู่กันไปด้วย

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
กมลวรรณ คารมปราชญ์ คล้ายแก้ว. (2557). ปัจจัยทางด้านสถานการณ์ในครอบครัว สถาบันการศึกษา และจิตลักษณะที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมจริยธรรมในการเรียนของนิสิตระดับปริญญาตรี. วารสารพฤติกรรมศาสตร์เพื่อการ
พัฒนา ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2544) ทฤษฎีต้นไม้จริยธรรม การวิจัยและการพัฒนาบุคลากร ตาราข้ันสูงทาง สังคมพฤติกรรมศาสตร์. คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


TAG: #จิตวิทยา #ครอบครัว